แอพฯ เทียบราคาสินค้า ผู้ช่วยนักช้อประดับ ASEAN

ไพรซ์ซ่า ดอทคอม เดินทางมาถึงปีที่ 5 ของสตาร์ทอัพรุ่นบุกเบิกรายแรกๆ ของเมืองไทย และในปีหน้าก็กำลังจะเข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพ Series A พร้อมเปิดตัวแอพฯ เวอร์ชั่นใหม่สำหรับนักช้อปฯ ตอบโจทย์ยุค Mobile First และออกแคมเปญให้คนรู้จักแบรนด์มากยิ่งขึ้น

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด

ไพรซ์ซ่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านค้าทำการตั้งราคาและนำเสนอโปรโมชั่นที่ดีให้กับผู้บริโภค เรากำลังสร้างระบบนิเวศที่ผู้ซื้อมีพลังของข้อมูลอยู่ในมือ

5 ปี แห่งความสำเร็จ
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด กล่าวว่า ไพรซ์ซ่า เป็นสตาร์ทอัพคนไทยรายแรกที่มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นร่วมลงทุนคือ Cyber Agent โดยได้เงินลงทุนจากญี่ปุ่นมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท เนื่องจากไพรซ์ซ่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการอัพเดตราคาสินค้าของเว็บไซต์ให้กับผู้บริโภคได้มีผู้ช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีราคาเหมาะสม

“ไพรซ์ซ่า จะช่วยผู้บริโภคหาดีลที่ดีที่สุดในการตัดสินใจซื้อสินค้าชิ้นหนึ่ง ซึ่งระบบจะทำการค้นหาราคาสินค้าจากร้านค้ากว่า 1,000 ร้านค้า 1 ล้านรายการ ตอนนี้มีผู้ใช้บริการมากกว่า 7 ล้านคนต่อเดือน เฉลี่ยประมาณ 2 แสนกว่าคนต่อวัน ในการเข้าเว็บไซต์”

ประเทศไทย เป็นตลาดหลักของไพรซ์ซ่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการประมาณ 4.5 ล้านคนต่อเดือน มีการซื้อ-ขายออนไลน์กว่า 75,000 รายการสั่งซื้อต่อเดือน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นยอดมูลค่าการซื้อ-ขาย ที่ไพรซ์ซ่าให้การสนับสนุนให้เกิดการซื้อ-ขายออนไลน์ สำหรับตลาดที่มีขนาดใหญ่รองลงมาคือ ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้เข้าใช้บริการกว่า 2 ล้านคนต่อเดือน

ไพรซ์ซ่า เปิดให้บริการ 6 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากเปิดบริการไพรซ์ซ่า ประเทศไทยในปี 2553 ต่อมาคือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ในปี 2556 และปีนี้ขยายไปอีก 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยตั้งเป้าเข้าถึงผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคนในภูมิภาค ซึ่งการเติบโตของไพรซ์ซ่าในประเทศไทยช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา สิ้นเดือนกันยายน มีการเติบโตสูงกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้บริการในไทย

ธนาวัฒน์ เผยว่า ตลาดในประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ที่เข้ามาใช้บริการ คิดเป็นผู้ชาย 48 เปอร์เซ็นต์ ผู้หญิง 52 เปอร์เซ็นต์ อายุอยู่ระหว่าง 18-34 ปี โดยสินค้าที่ผู้บริโภคผู้ชายมักจะค้นหาและเปรียบเทียบราคา ได้แก่ สินค้าไอที และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนผู้หญิงจะสนใจสินค้าประเภทแฟชั่นและความงาม ซึ่งมาจากการใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นหลัก

e204

ฉบับที่ 204 เดือนธันวาคม

ปรับร้านค้ายุคดิจิทัล รับเทรนด์ปี 59

สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง
ธนาวัฒน์ กล่าวว่า ปีนี้มุ่งสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ด้วยกลยุทธ์การใช้สื่อออนไลน์ โดยการสร้างการรับรู้ผ่านทางโฆษณาวิดีโอและแบนเนอร์บนเว็บไซต์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสามารถวัดผลได้ นอกเหนือจากการทำประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook

อย่างกลยุทธ์การตลาดใหม่ “อย่าใจร้อน ราคาดี เช็กได้ Priceza.com” ถึงแม้จะมีนักช้อปสินค้าออนไลน์เข้ามาใช้บริการของไพรซ์ซ่าสูงถึง 7 ล้านคนทั่วภูมิภาคนี้ แต่ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบริการของไพรซ์ซ่า โดยคิดว่าไพรซ์ซ่า เป็นเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ ดังนั้น จึงทำแคมเปญสื่อสารออกมาตอกย้ำภาพของแบรนด์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

จากการศึกษาตลาดของ Google กับนักช้อปออนไลน์คนไทย พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้าสำหรับการเปรียบเทียบราคาสินค้าและสเป็กมากที่สุด ส่วนไพรซ์ซ่าได้ทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย พบว่า คนไทยเลือกซื้อสินค้าที่ราคาสมเหตุสมผล และความน่าเชื่อถือของร้านค้าเป็นปัจจัยที่สำคัญอันดับต้นๆ ผลการศึกษาเหล่านี้ ทำให้เห็นว่า ความต้องการของลูกค้าคืออยากได้ตัวกลางที่รวบรวมร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และเจอสินค้าที่เขาต้องการในราคาที่สมเหตุสมผล

“ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป เราจะตอกย้ำแบรนด์ของไพรซ์ซ่าให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยมีพาร์ตเนอร์ที่น่าเชื่อถือกว่า 1,000 ร้านค้า มีสินค้ากว่า 5 ล้านรายการ ซึ่งจะคัดเลือกสินค้าต่างๆ ที่ผู้บริโภคอยากซื้อออนไลน์ ด้วยการพัฒนาระบบให้ช่วยเปรียบเทียบราคาได้ภายใน 1 คลิก”

พัฒนาแอพฯ ตอบยุคโมบายล์เฟิร์ส
ธนาวัฒน์ กล่าวต่อว่า ไพรซ์ซ่า มีการพัฒนาแอพฯ อย่างต่อเนื่อง จนมาถึงเวอร์ชั่นล่าสุดคือ 4.0 ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้รองรับการใช้งานทั้งไอโอเอสและแอนดรอยด์ โดยปัจจุบันมีคนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นไพรซ์ซ่ากว่า 1.5 แสนครั้ง

sp4-2

สำหรับฟังก์ชั่นบนแอพพลิเคชั่น ในหน้าแรกจะปรากฏการอัพเดตราคาสินค้า ดีลพิเศษที่ไม่ควรพลาด ซึ่งเมื่อคลิกเข้าไปสามารถสั่งให้เปรียบเทียบราคากับร้านค้าอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ ยังมีหมวดสินค้า Popular ซึ่งจะเป็นสินค้าโดดเด่นในเวลานั้น และอีกฟีเจอร์ที่พัฒนาเพื่อรองรับการใช้งานบนสมาร์โฟนคือ Scan Barcode เพื่อให้สามารถสแกนบาร์โค้ดบนสินค้าภายในห้างบิ๊กซี โลตัส ท้อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อเปรียบเทียบราคาได้ทันที ทั้งสองฟีเจอร์ใหม่นี้จะมีให้บริการเฉพาะบนแอพฯ เท่านั้น

จากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่นิยมใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร การค้นหาข้อมูล และการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น คาดว่าหลังจากเปิดตัวแอพฯ เวอร์ชั่นใหม่นี้ จะทำให้มีการเข้ามาดาวน์โหลดใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านดาวน์โหลด ในสิ้นปีนี้

เป้าหมายการดำเนินงานในปี 2559
ไพรซ์ซ่า ตั้งเป้าการเติบโตอย่างน้อย 100 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าการซื้อ-ขาย 1,000 ล้านบาทต่อเดือน มีผู้ใช้งาน 2.3 ล้านคนต่อเดือน และมีร้านค้ารวม 2,000 ร้าน โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้คือ จำนวนร้านค้า สินค้าต้องมีความหลากหลาย และต้องเป็นร้านที่เชื่อถือได้ ที่สำคัญจะต้องยังมีการอัพเดตข้อมูลสินค้าตลอด 24 ชั่วโมง ตอนนี้ไพรซ์ซ่าครองตลาดในไทยกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ จึงคิดว่าน่าจะถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก ในส่วนของการทำตลาดต่างประเทศมีการตั้งเป้าว่า ต้องเป็นอันดับ 1 ในทุกประเทศ และยังไม่มีแผนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ

ธนาวัฒน์ เผย บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนี ที่จะเข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัทฯ เพื่อระดมเงินมาลงทุนกิจการต่อเนื่องในต้นปีหน้า หากเจรจาสำเร็จจะทำให้บริษัทก้าวขึ้นสู่ระดับ Series A โดยตั้งสัดส่วนต่างชาติถือหุ้นบริษัทฯ ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีกองทุนจากญี่ปุ่นคือ ไซเบอร์ เอเย่นต์ เวนเจอร์ ถือหุ้นแล้ว 10 เปอร์เซ็นต์

การระดมทุนเพิ่มนั้น ส่วนหนึ่งมาจากต้องการใช้เงินในการลงทุนขยายกิจการ โดยเฉพาะเรื่องการตลาด และการสร้างแบรนด์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับกับการขยายธุรกิจที่คาดว่า แนวโน้มจากนี้ไปจะมีผู้ประกอบการที่เข้าสู่ตลาดเว็บไซต์เปรียบเทียบราคามากขึ้น จากปัจจุบันที่มีไม่กี่ราย โดยบริษัทฯ เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ประกอบการรายอื่นอีก 2-3 ราย ที่มีทั้งคนไทยและต่างชาติ

“อีก 5 ปีข้างหน้า เราจะเติบโตในแง่ของผู้ใช้บริการที่เข้ามาเว็บไซต์ประมาณ 500 ล้านคนต่อปี โดยผู้บริโภคจะใช้จ่ายทางช้อปปิ้งออนไลน์ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือเติบโต 10 เท่า ซึ่งผู้ใช้บริการคือ กลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงเองได้ และสิ่งที่จะดึงผู้ใช้เข้าถึงได้คือ สมาร์ทโฟน โดยไพรซ์ซ่าจะยังคงเป็นผู้ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลในเรื่องของการเลือกซื้อสินค้าได้ในราคาที่เหมาะสม และดีที่สุด”

ธนาวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปีหน้า เราต้องการเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคนี้ โดยเป้าหมายระยะยาวของ บริษัทฯ คือการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมภูมิภาคนี้ให้มากที่สุด จากปัจจุบันที่เปิดแล้วใน 6 ประเทศ สำหรับประเทศไทยได้เป็นผู้นำตลาดแล้ว ส่วนอินโดนีเซียมีผู้ใช้บริการแล้ว 2.3 ล้านคน มาเลเซียกับฟิลิปปินส์ ขณะนี้มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 1 แสนรายต่อเดือน ซึ่งตอนนี้ ติด Top 3 ในตลาดทั้ง 3 ประเทศแล้ว ส่วนอีก 2 ประเทศคือ สิงคโปร์และเวียดนาม เพิ่งเริ่มทำตลาด เฉลี่ยผู้ใช้บริการ 50,000 รายต่อเดือน

“บริษัทตั้งเป้าหมาย รวมมูลค่าการซื้อ-ขายผ่าน บริษัทฯ ภายในช่วง 5 ปีจากนี้ ในทุกประเทศจะเพิ่ม 10 เท่า หรือเป็น 5,000 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันมี 500 ล้านบาทต่อปี”

ปัจจุบัน ไพรซ์ซ่ามีรายได้ประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี จากการลงโฆษณา และเปอร์เซ็นต์บางส่วนจากการขายสินค้าได้ ซึ่งเติบโตจากปีที่แล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งสัดส่วนรายได้จากไทย 70 เปอร์เซ็นต์ และจากต่างประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าปีหน้า สัดส่วนรายได้จากไทยและต่างประเทศจะเท่ากัน

“ผมเชื่อว่าไพรซ์ซ่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านค้าทำการตั้งราคาและนำเสนอโปรโมชั่นที่ดีให้กับผู้บริโภค เรากำลังสร้างระบบนิเวศที่ผู้ซื้อมีพลังของข้อมูลอยู่ในมือ ไม่สามารถถูกผู้ขายเอาเปรียบได้ โดยไพรซ์ซ่าจะทำหน้าที่การันตีว่าจริงๆ แล้วโปรโมชั่นที่ผู้ขายแต่ละเจ้านำเสนอนั้นคุ้มค่าคุ้มราคาจริงไหม และเราจะยังคงมุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศนี้ต่อไปให้แข็งแกร่ง” ธนาวัฒน์ กล่าว

 

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ธนาคารกรุงเทพรับสมัครสตาร์ตอัพ เข้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub Season 2

ธนาคารกรุงเทพร่วมกับบริษัท Nest ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค ค้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพ 5 กลุ่ม …