ด้วยเทคโนโลยีที่แพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น ในปี 2560 บริษัทในประเทศไทยจะใช้บิ๊กดาต้าเพื่อเข้าถึง และเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งการสร้างฐานลูกค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเดิม
ช่วงที่กำลังพูดถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะนำประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การมีข้อมูลมาวางอยู่ตรงหน้า ถ้าเราไม่มีกุญแจเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งกุญแจนั้นก็คือ 4 เทคโนโลยีหลัก เป็นตัวขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจต่างๆ ให้สามารถก้าวไปพร้อมกับแผนนโยบาย
การก้าวเข้าสู่ความท้าทายครั้งใหม่
จากรายงานของไอดีซีก่อนหน้านี้ระบุว่า ทิศทางการใช้จ่ายและลงทุนเทคโนโลยีในประเทศไทย จะเข้าสู่แพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยี ทั้งโมบายล์เทคโนโลยี (Mobile Technology) อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things) คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) และบิ๊กดาต้า (Big Data)
ผลกระทบของเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น จะช่วยเร่งการสร้างนวัตกรรมต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมการผลิต การใช้โดรนในการให้บริการส่งสินค้า การเกิดขึ้นของ IoT ทำให้เกิดการรับ-ส่งข้อมูลระหว่าง Machine-to-Machine และประยุกต์ใช้งานได้อีกหลายหลาย ทั้ง Smart City หรือ Smart Factory การใช้เครื่องพิมพ์ภาพ 3 มิติ ที่ช่วยพิมพ์งานต้นแบบสินค้า เสื้อผ้า หรือทำชิ้นส่วนอวัยวะเทียมของมนุษย์เพื่อใช้ในการแพทย์ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการสร้าง Cognitive Computing หรือระบบคอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์ ที่มีความสามารถในการสังเกตและเรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมกับคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สุดท้ายคือ ระบบ Security ที่รองรับแพลตฟอร์มยุคใหม่ เนื่องจากแบบเดิมไม่สามารถรองรับภัยคุกคามที่กว้างขวางและเปลี่ยนรูปแบบอยู่เสมอได้อีกต่อไป
เพิ่มโอกาสทางธุรกิจผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล
ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา BOT Symposium 2016 ที่จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าในเชิงของธุรกิจ การสร้างกำไรหรือการสร้าง Value เรื่องของข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ธนาคารจะนำบิ๊กดาต้ามาใช้ใน 3 เรื่องหลักๆ ประกอบด้วย 1. Marketing & Customer Engagement คือสามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้อยู่ตลอดเวลา ภายใต้ข้อมูลที่มีทั้งหมดเกี่ยวกับลูกค้า ซึ่งโดยปกติธนาคารมีข้อมูลมหาศาล เรื่องที่ 2. Risk Management & Decision ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ คือใช้ข้อมูลในการบริหารความเสี่ยงและการตัดสินใจต่างๆ ที่สำคัญทางธุรกิจ และสุดท้ายเรื่องที่ 3. Corporate Performance and Resource Allocation เกี่ยวกับการบริหารผลการดำเนินการของทางธนาคาร และการจัดสรรทรัพยากรลงไปในธุรกิจต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมและคุ้มค่า หรือทำให้เกิดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว
“คำว่า Cognitive ถูกนำมาใช้ใน Big Data ซึ่งทำให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ มากมาย ขณะที่ผ่านยุคอินเทอร์เน็ตมานั้น ก็เริ่มเข้าสู่ยุคที่มนุษย์ติดต่อเชื่อมโยงกัน จากนั้นก็เข้าสู่ความเป็นจริงมากขึ้นคือ โลกของเรียลไทม์ เห็นได้ว่า การใช้ดาต้าเริ่มมีบทบาทในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น จากปริมาณโฆษณาที่เข้าไปอยู่บน Facebook หรือ YouTube อย่างรวดเร็ว”
![]() |
