ตัวเลือกในยุคที่นักลงทุนต้องการบริหารเงินแบบยั่งยืน คือ การลงทุนใน SRI (Socially Responsible Investment) ถึงแม้กิจการเพื่อสังคมจะหมายถึงกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่มีกำไร เป็นการลงทุนตามปกติที่มีผลตอบแทนทางการเงิน เพราะลงทุนในกิจการที่ทำประโยชน์ต่อสังคม
ดังนั้น นักลงทุนยุคใหม่มีทางเลือกมากมายให้ลงทุน หนึ่งทางเลือกที่สร้างสรรค์คือ การลงทุนในกิจการเพื่อสังคมที่ให้ทั้งกำไรและสังคม ตอนนี้กลุ่มธุรกิจกิจการเพื่อสังคมเริ่มแสดงศักยภาพให้แก่นักลงทุนได้เห็นบางแล้ว อีกทั้งกิจการเหล่านี้ก็กำลังเติบโตและมีอนาคต
SHE วิสาหกิจสุขภาพชุมชน
SHE (Social Health Enterprise) เป็นกิจการที่ให้บริการด้านงานป้องกันโรคของแรงงานและพนักงาน โดยเน้นช่วยทำให้แรงงานไทยต้องไม่ป่วยตายด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก ขจัดหินปูน ลดเหงือกอักเสบ ไม่ต้องใช้ฟันปลอมเมื่อแก่ และบริการบำบัด Office Syndrome ให้แก่หน่วยงาน องค์กร และบริษัท
บริการสุขภาพเพื่อแรงงานไทย
นายแพทย์พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์ บริษัท วิสาหกิจสุขภาพชุมชน จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้จดทะเบียนดำเนินธุรกิจกิจการเพื่อสังคมเป็นรายแรกๆของประเทศไทย โดยมีระบุไว้ว่า ผลกำไรที่ได้จะนำไปสร้างระบบสุขภาพภาคประชาชน ซึ่งจุดยืนและตอกย้ำว่า SHE จะเป็น Social Enterprise และในปีที่ผ่านมา SHE ได้รับรางวัล Change Awards ในงานประกาศรางวัล Thai SE Award 2014 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากโครงการมะเร็งปากมดลูกในแรงงานสตรี โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยมากกว่า 200 ชีวิต
นอกจากนี้ มีงานด้านบริการทันตกรรมที่ส่งทีมทันตแพทย์เข้าไปตรวจสอบสุขภาพช่องปากให้ กับแรงงานคนไทยที่ทำงานในโรงงาน เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่ค่อยเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมมากนักส่งผลให้มีโอกาส เกิดการสูญเสียฟันก่อนวัยชราสูง ดังนั้น จึงคิดว่าหากเข้าไปตรวจและรักษาก่อนจะช่วยทำให้แรงงานไทยสามารถมีสุขภาพฟัน ที่ดีและลดโอกาสการรักษาฟันในยามชราลง
ให้โอกาสอดีตนักโทษ ช่วยแก้ปัญหาคนออฟฟิศ
นายแพทย์พูลชัย กล่าวต่อว่า บริการบำบัด Office Syndrome เกิดจากการต้องการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มนักโทษหญิงที่ไปพบในเรือนจำเมื่อ เข้าไปให้บริการด้านทันตกรรม ซึ่งมองว่าผู้หญิงที่ถูกขังในที่แห่งนี้ส่วนใหญ่จะหลงเดินทางผิดในชีวิตหาก มอบโอกาสที่ดีให้กับเขาเวลาพ้นโทษ และเมื่อกลับเข้าสู่สังคมคนเหล่านี้สามารถอยู่ในสังคมได้ไม่กลับไปทำในสิ่ง ไม่ดีอีก จึงได้ร่วมทำงานกับกระทรวงยุติธรรมในการสร้างโครงการอบรมเรื่องการบำบัด ออฟฟิศซินโดรมให้แก่นักโทษหญิงที่กำลังจะพ้นโทษ
