การทำธุรกิจร้านอาหาร สิ่งสำคัญที่สุดคือ วัตถุดิบ แต่การหาซัพพลายเออร์ที่ดีทั้งสินค้าและระบบโลจิสติกส์จัดส่งถึงมืออย่างสม่ำเสมอนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ “พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ หรือเบลล์” ที่เคยทำธุรกิจเป็นคนกลางในการจัดส่งของสด นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาให้กลายเป็นตลาดสดออนไลน์ ช่วยให้คนสองกลุ่มมาเจอกัน บนแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Freshket
จากแนวคิดช่วยเหลือเกษตรกร สู่พื้นที่ซื้อ-ขายของสดออนไลน์
เบลล์ ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปิดพื้นที่เป็นตลาดสดออนไลน์ว่า เกิดจากการที่อยากจะเข้ามาช่วยด้านราคาสินค้าเกษตรให้เกิดความเป็นธรรม โดยเกษตรกรควรได้ราคาขายที่สมเหตุสมผล และไม่ถูกกดราคา ซึ่งเป็นการตัดพ่อค้าคนกลางที่ไม่จำเป็นออกไป
ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งที่ Freshket ทำนั้นเป็นมากกว่ามาร์เก็ตเพลส คือการที่เข้ามาแก้ปัญหาการทำงานของระบบหลังบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการสั่งสินค้าในแต่ละครั้งต้องออกบิลเป็นกระดาษจำนวนมาก หลากหลายรายการและหลายร้านอาหารในวันเดียว รวมถึงการสั่งออเดอร์ของร้านอาหาร แต่ละร้านจะสั่งผ่านหลายช่องทางเกินไป เช่น โทรศัพท์ แฟกซ์ อีเมล ไลน์ อาจทำให้เกิดความสับสนและมีโอกาสผิดพลาดสูง ซึ่ง Freshket เข้ามาอุดช่องโหว่ได้อย่างตรงจุด
“การทำงานของ Freshket จะเป็นช่องทางเดียวที่ทุกคนสามารถติดต่อกันง่ายขึ้น โดยมีระบบเชื่อมต่อกับ Workflow จากหน้าบ้านเข้าหลังบ้าน เมื่อร้านอาหารสั่งของทางซัพพลายเออร์ก็ไม่ต้องมาทำบิล แต่ระบบจะทำการออกออเดอร์มาเป็นรายการสินค้าให้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมานั่งกรอกข้อมูลใหม่ ทำให้การทำงานง่ายขึ้นจากปกติ 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 นาที”
![]() |
ฉบับที่ 217 เดือนมกราคมเรียนรู้ชีวิตดิจิทัล เยาวชน 4.0
|
หลังจากเปิดตัวเฟสแรก โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ทั้งฝั่งซัพพลายเออร์และฝั่งร้านอาหาร ต่างให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความที่ต้องการสร้างโมเดลธุรกิจที่เฉพาะกลุ่ม จึงมีการคัดเลือกโดยเน้นซัพพลายเออร์กลุ่ม Local ฟู้ดเซอร์วิส และ Import ฟู้ดเซอร์วิส สินค้าที่ได้คุณภาพเป็นหลัก ส่วนร้านอาหารจะเน้นเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นและร้านอาหารฝรั่ง โดยขณะนี้ มีซัพพลายเออร์ 20 ราย และร้านอาหาร 50 ร้าน
“เรากำลังพัฒนาระบบ Web-based Application ที่สามารถสั่งซื้อสินค้าได้บนมือถือ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว เมื่อระบบคงที่แล้ว เฟสต่อไปเราจะขยายร้านอาหารให้หลากหลายขึ้น และเปิดรับซัพพลายเออร์กลุ่มฟู้ด Producer ผู้ผลิตจากโรงงานโดยตรง และฟู้ด Grower จากเกษตรกรโดยตรง”
พูดคุยพร้อมสั่งซื้อง่าย ผ่านระบบหลังบ้านที่ครบวงจร
