เหตุผลที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกออกกำลังกาย เพราะต้องการมีรูปร่างและสุขภาพที่ดี ขณะที่งานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยว่า การสวมใส่สปอร์ตแวร์ที่สวยงามมีส่วนช่วยกระตุ้นให้คนเราอยากออกกำลังกาย ด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงทำให้ ชลิตา หงสกุล, อรวัสสา ศยามเศรณี, นราวุฒิ ธัญนารา และศิรัส สมบัติศิริ ตัดสินใจทำธุรกิจสปอร์ตแวร์สำหรับผู้หญิงร่วมกัน ในชื่อ “Wakingbee”
ก่อนจะมาเป็น Wakingbee
ชลิตา หงสกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ Wakingbee เล่าถึงที่มาของธุรกิจสปอร์ตแวร์สำหรับผู้หญิง ซึ่งเธอได้จุดประกายความคิดขึ้นหลังจากเริ่มต้นออกกำลังกายแล้วพบว่า ในต่างประเทศ เทรนด์การสวมใส่สปอร์ตแวร์ในการใช้ชีวิตประจำวันนั้นกำลังเป็นที่นิยม แต่สำหรับเมืองไทยยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไร ประกอบกับสปอร์ตแวร์ผู้หญิงที่วางจำหน่ายในตลาดปัจจุบันยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ แม้ว่าเมืองไทยจะมีโรงงานผลิตสปอร์ตแวร์ให้กับแบรนด์ดังอยู่หลายแห่ง แต่กลับไม่มีแบรนด์ของคนไทยที่ได้รับความนิยมในตลาด และยังพบว่า อัตราการเติบโตของสินค้าสปอร์ตแวร์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มองเห็นถึงช่องทางทางธุรกิจที่น่าสนใจ
“งานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่จะรู้สึกกระตือรือร้นในการออกกำลังกายมากขึ้น เมื่อได้เสื้อผ้าสวยๆ สำหรับออกกำลังกาย แนวคิดนี้ได้กลายมาเป็นคอนเซ็ปต์ของการตั้งชื่อแบรนด์ Wakingbee ที่หมายถึง การปลุกความขยันในตัวคุณ โดยการเลือกใช้เสื้อผ้าที่เหมาะสม สวยงาม ทำให้เกิดพลังบวกในการออกกำลังกาย เพื่อสร้างความมั่นใจในรูปร่างจนนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี” ชลิตา กล่าว
สปอร์ตแวร์ที่ใส่ได้ในชีวิตประจำวัน
เมื่อหุ้นส่วนทั้ง 4 คนเห็นตรงกัน จึงได้เริ่มต้นวางแผนเรื่องของดีไซน์ในช่วงปลายปี 2557 จากนั้นก็เดินหน้าติดต่อกับโรงงานเพื่อทำการผลิต จนกระทั่งช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Wakingbee คอลเล็กชั่นแรกก็ได้ฤกษ์อวดโฉมบนตลาดสปอร์ตแวร์ โดยมีสินค้า ได้แก่ สปอร์ตบรา เสื้อเต็มตัว เสื้อคลุมทับ และกางเกงขาสั้น โดยเน้นจุดขายเรื่องของดีไซน์ และคุณภาพของสินค้า รวมไปถึงการมีแบบเสื้อผ้าที่หลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกสวมใส่ได้ทุกรูปร่างตามความมั่นใจ และนอกจากจะใส่สำหรับออกกำลังกายแล้ว ยังสามารถใส่ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ท่องเที่ยวได้อีกด้วย
![]() |
ฉบับที่ 200 เดือนสิงหาคมชำระเงินผ่านแอพฯ แชต รับตลาดโมบายล์ |
“จุดเด่นของสินค้า คือ ดีไซน์ที่สวยงาม เรามีการนำโทนสีพาสเทลเข้ามาใช้ ทำให้เป็นจุดที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ หลังจากออกคอลเล็กชั่นแรก ปรากฏว่าได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี สินค้าเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการให้ตนเองมีบุคลิกเป็นสปอร์ตเกิร์ลมากจนเกินไป จากการตอบรับนี้ แสดงให้เห็นว่า แผนธุรกิจที่ได้วางไว้เดินมาถูกทางแล้ว” อรวัสสา กล่าว