โดยมีการคัดตัวนักโทษหญิงที่ใกล้ระยะเวลาการพ้นโทษและมีพฤติกรรมที่ดีตลอดระยะเวลาอยู่ในเรือนจำเข้ารับการอบรมในโครงการ ซึ่งผู้ที่สนใจสมัครเข้าอบรมและผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือจะได้รับการันตรีว่า เมื่อพ้นโทษจะมีงานรองรับทันที โดยกลุ่มแรกที่ออกมาทำงานกับ SHE นั้นจะไม่ค่อยมั่นใจ จึงต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถทำงานได้ หลังจากนั้นไม่นานคนกลุ่มแรกนี้ได้เขียนจดหมายไปเล่าให้เพื่อนในเรือนจำฟัง ซึ่งปรากฏว่าการเข้าไปเปิดรับสมัครรอบสองและสาม มีคนสมัครเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ตอนนี้มีการฝึกอบรมอยู่ทั้งหมด 3 เรือนจำ ได้แก่ เรือนจำชลบุรี เรือนจำมีนบุรี และเรือนจำธัญบุรี ซึ่งตอนแรกวางแผนไว้ว่าจะเข้าไปรักษาให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่บริเวณ โดยรอบเรือนจำในแต่ละจุด ซึ่งในวันที่ 2 เมษายน 2558 ที่ผ่านมามีนักโทษหญิงได้รับการอภัยโทษออกมาจำนวน 10 คน ทาง SHE ได้นำเสนอบริการบำบัด Office Syndrome ไปที่รัฐสภาเพื่อนำนักโทษกลุ่มนี้ไปทดลองนวดให้กับสมาชิกนิติบัญญัติแห่ง ชาติและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
หลังจากที่เข้าไปให้บริการและทราบ ถึงแนวคิดในการเกิดโครงการนี้ ท่านสมาชิกต่างเห็นชอบและสนับสนุนว่าจะให้มีจุดบริการบำบัด Office Syndrome แบบประจำที่รัฐสภา นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นอีกองค์กรที่เห็นดีกับโครงการและ แจ้งความประสงค์อยากให้เข้ามาตั้งออฟฟิศเพื่อบริการ Office Syndrome ด้วย และมีการแนะนำจากคุณเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ้าสามารถเปิดให้บริการบนสถานีรถไฟฟ้าได้จะดีมาก เพราะว่าตอบโจทย์ให้กับพนักงานออฟฟิศที่โดยสารรถไฟฟ้าประจำ ถ้าสามารถแก้อาการให้กับพวกเขาก่อนเข้าทำงานได้จะดีมาก
ดังนั้น แนวโน้มการทำงานของ SHE จึงเป็นกิจการเพื่อสังคมในรูปแบบเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาของคนในองค์กรเพื่อมี คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือ ตลท. เรียกว่า การทำ CSR In Process นั่นคือการที่บริษัทจัดกิจกรรมเพื่อคนในองค์กร ซึ่งบริการทั้งหมดของ SHE สามารถเข้าไปดูแลพนักงานทั้งหมดได้ทันที ตั้งแต่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก บริการทันตกรรม และบำบัด Office Syndrome
“เราอยากให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจมาสัมผัส และเข้าใจเลยว่าการทำงานง่ายๆ แบบนี้ ได้ส่งผลให้ทุกคนมีความสุข คนที่พ้นโทษมีความสุข พนักงานมีความสุข บริษัทก็ได้ด้วย”
คืนกำไรด้วยบริการ
นายแพทย์พูลชัย กล่าวว่า ได้รับคำแนะนำจากผู้จัดการหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงโมเดลการร่วมลงทุนกับ SHE สำหรับ บจ. หรือ บลจ. ที่สนใจสนับสนุนวิสาหกิจสุขภาพชุมชนแห่งนี้ โดยกำหนดจำนวนเงินการลงทุนเป็นแพ็กเกจ เช่น แพ็กเกจ A วงเงินการลงทุน 500,000 บาท แพ็กเกจ B วงเงินการลงทุน 1,000,000 บาท และได้กำไรกลับไปเป็นรูปแบบการให้บริการจาก SHE อาทิ ลงทุนด้วยงบ 1,000,000 บาท ได้กำไรจากการลงทุนนี้คือ การมอบบริการบำบัด Office Syndrome จำนวน 4,000 คน โดยสามารถจัดสรรได้เลยว่าจะให้ SHE ไปบริการให้แก่คนกลุ่มใดบ้างถือเป็นการส่งมอบความสุขและดูแลสังคม หรือมอบให้กับพนักงานเพื่อเป็นสวัสดิการออฟฟิศก็ทำได้ เป็นต้น
