ระวัง ! mobile malware ( ไวรัสในมือถือที่มุ่งขโมยข้อมูลหรือสินทรัพย์ต่างๆ ) ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปี 2021 ที่ผ่านมา โดยมีความพยายามโจมตีมือถือในไทยมากถึง 66,586 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าปี 2020 ถึงกว่าเท่าตัว คือเพิ่ม 130.71%
ทั้งนี้ถ้าย้อนไปในปี 2019 มีการบันทึกการตรวจจับโมบายมัลแวร์ 44,813 รายการ ในปี 2020 จำนวนการตรวจจับลดลงเหลือ 28,861 รายการ ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดใหญ่ถึงจุดสูงสุด จำนวนความพยายามโจมตีสูงสุดคือในปี 2021
ถ้าเทียบแล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียที่ติดอันดับสูงสุด 375,547 รายการ รองลงมาคือมาเลเซียอันดับที่สอง ตามด้วยเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
ข้อมูลนี้สำรวจและเผยแพร่โดยบริษัท Kaspersky (แคสเปอร์สกี้) เจ้าของซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์รายใหญ่ ซึ่งได้เทียบว่าตัวเลขของไทยและอาเซียนนั้นสวนทางต่างจากกระแสโลก ซึ่งอาชญากรรมไซเบอร์ลดลงอย่างมากตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ที่ผ่านมา
ในรายงาน Digital 2022 Global Overview Report นี้ยังเผยอีกว่าในประเทศไทยมีมือถือรวมแล้วถึงราว 95.6 ล้านเครื่อง คิดเป็น 136.5% ของประชากรในประเทศ คือมากกว่าจำนวนคนทั้งประเทศอีก
นอกจากนั้น ยังพบว่าไทยดาวน์โหลดแอพรวมกว่า 2,440 ล้านครั้งในปี 2021 เพิ่มขึ้น 14% จากปีที่แล้ว และใช้จ่ายเงินในแอพต่างๆรวมกว่า 1,090 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2020
Top 5 โมบายมัลแวร์ที่ตรวจพบในประเทศไทยปี 2021
1. Trojan
2. Trojan-Dropper
3. Trojan-Spy
4. Trojan-Downloader
5. Trojan-Proxy
Top 10 ประเทศที่ตรวจพบโมบายมัลแวร์สูงสุดในปี 2021
1. สหพันธรัฐรัสเซีย
2. ยูเครน
3. ตุรกี
4. อินโดนีเซีย
5. อินเดีย
6. เยอรมนี
7. แอลจีเรีย
8. คาซัคสถาน
9. สเปน
10. บราซิล
Top 10 ประเทศที่ตรวจพบโมบายแบงเกอร์สูงสุดในปี 2021
1. สหพันธรัฐรัสเซีย
2. ตุรกี
3. ญี่ปุ่น
4. เยอรมนี
5. สเปน
6. ยูเครน
7. อิตาลี
8. ฝรั่งเศส
9. สาธารณรัฐเกาหลี
10. ทาจิกิสถาน
ข้อควรระมัดระวัง
– ดาวน์โหลดแอพจากแหล่งที่เป็นทางการเท่านั้น แม้ว่าร้านค้าอย่างเป็นทางการจะไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยได้ 100% แต่ก็มีโปรแกรมที่เป็นอันตรายน้อยกว่ามากๆ และแม้ว่ามัลแวร์จะเล็ดลอดผ่านการคัดกรองได้ ก็มักจะถูกลบออกจากร้านค้าค่อนข้างเร็ว
– ใช้แอพจากนักพัฒนาที่เชื่อถือได้และมีชื่อเสียงที่ดีทุกครั้งที่เป็นไปได้ เพื่อลดโอกาสในการเจอมัลแวร์
– ไม่สนใจแอพที่รับรองว่าจะให้เงินที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือสัญญาว่าจะให้รางวัลที่มากมายเกินจริง เพราะดูเป็นกลโกงของมิจฉาชีพ
– อย่าให้สิทธิ์แอพทำงานที่ไม่จำเป็น มัลแวร์ส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่หากไม่มีการอนุญาตที่อาจเป็นอันตราย เช่น การเข้าถึงฟังก์ชั่น Accessibility การเข้าถึงข้อความ และการติดตั้งแอพที่ไม่รู้จัก
– ใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสบนอุปกรณ์โมบายที่เชื่อถือได้ ซึ่งสามารถตรวจจับและบล็อกมัลแวร์ที่พยายามจะเข้าไปในโทรศัพท์ได้
ข่าวจาก
moneyandbanking.co.th/article/news/kaspersky-mobile-malware-23062022