สตาร์ทอัพที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ร้านอาหาร ยังคงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง เพราะอุตสาหกรรมอาหารเป็นตลาดที่กว้างและปัญหาที่รอให้แก้ยังคงมีอีกมาก บริการที่ช่วยลดเวลาอย่างการจองร้าน เดลิเวอรี่ เข้าคิว ได้รับความนิยมและตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
การนำเทคโนโลยีมาให้บริการลูกค้าของแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ ที่เห็นได้ชัดและได้รับความนิยม จะเป็นเรื่องการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย แต่เพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทำให้เหล่าสตาร์ทอัพต้องเข้ามาเป็นตัวกลาง
ตัวกลางระหว่างร้านอาหารและผู้บริโภคตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคโมบายล์
นวัตกรรมเหล่านี้สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยความสามารถในการเป็นตัวกลางระหว่างร้านอาหารและผู้บริโภค โดยการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จผ่านทางสมาร์ทโฟน ซึ่งไม่ต้องใช้การพูดคุย หรือเดินทาง ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจและนิยมใช้บริการเหล่านี้
ซึ่งในประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่กว้างมาก ไม่เพียงแต่สตาร์ทอัพในประเทศไทยต้องการเข้ามา แต่ต่างชาติเองก็มองจุดนี้และให้ความสนใจ โดยการให้บริการของแต่ละกลุ่มก็จะแตกต่างกันออกไป ตัวลูกค้าก็เปิดรับในเรื่องนี้มาก โดยบริการไหนที่จะทำให้การดำเนินชีวิตง่ายขึ้นและเกิดประโยชน์จริง ก็จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
ทางภาคธุรกิจร้านอาหารเอง ก็มีการเปิดรับเทคโนโลยีทุกแบบที่จะส่งเสริมให้ทางแบรนด์ดูไฮเทคขึ้น เพราะอย่างไรคนก็ยังคงต้องใช้บริการร้านอาหาร การที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์ที่แก้เองไม่ได้ อย่างการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึงหรืออะไรก็ตาม จะทำให้ลูกค้าได้รับการสื่อสารมากขึ้น มีความประทับใจมากขึ้น แต่แน่นอนว่า โซลูชั่นเหล่านั้นต้องมีประสิทธิภาพที่แท้จริง ถึงจะอยู่ในวงการต่อไปได้ เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนไทย ถ้าแอพฯ ไหนไม่มีประโยชน์ผู้ใช้งานก็จะลบทิ้ง
ลดเวลารอคิวหน้าร้านอาหารด้วยบริการผ่านแอพฯ
ปัจจุบัน การให้บริการสตาร์ทอัพร้านอาหารมีเพิ่มมากขึ้นและให้บริการครอบคลุม ซึ่งผู้ใช้งานให้การตอบรับกับบริการเหล่านี้ เพราะสามารถลดระยะเวลา และตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโมบายล์ ได้เป็นอย่างดี
ในกลุ่มต่างๆ ที่มีให้บริการในประเทศไทย ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น กลุ่มของบริการเข้าคิวในประเทศไทย มีผู้เล่นที่น้อยที่สุด เพียงแค่ 1-2 ราย ซึ่งหลายคนยังคงติดกับการใช้การเข้าคิวแบบเดิมๆ แต่เทคโนโลยีก็เข้ามามีส่วนช่วยตรงนี้ด้วยการจองคิวที่สามารถจองได้โดยที่ไม่ต้องไปถึงหน้าร้าน
รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายเอ็มเอ็มวาย จำกัด กล่าวว่า แอพฯ QueQ เป็นบริการจองคิวผ่าน แอพพลิเคชั่น โดยผู้ใช้งานสามารถจองคิวได้ในระยะ 2 กิโลเมตรจากร้าน โดยไม่ต้องไปยังหน้าร้านเพื่อยืนรอ จากนั้นระบบจะมีการแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงคิวเพื่อให้มีเวลาเดินไปยังหน้าร้านและเข้าใช้บริการได้