“เราตั้งเป้ากิจการเพื่อสังคม SHE สู่ระดับโลก เนื่องจากมีความร่วมมือกับ Yunus Centre ของกรามีนแบงค์หรือธนาคารคนจน ประเทศบังคลาเทศ ซึ่งหน่วยงานนี้มีการทำ Social Business อยู่ทั่วโลก”
อาข่า อาม่า เป็นคนทำตลาดขายเมล็ดกาแฟให้กับชาวอาข่าทั้งหมด ซึ่งในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ เข้าสู่ตลาดเพิ่มด้วย เช่น น้ำผึ้งที่ได้จากดอกกาแฟ ชาดอกกาแฟ และน้ำผลไม้เมืองหนาว เนื่องจากนำวัตถุดิบในหมู่บ้านสร้างมูลค่าขึ้นมา
Akha Ama Coffee
กาแฟอาข่า อ่ามา ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ปลูกกาแฟด้านการพัฒนาคุณภาพทางรสชาติและการตลาด โดยเริ่มต้นจากการช่วยเหลือที่หมู่บ้านแม่จันใต้ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ปัจจุบันมีพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่บ้านห้วยทราย อ.เวียงป่าเป้า และบ้านดอยงาม อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นธุรกิจกาแฟที่มุ่งแก้ปัญหาเกษตรกรให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาชุมชน มีกระบวนการผลิตที่เอื้อต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ลี อายุ จือปา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ อาข่า อ่ามา กล่าวว่า หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีและมีโอกาสได้ทำงานมูลนิธิเกื้อฝัน ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อสังคมจึงเกิดแนวคิดที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนในหมู่บ้านจึงเริ่มศึกษาเกษตรชุมชนและปรึกษากับเจ้าหน้าที่เกษตรร่วมกับชาวบ้านทำเกษตรผสมผสาน โดยเริ่มจากนำจุดแข็งของชาวอาข่าที่มีประสบการณ์การปลูกกาแฟของชาวอาข่าที่บ้านแม่จันใต้มากกว่า 10 ปี มาพัฒนาต่อเนื่อง ให้สามารถทำธุรกิจไร่กาแฟอย่างยั่งยืนและไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป
ในปี 2553 ลีได้เริ่มสร้างแบรนด์อาข่า อาม่า โดยปีแรกเริ่มจากการเรียนรู้ในเรื่องการเกษตร การตลาด ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ และปีที่สองมีการวางแผนพัฒนากระบวนการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ได้ ผลผลิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมกับพยายามผลักดันให้กาแฟอาข่า อาม่า ได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์กรหรือสถาบันระดับชาติและนานาชาติ เช่น องค์การการค้าอย่างยุติธรรม (Fair Trade Organization) ของอังกฤษ เพื่อพัฒนาเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ที่ให้ราคา ยุติธรรมต่อชุมชน
”เราตัดสินใจส่งกาแฟอาข่า อาม่า เข้าไปประกวดบนเวทีการชิมกาแฟนานาชาติครั้งที่ 7 ที่ประเทศอังกฤษ โดยมีคณะกรรมการจากทั่วโลกมาชิมและได้รับการการันตรีจากองค์กรกาแฟชนิดพิเศษ แห่งยุโรป ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้นอกจากสร้างชื่อเสียงให้แก่แบรนด์แล้วยังเป็นข้อ พิสูจน์เรื่องคุณภาพกาแฟของเราด้วย”
![]() |
ฉบับที่ 198 เดือนมิถุนายนไอทีเชื่อมสู่ท้องถิ่นแบบ Social Enterprise |
สร้างหมู่บ้านต้นแบบ
ลี กล่าวว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือ การวางแผนและออกแบบหมู่บ้านให้กลายเป็นตัวอย่างที่ดีแก่หมู่บ้าน อื่นๆ ที่จะทำให้คนทั่วไปได้เข้ามาในหมู่บ้านและรู้สึกทึ่งต่อวิถีชาวบ้านที่ สามารถสร้างอาชีพของตนให้เกิดเป็นรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหลังจากพัฒนาหมู่บ้านและอาชีพให้แก่ชาวบ้านด้วยการทำไร่กาแฟรูปแบบใหม่ ตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา มีคนรู้จักหมู่บ้านแม่จันใต้มากขึ้นในฐานะหมู่บ้านที่ปลูกกาแฟ เมื่อพูดถึงการปลูกกาแฟให้ประสบความสำเร็จทุกคนจะนึกถึงบ้านแม่จันใต้และ ติดต่อเข้ามาดูงาน ซึ่งโมเดลนี้นอกจากจะได้ประโยชน์แก่ชาวบ้านแล้วยังได้ประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย ที่จะมาศึกษาและนำไปต่อยอดทางความคิดให้แก่พวกเขา
ตอนนี้มีอีก 2 หมู่บ้านที่นำโมเดลของเราไปพัฒนาหมู่บ้านด้วย ได้แก่ บ้านห้วยทราย อ.เวียงป่าเป้า และบ้านดอยงาม อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงทดลองและร่วมพัฒนากันด้วยการนำประสบการณ์ 5 ปีที่ได้รับจากการสร้างโมเดลให้กับบ้านแม่จันใต้มาปรับใช้กับบ้านห้วยทราย และบ้านดอยงาม
ลี กล่าวต่อว่า การเริ่มต้นพัฒนาหมู่บ้านของตนเพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยพัฒนาอาชีพปลูกกาแฟให้พวกเขาได้สร้างผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดที่มีคุณภาพ มาตรฐานสากลจนได้ผลกำไรกลับมาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าในอดีต ทั้งหมดนี้เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาบ้านเกิด ดังนั้น คำว่า Social Enterprise หรือ SE จึงไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำเพราะคำนี้เริ่มกล่าวถึงกันในวงกว้างเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา
เราพยายามสร้างโอกาสและสร้างอำนาจต่อรองให้แก่ชาวบ้านและชุมชน เช่น การสอนให้ชาวบ้านรู้จักประเมินคุณค่าของผลผลิตที่เขาสร้างขึ้น การส่งเสริมเรื่องการศึกษา เป็นต้น เนื่องจากเห็นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการจะช่วยให้ชาวบ้านไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และการเรียนภาษาเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากจะต้องใช้ในการสื่อสารและต่อรองทางธุรกิจเพื่อลดการเอาเปรียบทางการค้า
สร้างโอกาสให้ชาวบ้าน
หลักการบริหารจัดการรายได้ของแบรนด์อาข่า อาม่า กับชุมชนที่เป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟให้คือถ้าปีนี้เราตั้งเป้าทำการตลาดไว้ที่ 25 ตัน และโค้วต้าปีนี้จะทำงานร่วมกับชาวอาข่า 20 ครอบครัวและทำการหารจำนวนครอบครัวกับปริมาณเมล็ดกาแฟที่ตั้งเป้าไว้ผลลัพธ์ที่ได้คือจำนวนที่แต่ละครัวเรือนจะต้องผลิตส่ง ซึ่งจะมีการเรียกประชุมเพื่อให้แต่ละครัวเรือนกำหนดราคาเมล็ดกาแฟของตัวเอง
เมื่อทุกคนกำหนดราคาแล้วจะเน้นย้ำทิ้งท้ายว่า ถ้าอยากได้ราคากาแฟตามที่ตั้งไว้จะต้องผลิตเมล็ดกาแฟให้ได้มาตรฐานที่วางไว้ด้วย โดยให้เหตุผลว่าถ้าลูกค้าไม่พึ่งพอใจจะส่งผลเสียขึ้นทันทีต่อภาพลักษณ์แบรนด์กาแฟอาข่า อาม่า และพวกเขาด้วย เพราะลูกค้ามีสิทธิ์จะไม่ติดต่อซื้อกาแฟอีกต่อไป ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากมาก ในการจะทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่จะปรับทัศนคติให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการธุรกิจแบรนด์อาข่า อาม่า ไม่ใช่เป็นแค่คนผลิตอย่างเดียว
“ทุกคนที่ทำงานกับแบรนด์อาข่า อาม่า จะถูกปลูกฝังให้ปลูกผลไม้เมืองหนาว พืชผักสวนครัว ชา สลับกับปลูกกาแฟด้วย ตั้งแต่ผมเข้ามาพัฒนาหมู่บ้านเมื่อ 5 ปีก่อน เมื่อก่อนชาวบ้านมองว่าจะให้ปลูกชาหรือผลไม้ทำไม เพราะไม่ได้มีราคาเท่าไรแต่หลังจากผ่านมาวันนี้ชาวบ้านเห็นผลแล้วสิ่งที่บอก ให้ปลูกไว้ก็ได้ผลผลิตเก็บเกี่ยวไว้กินในครอบครัวและเหลือขายให้แก่ชาวบ้าน ด้วย เพราะฉะนั้น 1 ปี พวกเขาไม่ต้องรอเวลาทำไร่กาแฟอย่างเดียวจากเมื่อก่อนเจอปัญหาจะเก็บอะไรกิน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าจะเก็บอย่างไรให้หมด เพราะมีพืชหมุนเวียนให้เก็บเกี่ยวกินได้ตลอดทั้งปี”
ลี ยกตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการช่วยสร้างรายได้ให้เกิดแก่คนในหมู่บ้านอย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องดิ้นรนออกไปหางานทำในเมือง เช่น ตอนนี้ชากิโลกรัมละ 120 บาท เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวชา ชาวบ้านที่ปลูกชาจะเก็บชามาขายในแต่ละวันซึ่งบางคนเก็บได้วันละ 7-8 กิโลกรัม แสดงว่ารายได้เฉลี่ยต่อวันของชาวบ้านคือ 600-900 บาท ซึ่งสูงกว่ารายได้ของแรงงานขั้นต่ำในเมืองอีกและรายจ่ายในหมู่บ้านแทบไม่มี นอกจากจะซื้อขนมหรือของใช้บ้าง สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าเราสามารถจัดการชุมชนให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ถ้าเรามีการวางโมเดลที่ดีและสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นแก่คนในชุมชน
อาข่า อาม่า เป็นคนทำตลาดขายเมล็ดกาแฟให้กับชาวอาข่าทั้งหมด ซึ่งในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ เข้าสู่ตลาดเพิ่มด้วย เช่น น้ำผึ้งที่ได้จากดอกกาแฟ ชาดอกกาแฟ และน้ำผลไม้เมืองหนาว เนื่องจากนำวัตถุดิบในหมู่บ้านสร้างมูลค่าขึ้นมาได้คือ วิธีการทำธุรกิจที่ดีที่สุด
ลี กล่าวว่า สำหรับผู้ที่สนใจร่วมลงทุนกับแบรนด์อาข่า อาม่า นั้น ทางเราต้องการนักลงทุนที่เข้ามาช่วยในด้านการสนับสนุนนวัตกรรมและเครื่องมือที่จะช่วยให้ชาวบ้านสามารถพัฒนาสินค้าทางการเกษตรของพวกเขาได้มีคุณภาพ เพื่อจะได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยรวมมากกว่าในแง่ของการได้ผลกำไรในรูปแบบเงินตอบแทน
“SE ในมุมของผมคือ จะต้องเป็นธุรกิจที่ได้ผลกำไรสูงสุดมากกว่าองค์กรธุรกิจต่างๆ เพราะว่าผู้ผลิตต้องได้ราคายุติธรรม ผู้บริโภคต้องได้สินค้าที่ดีที่สุด” ลี กล่าว
Local Alike ได้ร่วมงานกับชุมชนที่น่าสนใจ 15 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันมีชุมชนที่น่าสนใจอีกกว่า 200 แห่งในประเทศไทย และอีก 1,000 แห่งทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Local Alike
กิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ใช้วิถีชุมชนและธรรมชาติ เป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ลดการย้ายถิ่นฐาน สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือพัฒนา โดยมีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเชื่อมโยงนักท่องเที่ยว และจัดทริปท่องเที่ยวเพื่อสร้างประสบการณ์อันมีคุณค่าอย่างแท้จริง
สร้างการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน
สุรัชนา ภควลีธร ผู้ร่วมก่อตั้ง Local Alike กล่าวว่า เกิดจากปัญหาของการท่องเที่ยวในปัจจุบันคือ ไม่ยั่งยืน เนื่องจากผู้คนในชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมกับวิถีการท่องเที่ยวและรายได้จากการ ท่องเที่ยวไม่ได้ถูกกระจายไปถึงชุมชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรจริงๆ ขณะเดียวนักท่องเที่ยวที่ซื้อทัวร์ไม่ได้สัมผัสถึงวิถีท้องถิ่นเป็นเพียง ประสบการณ์แบบฉาบฉวยไม่ได้มีอะไรน่าจดจำเท่าไร ดังนั้น Local Alike จึงเกิดขึ้นในการสร้างธุรกิจท่องเที่ยวแนวใหม่ โดยวางแนวทางให้เจ้าของชุมชนได้ทำอาชีพเสริมเป็นไกด์พิเศษให้กับนักท่อง เที่ยว และเกิดการส่งเสริมการสร้างรายได้ร่วมกันภายใต้กรอบของธุรกิจเพื่อสังคม
สุรัชนา กล่าวต่อว่า สมศักดิ์ บุญคำ หรือพี่ไผ่ เป็นผู้ริเริ่มในการสร้าง Local Alike ซึ่งรูปจักกันตอนเข้าไปฝึกงานที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงด้วยกันและได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับงานชุมชน ระหว่างนั้นพี่ไผ่ได้ทำโปรเจ็กต์ที่ต้องเข้าไปช่วยหมู่บ้านซึ่งอยู่ในโครงการดอยตุงโดยทำแผนธุรกิจเรื่องโฮมสเตย์และได้ทำงานร่วมกัน หลังจากนั้นเริ่มมีความคิดในการอยากช่วยเหลือสังคมจึงนำประสบการณ์ที่ทำอยู่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมาต่อยอดจึงออกมาทำงานด้านอย่างเต็มตัวจึงชวนตนออกมาทำร่วมกัน
เชื่อมโยงชาวบ้านกับนักท่องเที่ยว
สำหรับ Local Alike เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับนักท่องเที่ยวที่สนใจในเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเข้าด้วยกัน ขณะนี้เดียวกันจะทำหน้าที่เป็นพาร์ตเนอร์กับชุมชนในแบบระยะยาว ด้วยการเข้าไปช่วยชุมชนในการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว เช่น การนำเสนอแผนการท่องเที่ยว และการออกแบบท่องเที่ยว เป็นต้น
ในเรื่องของราคาแพ็กเกจทัวร์แต่ละครั้ง เราจะลองให้ชาวบ้านช่วยกันคิด เช่น แพ็กเกจทัวร์ 3 วัน 2 คืน มีเรื่องการเดินทาง โฮมสเตย์ อาหาร กิจกรรมต่างๆ พวกเขาจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไรและคิดว่าควรตั้งราคาแพ็กเกจที่ขายเท่าไร ซึ่งทีมงานจะเข้าไปช่วยคิดว่าราคาเหมาะสมหรือไม่ และเมื่อชาวบ้านกำหนดราคาแล้วส่วนของ Local Alike จะนำมา บวกค่าทำการตลาดและกำหนดราคาที่นำไปเสนอขายแก่ลูกค้าบนหน้าเว็บไซต์
“เราพยายามทำให้ช่องวางระหว่างคนเมืองกับคนชนบทแคบลงไปด้วยการสร้างมุมมอง ใหม่ให้กับคนเมืองที่เห็นว่าการศึกษาอาจทำให้อยู่รอดได้ในเมือง แต่ในชนบทประสบการณ์ชีวิตคือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตอยู่รอด ดังนั้นเราจึงพยายามนำเรื่องการบริหารจัดการแบบยั่งยืนกับความรู้ที่ชุมชนมี เรื่องการบริหารจัดการตัวเองมารวมกันเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นมูลค่าขึ้นมา”
โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม
การแบ่งส่วนงานของ Local Alike ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
- การลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นแพ็กเกจทัวร์ที่จะนำมา เสนอขายบนเว็บไซต์
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงลึกเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยนำเงินที่ได้จากการท่องเที่ยวมาพัฒนาชุมชน
- การนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาและต่อยอดให้กับธุรกิจ ซึ่งนอกจากเว็บไซต์แล้วตอนนี้กำลังพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นเพื่อให้การ เชื่อมต่อด้านการท่องเที่ยวง่ายขึ้น
- การจัดกิจกรรมพิเศษเฉพาะกิจขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมเพื่อสังคม พานักท่องเที่ยวไปดูกิจกรรมเพื่อสังคมตามจังหวัดต่างๆ เป็นต้น
ความแตกต่างจากบริษัททัวร์คือ Local Alike จะใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่อยู่ในชุมชนนั้นเลย ซึ่งการท่องเที่ยวแต่ละที่จะขึ้นกับบริบทของชุมชนเป็นหลัก ดังนั้น จึงทำการเข้าไปอยู่กับชาวบ้านเพื่อสำรวจว่าอะไรคือสิ่งที่เขาอยากได้ ต่อจากนั้นจะทำการพูดคุยกับชาวบ้านว่าอะไรเป็นเสน่ห์และนำมาต่อยอดให้กับชุมชนได้ หรืออะไรควรปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการช่วยให้เขาหัดวางแผนโปรโมตการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง
หลังจากนั้นจะทำการทดสอบทริปที่ออกแบบไว้โดยนำนักท่องเที่ยวเข้าไปและมีทีมงาน Local Alike เป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทัวร์แก่ชาวบ้านโดยตรงเมื่อจบการทดสอบและผลตอบรับดีจะทำการอัพข้อมูลขึ้นหน้าเว็บไซต์เพื่อประชาสัมพันธ์ถ้ามีนักท่องเที่ยวสนใจสามารถติดต่อโดยตรงที่ชาวบ้านได้เลย
สำหรับกิจการของ Local Alike ไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อมุ่งไปที่กำไรเพียงแต่จะทำอย่างไรให้สามารถดำเนินธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ สิ่งสำคัญคือจะต้องทำให้ Local Alike เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในเรื่องนี้มากขึ้น และขณะเดียวกันจะต้องขยายฐานชุมชนให้มากขึ้นด้วย รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายและทำให้ทุกอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ หากมีผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนจะเป็นการช่วยสนับสนุนในแง่ของการลงทุนด้านเทคโนโลยีและการซื้อบริการ เพื่อนำไปต่อยอดในการจัดกิจกรรมให้แก่องค์กรของตน
ตอนนี้ Local Alike มีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศรวมกันกว่า 500 ราย และได้ร่วมงานกับชุมชนที่น่าสนใจอีกกว่า 15 แห่งทั่วประเทศ ส่วนแผนในอนาคตตั้งเป้าจะขยายจำนวนชุมชนออกไปทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีชุมชนที่น่าสนใจอีกกว่า 200 แห่งในประเทศไทย และอีก 1,000 แห่งทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สุรัชนา กล่าว