ทั้งนี้ หากร้านค้าต้องการที่จะสั่งสินค้า สามารถเข้าไปสั่งได้ทันที เช่น ต้องการเนื้อ เพียงค้นหา จะมีลิสต์รายชื่อเนื้อประเภทต่างๆ ให้เลือก เมื่อเรากดเลือกสินค้าและใส่จำนวนที่ต้องการสั่งจะมีเมนูสั่งซื้อขึ้น หากยังไม่พอใจราคาของเนื้อ ก็สามารถต่อรองราคาก่อนได้ โดยจะออกบิลใบขอราคาใหม่ ระบบก็จะส่งไปยังซัพพลายเออร์ให้รับทราบ ทางซัพพลายเออร์เองก็จะส่งราคาใหม่กลับมา หรือสามารถพูดคุยผ่านช่องแชตในหน้าซื้อ-ขาย เพื่อต่อรองราคาได้
เมื่อพอใจในราคาที่ต้องการซื้อทั้งสองฝ่าย ร้านอาหารกดสั่งซื้อสินค้าและเลือกวันรับสินค้า ระบบจะออกใบเสนอราคา พร้อมมีการประกันราคากันเกิดขึ้น เพราะราคาสินค้าในท้องตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทางร้านค้าเองก็สามารถเข้ามาเปลี่ยนการสั่งซื้อได้ทุกวัน หรือบางครั้งทางซัพพลายเออร์หาสินค้าได้ไม่ตรงตามจำนวนที่ร้านค้าต้องการ ก็สามารถพูดคุยทางช่องแชตได้ทันที
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะอยู่ในสถานะรอส่งของ และรอรับของ เมื่อสินค้ามาส่งยังหน้าร้านตามกำหนด ทางร้านอาหารก็สามารถตรวจเช็กสินค้าบนระบบว่าได้ตามที่สั่งไปหรือไม่ หากไม่ตรงก็สามารถแจ้งไปยังซัพพลายเออร์ได้ เมื่อสินค้าถูกต้องก็จะมีการออกเป็นอินวอยซ์ให้กับทางร้านค้า และขั้นตอนสุดท้ายเป็นการกดชำระเงิน ซึ่งในระบบจะเชื่อมกับ KBank โดยทางร้านค้าสามารถกดจ่ายเงินได้
“จะเห็นได้ว่า ระบบของเราครอบคลุมทุกขั้นตอน ซึ่งรายการสั่งซื้อจะถูกจัดเก็บไว้ ร้านค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ นำข้อมูลไปทำเป็นรายงานหรือนำไปวิเคราะห์ เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกด้วย และเรากำลังพูดคุยเพื่อทำระบบจ่ายเงินกับบริษัทเพย์เมนต์เกตเวย์ เข้ามาให้ทางร้านอาหารสามารถชำระเงินผ่านระบบอีวอลเลต ที่จะสามารถรับได้ทุกแบงค์”
สร้างระบบโลจิสติกส์ พร้อมขยายไปยังหัวเมือง
ร้านค้าไม่ต้องกังวลว่า จะหาวัตถุดิบไม่ได้ เพราะ Freshket มีสินค้าในระบบมากกว่า 1,000 รายการ ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ หรือสินค้านำเข้า รวมถึงสินค้าแห้ง ในอนาคตยังเพิ่มสินค้าประเภทเครื่องใช้ เช่น แก้ว จาน ทิชชู เป็นจุดเสริมเข้ามา โดย Freshket จะหักเพียง 2 เปอร์เซ็นต์จากทางฝั่งซัพพลายเออร์ สำหรับร้านอาหารไม่มีค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อ
นอกจากนี้ ยังคิดที่จะสร้างระบบโลจิสติกเข้ามาช่วยซัพพลายเออร์ในการจัดส่งสินค้า เพื่อขยายพื้นที่ร้านอาหารที่เดิมมีอยู่เพียง 3 โซน ได้แก่ ทองหล่อ สะพานควาย-อารีย์ และสีลม -สาธร ไปยังหัวเมืองหลัก เช่น ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ เป็นต้น หากร้านอาหารหรือซัพพลายเออร์สนใจที่อยากจะเข้ามาใช้ระบบการทำงานหลังบ้าน สามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่ www.freshket.co
วันนี้ Freshket กลายเป็นมาร์เก็ตเพลสที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขับเคลื่อนตลาดซื้อ-ขายของสดและวัตถุดิบจากเกษตรกรไทย แต่ด้วยแพลตฟอร์มมีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ต่อไปในไม่ช้าอาจกลายเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าเกษตรตามเป้าหมายที่ Freshket หวังไว้