กิจการเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise จะเป็นกลไกสำคัญของการลงทุนอย่างยั่งยืน เพราะตอบโจทย์ ทั้งผลตอบแทนด้านการลงทุนและการแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม จึงเกิดมีโครงการต่างๆ มากมายเพื่อเชิญชวนภาคธุรกิจและภาคตลาดทุนเข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
กิจการ เพื่อสังคมมีโอกาสระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ดังเช่นกลุ่ม SE ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มีตลาดหลักทรัพย์เพื่อสังคม Impact Investment Exchange Asia (IIX) โดยมีภาคเอกชนประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ดำเนินการ
SE กลไกสำคัญของเศรษฐกิจยั่งยืน
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นกลับมีปัญหาสังคมตามมามากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ปัญหาสังคมจะแก้ได้ต้องมีคนที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลง
กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise :SE) ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนำหลักการทางธุรกิจมาใช้เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น กิจการเพื่อสังคมจึงต้องประกอบด้วย 3 P คือ People (คน) Planet (สิ่งแวดล้อม) และ Profit (กำไร) ซึ่งเป็นกำไรที่กลับคืนสู่สังคมและกำไรที่ช่วยให้กิจการเติบโตได้
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพัฒนาสังคมให้มีความมั่นคง สร้างความมั่งคั่งและเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจร่วมผลักดันให้กิจการเพื่อสังคมสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ดร.สถิตย์ กล่าว
เพิ่มความรู้ชี้ให้เห็นมูลค่าทางสังคม
ปีที่ผ่านมา ตลท. เน้นการให้ข้อมูลเรื่องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม คือสร้างความเข้าใจแก่บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนบุคคล เรื่องความสำคัญ และรูปแบบของการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปลงทุนในกิจการเพื่อสังคม ซึ่งเป็นรูปแบบใดขึ้นอยู่กับความพร้อมและนโยบายการลงทุนของแต่ละองค์กร
นอกจากนี้ มีการสนับสนุนตลาดทุนไทยให้ความสำคัญกับมูลค่าทางสังคมมากขึ้น โดยเน้น 2 ระดับคือ ระดับแรกเป็นการส่งเสริม บจ. ให้ก้าวเข้าสู่ดัชนีด้านความยั่งยืนของกิจการของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices:DJSI) และอีกระดับคือ การส่งเสริมให้ บจ.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ที่ยั่งยืน คือ องค์กรที่รับทุนนั้นสามารถนำเงินที่ได้รับไปต่อยอดขยายผล สร้างรายได้ไปพร้อมๆ กับการสร้างผลดีทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นแนวคิดของกิจการเพื่อสังคมที่มีแพร่หลายในต่างประเทศมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วทั้งในยุโรปและเอเชีย
![]() |
ฉบับที่ 198 เดือนมิถุนายนไอทีเชื่อมสู่ท้องถิ่นแบบ Social Enterprise |
จากความสำเร็จในต่างประเทศ ตลท. จึงต้องการผลักดันให้มีจำนวนมากขึ้นในประเทศไทย โดย บจ.อาจนำเงินไปลงทุนในกิจการเพื่อสังคมหรืออาจจะตั้งบริษัทลูกของตนเองทำกิจการเพื่อสังคมขึ้นมา รวมทั้งลงทุนผ่านกิจการร่วมทุนรูปแบบต่างๆ ซึ่งตอนนี้มี บลจ. สนใจตั้งกองทุนเพื่อสังคม โดยมีรูปแบบคือ แบ่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งมาลงทุนในกิจการเพื่อสังคมแล้ว
ช่วงที่ผ่านมาหลายองค์กรให้ความสำคัญและนำหลักปฏิบัติเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG (Environment Social Governance) เข้าไปในทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจและขณะเดียวกัน ตลท. ยังส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจที่สร้างประโยชน์แก่สังคม
ตอนนี้มีบริษัทจดทะเบียนไทย 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCG), บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ได้รับการยอมรับในระดับโลกในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งทั้ง 3 แห่งนี้ได้รับเลือกเข้าอยู่ใน Dow Jones Sustainability World Index ซึ่งเป็นดัชนีประเมินความยั่งยืนของธุรกิจที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก
ในระยะต่อๆ ไป เชื่อว่ากิจการเพื่อสังคมมีโอกาสระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ดังเช่นกลุ่ม SE ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์มีตลาดหลักทรัพย์เพื่อสังคม Impact Investment Exchange Asia (IIX) โดยมีภาคเอกชนประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ดำเนินการ นอกจากจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีจุดเด่นด้านสภาพคล่อง ความโปร่งใส และประสิทธิภาพแล้ว ยังเอื้ออำนวยให้กิจการเพื่อสังคมบรรลุพันธกิจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำให้ผู้ลงทุนที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าลงทุนในกิจการเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นด้วย
ขณะนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในหลายมิติด้วยกัน เช่น จับคู่กองทุนร่วมทุน หรือเวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ให้ได้พบกับกิจการเพื่อสังคม เพื่อมาร่วมลงทุนในกิจการที่นอกจากจะได้รับผลตอบแทนทางการเงินแล้ว ยังได้ผลประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น กองทุนรวมคนไทยใจดี ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด ร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทย และสถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน ที่มีผู้สนใจร่วมลงทุนแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น ได้มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่แบ่งงบประมาณมาลงทุนหรือสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น รวมถึงพยายามสร้างเกณฑ์มาตรฐานการลงทุนอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นด้วย
เปิดเวทีให้ SE เจอนักลงทุน
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตลาดนัดกิจการเพื่อสังคมขึ้นภายในงานมหกรรมการเงินครั้งที่ 15 Money Expo 2015 ซึ่งเป็นครั้งแรกกับการเปิดตัวต้นแบบกิจการเพื่อสังคม โดยมีธุรกิจ SE เข้าร่วมทั้งหมด 9 ราย ได้แก่ Local Alike, socialgiver, ๑4๑, +SHE, Bike Xenger, Green Growth, คนจับปลา FisherFolk และ Farmsook โดยมีการเปิดเวทีแนะนำต้นแบบของ SE ทั้ง 9 บริษัทได้พูดถึงธุรกิจของตนให้แก่ธุรกิจเอกชนและบุคคลทั่วไปได้รับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อยอดการสนับสนุน และเพื่อการนำไปพัฒนา SE ในรูปแบบของตัวเองต่อไป
สำหรับแต่ละธุรกิจที่นำมาเสนอจะมีความแตกต่างกันในแง่ของแนวคิด วัตถุประสงค์ และการดำเนินงาน เช่น ๑4๑ เกิดขึ้นเพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปท่ามกลางของเล่นที่ไม่เหมาะสม ผลิตภัณฑ์ ๑4๑ จะเป็นทางเลือกแห่งการให้ผ่านของเล่นไม้สร้างสรรค์ที่มุ่งส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้คงอยู่กับธรรมชาติและจินตนาการ เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ ๑4๑ หนึ่งชิ้นจะได้ของเล่นสำหรับน้องๆ ที่ด้อยโอกาสหนึ่งชิ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ๑4๑ (วันฟอร์วัน) หรือ 1 สำหรับ 1
Green Growth เกษตรอินทรีย์เพื่อวิถีชุมชน อำเภอทัพทัน จ.อุทัยธานี ที่มีเป้าหมายลดการใช้สารเคมี และขยายพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ในสังคมชนบท รักษา ปกป้องฐานความมั่งคงทางอาหาร และการแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงพลังผู้บริโภคในสังคมเมืองให้มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับความเป็นธรรมทางการค้าสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่สู่สังคม หรือคนจับปลา FishFolk ตลาดแฟร์เทรดที่เชื่อมโยงอาหารทะเลที่สะอาด ปลอดภัยจากการประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สู่ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับอาหารทะเลที่มีคุณภาพ สะอาดและปลอดภัยแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านและช่วยส่งเสริมการประมงที่ดีต่อท้องทะเลเกิดความยั่งยืนไปพร้อมกัน
“การเป็น Social Enterprise ต้องให้ผลกระทบที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับผลตอบแทนทางการเงิน ขณะเดียวกันต้องสร้างระบบนิเวศน์ที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั่วโลกได้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเจตนารมณ์ที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยลงทุนผ่านตลาดหุ้น กองทุนเพื่อสังคม พันธบัตรเพื่อสังคม งบประมาณ CSR อาจแบ่งให้ Social Enterprise การลงทุนโดยตรงในกิจกรรมเพื่อสังคม หรือประกาศจะซื้อสินค้าจากบริษัททำกิจการเพื่อสังคมที่มาเสนอขาย”