“ที่เราต้องกำหนดระยะทางในการจองคิว เพราะ QueQ ไม่ใช่บริการเพื่อจองร้านอาหาร แต่เป็นการเข้าคิวแบบเฉพาะหน้า เมื่อเดินทางมาถึงหรือใกล้ถึงแล้วจึงจะสามารถต่อคิวได้ ดังนั้น ระยะทางที่เกิน 2 กม. อาจจะทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถมาใช้บริการได้ทันคิวที่ได้จองไว้ ซึ่งตรงนี้ก็ช่วยลดเวลาในการยืนรอ และลดความกดดันของพนักงาน เพราะหลายร้านที่มีคิวยาวก็จะส่งผลถึงอารมณ์ลูกค้า รวมถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์”
ทางบริษัทเริ่มต้นจากการเป็นซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ซึ่งต่างจากสตาร์ทอัพอื่นๆ คือ ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในวงการต่างๆ โดยตรง แต่ใช้ปัญหาที่ได้ประสบด้วยตัวเอง อย่างการเข้าคิวธนาคารในช่วงวันสิ้นปี ซึ่งหลายๆ คนคงทราบว่า คนแน่นจนล้นธนาคาร เราเลยจับตรงนี้มาเพื่อพัฒนาโซลูชั่น ให้คนไม่ต้องไปต่อคิวหน้าร้านอีกต่อไปซึ่งเวลาที่เหลือก็สามารถนำไปทำอย่างอื่นต่อได้ด้วย
การเข้าคิวสามารถเกิดได้ทุกๆ อุตสาหกรรม เมื่อการแก้ไขปัญหาคิวหน้าร้านอาหารเริ่มต้นได้เป็นอย่างดีแล้ว ในอนาคต QueQ วางแผนจะจัดการกับคิว Take Away ที่ลูกค้าต้องการสั่งกลับบ้านให้สะดวกขึ้น
ถึงแม้ปัญหาจะไม่ได้เกิดขึ้นกับคิวร้านอาหาร แต่ด้วยความที่ต้องการเติบโตแบบสตาร์ทอัพ ทำให้เลือกธุรกิจที่มีผู้ใช้บริการเยอะ และต่อเนื่อง ทำให้ QueQ เลือกจับตลาด Chain Restaurant โดยปัจจุบันมีร้านอาหารอยู่บนแพลตฟอร์มแล้วเกือบ 100 ร้านค้า มีผู้ใช้งาน 350,000 คน ซึ่งเติบโตมากกว่าปีที่แล้วถึง 10 เท่า
ขยายบริการเข้าคิวสู่ธุรกิจอื่นตามวิถีสตาร์ทอัพที่ย่อมมีคู่แข่ง
ทั้งนี้ การเข้าคิวสามารถเกิดได้ทุกๆ อุตสาหกรรม เมื่อการแก้ไขปัญหาคิวหน้าร้านอาหารเริ่มต้นได้เป็นอย่างดีแล้ว ในอนาคต QueQ วางแผนจะจัดการกับคิว Take Away ที่ลูกค้าต้องการสั่งกลับบ้านให้สะดวกขึ้น รวมถึงอาจจะมีคูปอง หรือส่วนลด ที่สามารถซื้อได้ผ่านแอพฯ อีกด้วย แต่ผู้เล่นด้านคูปองในตลาดก็ยังคงมีเจ้าหลักๆ อยู่ จึงต้องใช้บริการที่แตกต่างออกไป
![]() |
ฉบับที่ 216 เดือนธันวาคม ใช้ App ช่วยสังคม ลดช่องว่างคนที่ลำบาก |
“นอกจากเราจะขยายไปยังบริการอื่นๆ ด้านอาหารแล้ว ตอนนี้ก็มีการทำบริการคิวให้กับธนาคาร และในเฟสต่อไปจะเข้าไปธุรกิจเทเลคอม ตามช้อปต่างๆ โรงพยาบาล และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งแน่นอนว่า การที่เราจะเข้าไปยังเส้นทางใหม่ๆ เหล่านี้ ผู้ให้บริการแบบเดิมก็เป็นคู่แข่งที่สำคัญ เมื่อเราเริ่มเข้าไปอยู่ในตลาดอื่นๆ เจ้าตลาดเดิมเขาก็จะพัฒนาประสิทธิภาพและหาความ สามารถใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันกับเราแน่นอน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของวงการที่ต้องมีการแข่งขันเกิดขึ้น”
เห็นได้ชัดว่า ทุกอุตสาหกรรมที่สตาร์ทอัพจะเข้าไปนั้น ย่อมมีเจ้าตลาดเดิมอยู่แล้ว และผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต้องการเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด แต่ธุรกิจอย่างไลฟ์สไตล์หรือแม้กระทั่งร้านอาหารเองก็ตาม ผู้ใช้งานมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทำให้สตาร์ทอัพหลายรายต้องยอมพ่ายแพ้และเดินออกจากธุรกิจดังกล่าวภายในเวลาอันสั้น เพราะศึกษาข้อมูลทางการตลาดไม่ดีพอ หรือไม่มีทุนเพียงพอที่จะหมุนเงินให้ธุรกิจอยู่ในระบบต่อไปได้
ดังนั้น ปัจจัยที่จะช่วยสร้างความสำเร็จ จึงเป็นเรื่องของการศึกษาข้อมูลทางการตลาดเชิงลึก การเลือกจังหวะเวลาในการเปิดตัวสินค้า มีแหล่งเงินทุนที่จะคอยขับเคลื่อน และมีความสามารถของผลิตภัณฑ์ที่จะครองใจผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง