การกู้ยืมเงินแบบ P2P Lending นับเป็นทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยืม ที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งผู้กู้เงินและผู้ลงทุน ด้วยขั้นตอนที่ง่าย สะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถเสนออัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าให้กับผู้กู้เงินที่มีความน่าเชื่อถือได้ ด้วยความสามารถของระบบในการประเมินความเสี่ยงแบบธนาคาร
สตางค์ดี.คอม (Satangdee.Com) แพลตฟอร์มการกู้ยืมเงินออนไลน์แบบบุคคลต่อบุคคล ซึ่งเป็นการนำรูปแบบแพลตฟอร์มการกู้ยืมเงินแบบ P2P Lending ของ www.lendingclub.com จากสหรัฐ มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มของตนเอง เพื่อให้เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างคนไทยที่ต้องการลงทุน และต้องการกู้เงิน ให้มาพบกันผ่านระบบออนไลน์ โดยผู้ที่ต้องการเข้าสู่แพลตฟอร์ม จะต้องลงทะเบียนเพื่อกรอกข้อมูลรายละเอียดบนเว็บไซต์ของสตางค์ดี เพื่อให้ระบบทำการประเมินความน่าเชื่อถือ
แพลตฟอร์ม P2P รายแรกในไทยเชื่อมโยงผู้ลงทุน-ผู้กู้ยืม
อเล็กซ์ ลิเนนโก ประธานเจ้าหน้าบริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท SatangDee.Com กล่าวว่า เหตุที่เข้ามาทำตลาดการกู้ยืมเงินแบบ P2P Lending (Peer to Peer Lending) ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าไทยมีศักยภาพในด้านของขนาดตลาดค่อนข้างใหญ่ ประกอบกับยังไม่มีบริษัท Fintech ใดทำการตลาดส่วนนี้มาก่อน จึงเป็นโอกาสของสตางค์ดีในการเข้ามาเจาะตลาด ซึ่งในต่างประเทศพบว่า การกู้ยืมเงินแบบ P2P Lending ได้รับความนิยมมาก เช่น ในประเทศสหรัฐฯ จีน และสิงคโปร์ โดยเฉพาะในจีน ที่มีบริษัทให้บริการกู้ยืมเงินแบบ P2P ราวๆ 3,000 แพลตฟอร์ม
“การกู้ยืมเงินบนแพลตฟอร์มของสตางค์ดี แตกต่างจากสถาบันการเงินตรงที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของระบบอัตโนมัติ ช่วยแยกแยะความน่าเชื่อถือของผู้กู้เงินและผู้ลงทุน ซึ่งมีการวัดศักยภาพของผู้กู้เงิน โดยคำนวณจากฐานข้อมูลทั่วไปที่ทำการกรอกเข้ามาในระบบ เช่น อายุ เงินเดือน เพื่อชี้วัดว่าผู้กู้เงินมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ช่วยให้ผู้ลงทุนทำการวิเคราะห์ได้ว่าบุคคลนั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดในการชำระเงิน ทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจมากขึ้น นอกจากนี้ระบบจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยของผู้กู้แต่ละรายที่แตกต่างกันตามความของแต่ละบุคคล” อเล็กซ์ กล่าว
โซลูชั่นผู้กู้ระบุจำนวนเงินระยะเวลาชำระหนี้ได้ด้วยตัวเอง
พงศกร สุขเพ็ชร์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารงาน Satangdee.Com กล่าวว่า ผู้ที่ต้องการกู้เงิน จะต้องเป็นคนไทยที่มีอายุอย่างน้อย 21 ปี และจะต้องให้ข้อมูลพื้นฐาน อาทิ ข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน อาชีพ ช่องทางการติดต่อ ฐานเงินเดือน รวมถึงรายละเอียดเครดิตบูโร เป็นต้น พร้อมทั้งถ่ายรูปคู่กับบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน อีกทั้งต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน จำนวนเงินที่ต้องการ และระยะเวลาในการชำระหนี้ ซึ่งระบบจะกำหนดวงเงินไว้ตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท หลังจากกรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้ว ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ เพื่อวัดระดับความน่าเชื่อถือ จากนั้นจะแสดงค่าคำนวณที่ได้ให้กับนักลงทุน เพื่อพิจารณาอนุมัติเงินต่อไป
![]() |
ฉบับที่ 210 เดือนมิถุนายนFinTech 2.0 การเงินคลื่นลูกใหม่ |
ในเบื้องต้นระบบไม่ได้กำหนดวงเงินกู้จากฐานเงินเดือนของผู้กู้ ซึ่งผู้กู้สามารถระบุจำนวนเงินที่ต้องการได้ รวมถึงสามารถกำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทันทีที่ข้อมูลทั้งหมดส่งเข้ามา และนำไปแสดงต่อผู้ลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนสามารถดูข้อมูลบางส่วน เพื่อทำการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของบุคคลนั้นตามคะแนนประเมินที่ได้รับ ทำให้ผู้ลงทุนจะสามารถเลือกผู้กู้ยืมเองได้ โดยจะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่ผู้กู้ชำระเข้ามา ซึ่งทางสตางค์ดีจะพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่ 15 เปอร์เซ็นต์
รอผ่านกฎหมายและมาตรการเพื่อให้บริการถูกกฎหมาย
พงศกร กล่าวต่อว่า รายได้ของสตางค์ดีจะมาจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งอยู่ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ชำระหนี้เข้ามา โดยระบบจะคำนวณยอดชำระหนี้บวกกับค่าธรรมเนียมให้โดยอัตโนมัติ และหากพบว่า ผู้กู้ไม่ทำการชำระตามระยะเวลาที่กำหนด ทางสตางค์ดีจะดำเนินการส่งเรื่องต่อไปยังพาร์ตเนอร์เพื่อติดตามทวงหนี้
“หลังจากที่สตางค์ดีได้เปิดตัวแพลตฟอร์มในช่วงปลายเดือนกันยายน 2015 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สนใจเข้าสู่แพลตฟอร์มจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ในขณะนี้เว็บไซต์มีการเปิดให้ลงทะเบียน แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากติดในเรื่องของข้อกฎหมาย ที่ยังไม่มีการรับรองหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการร่างกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องในการให้บริการปล่อยกู้แบบ P2P แบบบุคคลต่อบุคคล เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการไปอย่างถูกต้อง” พงศกร กล่าว
ในต่างประเทศที่มีกฎหมายรองรับ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างการกู้ยืมเงินกับจำนวนประชากรในสหรัฐฯ แล้ว จะพบว่ามีตัวเลขอยู่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ต่อจำนวนประชากร
เชื่อแพลตฟอร์มช่วยลดความเสี่ยงการกู้ยืม วางอนาคตตรวจสอบความโปร่งใสผู้กู้
อเล็กซ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการเติบโตในอนาคต สตางค์ดีอาจไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ลงทุนและผู้กู้เงิน แต่จะช่วยตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสของผู้กู้ โดยอาจมีการร่วมมือกับธนาคารในการแชร์ข้อมูลบางส่วนระหว่างกัน เช่น บุคคลที่เคยผิดนัดชำระหนี้กับทางสตางค์ดี อาจมีการส่งข้อมูลต่อไปยังเครดิตบูโร
“การที่ปัจจุบันรัฐบาลและธนาคารเข้ามาสนับสนุนสตาร์ทอัพในวงการ Fintech มากขึ้น มองว่าส่วนหนึ่งเนื่องมาจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังร่างกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องในการให้บริการกู้ยืมเงินแบบ P2P แบบบุคคลต่อบุคคล เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะตามมาจากการกู้ยืมเงิน ซึ่งในต่างประเทศที่มีกฎหมายรองรับ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างการกู้ยืมเงินกับจำนวนประชากรในสหรัฐฯ แล้ว จะพบว่ามีตัวเลขอยู่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ต่อจำนวนประชากร ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการกู้ยืมเงินแบบบุคคลต่อบุคคลจะอยู่ที่ 1 ต่อ 10 ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก” อเล็กซ์ กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินการบนแพลตฟอร์มที่ถูกกฎหมาย จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนและผู้กู้เงิน อีกทั้งช่วยสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สตางค์ดีสามารถประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้ได้
อย่างไรก็ตาม พบว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียน อย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ได้มีการใช้งานแพลตฟอร์ม P2P เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงพม่า กัมพูชา และลาวที่ยังไม่มีการริเริ่มหรือสร้างบริการในลักษณะนี้
ที่มา : Techsauce