ตลาดออนไลน์ทางเลือกสำหรับแบรนด์ใหม่
ส่วนการทำการตลาดและช่องทางการจำหน่ายนั้น นราวุฒิ มองว่า ช่องทางการขายออนไลน์ มีส่วนช่วยในการลดต้นทุนสำหรับธุรกิจใหม่ เนื่องจากไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายหน้าร้าน ทั้งนี้ ยังได้เริ่มต้นโดยการจำหน่ายสินค้าบนเว็บไซต์ จากนั้นเริ่มกระจายสู่ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อให้ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งจะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในเวลารวดเร็ว
เราทำการตลาดบนอินสตาแกรม โดยใช้ Inf luencer หรือคนดังในโลกออนไลน์ ที่มีไลฟ์สไตล์ตรงกับแบรนด์ ในการช่วยโปรโมตและประชาสัมพันธ์ จนกลายเป็นคอมมิวนิตี้เล็กๆ ขึ้น ซึ่งตอนนี้มียอดฟอลโลว์บนอินสตาแกรมกว่า 7 พันคนในระยะเวลา 4 เดือน
“อินสตาแกรมเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคให้ความสนใจและเลือกซื้อสินค้า ทำให้มีร้านค้าเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งเราจึงทำการตลาดบนอินสตาแกรม โดยใช้ Influencer หรือคนดังในโลกออนไลน์ ที่มีไลฟ์สไตล์ตรงกับแบรนด์ ในการช่วยโปรโมตและประชาสัมพันธ์ จนกลายเป็นคอมมิวนิตี้เล็กๆ ขึ้น ซึ่งตอนนี้มียอดฟอลโล่บนอินสตาแกรมกว่า 7 พันคนในระยะเวลา 4 เดือน” อรวัสสา กล่าว
สิ่งที่ธุรกิจใหม่ต้องเจอ
ชลิตา เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ยากที่สุดคือ การไม่รู้ว่าสไตล์ไหนจะตอบโจทย์ทำให้คนสนใจ อีกทั้งปัญหาในส่วนของขั้นตอนการผลิต ที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการทดสอบคุณภาพของสินค้าในช่วงแรก เพื่อควบคุมคุณภาพการตัดเย็บให้ได้คุณภาพอย่างที่ต้องการ
นอกจากนี้ แผนธุรกิจที่วางไว้ว่า จะออกคอลเล็กชั่นปีละ 2 ครั้ง คือ Summer-Spring และ Autumn-Winter อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า เพราะหากสินค้าหมดแล้วไม่ผลิตเพิ่ม อาจทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจได้ ดังนั้น จึงวางแผนที่จะออกสินค้าเพิ่มเติมระหว่างคอลเล็กชั่นใหม่ โดยเป็นสินค้าในกลุ่มที่ขายดี อย่างสปอร์ตบรา และกางเกงขาสั้น และได้ศึกษาตลาดเพิ่มว่า ควรจะเพิ่มคุณสมบัติใดเข้าไปในเนื้อผ้า เพื่อสร้างความแตกต่างและน่าสนใจแก่ผู้บริโภค เช่น ป้องกันแบคทีเรีย ป้องกันยูวี เป็นต้น
สร้างความมั่นคงให้ธุรกิจ
แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงไม่นานที่ Wakingbee ได้เข้ามาในตลาดสปอร์ตแวร์ แต่สามารถมีฐานลูกค้าทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่ง 20 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ รวมทั้งยังได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้าในกลุ่มเอเชีย ที่ชื่นชอบและสนใจในสินค้า
นอกจากนี้ ในอนาคตได้มีการวางแผนที่จะขยายธุรกิจสู่ตลาดเอเชียอีกด้วย แม้ว่าจุดเริ่มต้นของธุรกิจจะมาจากความต้องการเล็กๆ ของคนออกกำลังกาย แต่ในยุคที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าคุณภาพดี มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว เชื่อว่าพวกเขาจะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในก้าวต่อๆไป