ฉบับที่ 214 เดือนตุลาคมAI สำหรับแบรนด์ ผู้ช่วยในยุค IoT |
สำหรับวงจรของการทำ Cognitive Computing จะมีขั้นตอนอยู่ 4 อย่าง คือ 1. การเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่เข้ามาเพื่อทำให้เกิดการรับรู้ เช่น ในพันทิพมีการพูดถึงแบรนด์เป็นบวกหรือเป็นลบอย่างไรบ้าง 2. การนำเอาข้อมูลที่รวบรวมมาแล้วจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้สามารถหยิบข้อมูลไปใช้ได้อย่างสะดวก 3. การสร้างการเรียนรู้จากข้อมูลเหล่านั้น เพื่อที่จะสร้างความสามารถในการทำนายอนาคต หรือประมวลผลเพื่อสร้างการรับรู้ต่างๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะใช้ศาสตร์อื่นๆ เช่น AI หรือ Thai Natural Language Processing ที่กำลังได้รับความสำคัญอย่างมาก และ 4. เมื่อเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ มากขึ้นแล้ว จะ Engage ให้กับลูกค้าในลักษณะใด เช่น ระบบ Alert เตือนว่าลูกค้ามีเงินเหลืออยู่ประมาณเท่าไร ควรจะประหยัดหรือไม่ และถ้าจะประหยัดควรทำในลักษณะใด เป็นต้น
“เราให้ความสำคัญกับการใช้ดาต้า เพราะดาต้าจะกลายเป็นอาวุธสำคัญในการทำธุรกิจในอนาคต ธนาคารต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้มากขึ้น อย่างการใช้บริการ Uber สามารถจ่ายเงินออนไลน์ได้ นั่นทำให้บริการของธนาคารในส่วนนี้หายไป ซึ่งปัจจุบันบริการต่างๆ ใช้รูปแบบนี้มากขึ้น ต่อไปธนาคารจะอยู่ตรงไหน ดังนั้น ธนาคารจึงมีการลงทุนค่อนข้างมากในเรื่องเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้”
อุตสาหกรรม กำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ 3 หรือที่เรียกว่ายุค Cognitive Area ซึ่งคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจความต้องการของมนุษย์มากขึ้น และยังเข้าใจภาษามนุษย์ได้อีกด้วย
ระบบคอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์จะมีบทบาทสำคัญในอีก 2 ปี
พรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวในงานเสวนาว่า ยุคกำเนิดของเทคโนโลยีเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพีซี จากนั้นก็เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต หรือยุค Dot Com เห็นได้ว่า ในแต่ละยุคจะมีเทคโนโลยีเป็นตัวเปลี่ยนผ่าน และคอยขับเคลื่อนการคิดใหม่ ทำใหม่ ของการทำธุรกิจเสมอ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีไอเดียอย่างสตาร์ทอัพ ซึ่งทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ แม้แต่ปรากฏการณ์ Uberization ที่ทำให้เกิดการนำโมเดลของธุรกิจดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลาย
อุตสาหกรรมกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ 3 หรือที่เรียกว่ายุค Cognitive Area ซึ่งคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจความต้องการของมนุษย์มากขึ้น และยังเข้าใจภาษามนุษย์ได้อีกด้วย เช่น ระบบ IBM Watson ที่ถูกพัฒนามาช่วยวางแผนการรักษาในทางการแพทย์ และกำลังขยายเข้าไปในอีกหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาเป็นหุ่นยนต์เพื่อรับรองลูกค้าในโรงแรม การช่วยทนายความในการวิเคราะห์คดีความ หรือแม้กระทั่งการทำยอดขายของสินค้า เป็นต้น ซึ่งจากการคาดการณ์ของไอดีซีได้ระบุว่า ในปี 2018 ประชากรโลกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จะได้รับการบริการจาก Cognitive System
“ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารภาคธุรกิจต้องนำข้อมูลมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และต้องบริหารข้อมูลให้มีมูลค่า ส่วนการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จากผลการสำรวจพบว่า ลูกค้ายินดีให้ข้อมูลกับธนาคารมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ซึ่งการยอมให้ข้อมูลของลูกค้าขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในการป้องกันข้อมูล”