ธนาคารและสถาบันการเงินทั่วโลก ต่างตื่นตัวในเทคโนโลยีของ Blockchain ด้วยความเชื่อมั่นเป็นนวัตกรรมที่ยกระดับการทำธุรกรรมการเงิน ในแง่ของความรวดเร็ว ความปลอดภัย และลดค่าใช้จ่าย
ดิจิทัล เวนเจอร์ เข้าร่วมกับ Ripple ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินด้วย Blockchain จากสหรัฐอเมริกา เป็นการนำเทคโนโลยีนี้มาเชื่อมโยงกับ Cross Border Payment หรือระบบการโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ให้เกิดขึ้น
เทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพล
ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่มาเร็วกว่าที่คิด สตาร์ทอัพที่ทำเกี่ยวกับด้าน FinTech หลายราย ก็กำลังนำเทคโนโลยีมาใช้ ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ ก็ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินด้วยเทคโนโลยี Blockchain จากสหรัฐอเมริกาอย่าง Ripple ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคาร
“มีคำพูด ว่า Blockchain นั้นจะมาแทนทุกอย่าง ฟังแล้วให้เข้าใจง่ายคือ Blockchain เหมือนอินเทอร์เน็ตบนการเงิน อย่างทุกวันนี้ เวลาเราส่งอีเมลไปหาใคร เราส่งสิ่งที่เป็น Copy เพราะอีเมลมันยังอยู่กับเรา ซึ่งเรายังไม่สามารถส่งอะไรที่มีค่าจริงๆ ได้ เช่น การส่งเงินจาก 1 ไปหา 2 เลย Blockchain ก็เป็นระบบที่สร้างมา เพื่อไม่ให้มีตัวกลาง ต่อไปเราจะสามารถประเมินผลได้ หมายถึงส่งไปแล้ว ที่เราก็จะไม่มี อีกคนหนึ่งก็ได้รับ โดยที่ไม่ต้องรู้จักกันก็ได้ จึงเรียกว่าเป็น Financial Internet และต่อไปก็จะเริ่มไปสู่อะไรหลายๆ อย่าง”
ระบบโครงข่ายเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์
สุวิชชา สุดใจ กรรมการผู้จัดการ ผลิตภัณฑ์ดิจิทัล บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด อธิบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีของ Blockchain หรือ Distributed Ledger Technology (DLT) ว่า หลายคนอาจจะนึกถึงบริการสกุลเงินดิจิทัล หรือ Bitcoin ซึ่งจริงๆ แล้ว Bitcoin เป็นเพียงแค่หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการดำเนินการเท่านั้น โดย Blockchain คือ ระบบการทำงานบนฐานข้อมูลออนไลน์ประเภทหนึ่ง ที่ช่วยให้การทำธุรกรรมเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ จากเดิมที่ปัจจุบันข้อมูลต่างๆ จะถูกเก็บไว้ที่ใดที่หนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ในขณะที่ Blockchain ใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่อนุญาตให้สมาชิกในระบบทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ การอัพเดตข้อมูลจะสามารถทำได้ ก็ต่อเมื่อมีการตกลงและเห็นชอบร่วมกันระหว่างบุคคลส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบเดียวกันเท่านั้น โดยเมื่อข้อมูลถูกบันทึกลงในระบบแล้ว ข้อมูลนั้นจะไม่สามารถถูกลบทิ้งได้
![]() |
ฉบับที่ 215 เดือนพฤศจิกายนเจาะตลาดข้ามประเทศด้วยระบบส่งเงิน |
Blockchain ถูกเรียกว่าเป็น The Next Internet
Blockchain มีส่วนคล้ายคลึงกับอินเทอร์เน็ตในแง่ของการเก็บข้อมูล เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นระบบที่เอื้อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่ง Blockchain จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ Private Blockchain และ Public Blockchain ซึ่งหากเปรียบเทียบว่า Public Blockchain คือ อินเทอร์เน็ต ในแง่ของการอนุญาตให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลในระบบได้อย่างเท่าเทียมกัน ส่วน Private Blockchain จะเปรียบเสมือนอินทราเน็ต ที่จำกัดสิทธิ์ให้เฉพาะบุคคลหรือบางหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากทางระบบเข้าถึงข้อมูลนี้ได้
ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Lead Product Owner บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ให้ข้อมูลด้วยว่า Chris Skinner ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Financial Technology และ Blockchain ได้เปรียบไว้ว่า Blockchain คือ The Next Internet เพราะอินเทอร์เน็ตกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ ใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ได้ใช้ โดยยุคแรกๆ คนที่ใช้ยังอยู่ในวงแคบ จากนั้นก็ค่อยๆ ใช้เวลาและกระจายออกมา ส่วน Blockchain ก็เช่นเดียวกัน ในแง่ของการนำมาใช้คือ ยังอยู่ในช่วงแรก คนที่ได้ประโยชน์คือ องค์กรขนาดใหญ่ หรือห้องแลปการทดลอง ซึ่งต่อไปคนทั่วไปก็จะได้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลาย
ปฏิวัติแวดวงธุรกิจนำมาใช้ในหลายอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน Blockchain ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายรูปแบบ เช่น การโอนเงินข้ามประเทศ เพราะ Blockchain จะช่วยลดทอนขั้นตอนในการโอนเงิน ช่วยเอื้อประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจในด้านการลดต้นทุน ในขณะที่ลูกค้าเองก็จะได้ประโยชน์จากการทำธุรกรรมต่างๆ ที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น จากเดิมการโอนเงินข้ามประเทศที่ใช้เวลาหลายวันก็เหลือเพียงไม่กี่นาที นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมและยังปลอดภัยขึ้น จึงนับได้ว่า Blockchain จะก้าวขึ้นมาเป็นเทคโนโลยีอันทรงอิทธิพลแห่งอนาคตในอีกไม่ช้า
ในขณะนี้ มีธนาคารชั้นนำทั่วโลกกว่า 50 แห่ง ที่ได้เข้าร่วมในระบบ Blockchain เพื่อพัฒนาการโอนเงินข้ามประเทศนี้แล้ว เช่น Standard Chartered, Royal Bank of Canada (RBC), Westpac, National Australia Bank (NAB), Mizuho Financial Group (MHFG), BMO Financial Group และ Shanghai Huarui Bank เป็นต้น เช่นเดียวกับองค์กรภาครัฐของไทย ที่มีส่วนในการกำกับทิศทางในภาคการเงินการธนาคาร ก็กำลังมุ่งศึกษาการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมนี้ เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลกดังกล่าว
Blockchain ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายรูปแบบ เช่น การโอนเงินข้ามประเทศ เพราะ Blockchain จะช่วยลดทอนขั้นตอนในการโอนเงิน ช่วยเอื้อประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจในด้านการลดต้นทุน จากเดิมการโอนเงินข้ามประเทศที่ใช้เวลาหลายวันก็เหลือเพียงไม่กี่นาที
สุวิชชา กล่าวเพิ่มเติมว่า Blockchain ในมุมของสตาร์ทัพนั้น ก็กำลังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เช่น Everledger ที่ได้นำเอา Blockchain มาใช้ในธุรกิจการซื้อ-ขายเพชร โดยเอาใบ Certification มาวางไว้บน Blockchain เพื่อป้องกันการปลอมแปลง และติดตามที่มาที่ไปของเพชรได้ หรือสตาร์ทอัพชื่อว่า Wave ที่ได้สร้างแพลตฟอร์มในกระบวนการขนส่งสินค้า โดยจะช่วยลดขั้นตอนของการทำเอกสารต่างๆ ซึ่งจะทำให้ทุกคนที่อยู่ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นคนส่ง คนรับ ธนาคาร หรือบริษัทเดินเรือ ทั้งหมดเห็นเอกสารเดียวกัน ทำให้การทำงานทุกอย่างเร็วขึ้นมาก และอีกสตาร์ทอัพหนึ่งอย่าง Provinance.org ที่นำเอา Blockchain มาทำเป็นแพลตฟอร์มเพื่อติดตามผลผลิตทางการเกษตร ตั้งแต่ขั้นตอนในการเริ่มต้นปลูกของเกษตรกรจนขนส่งมาถึงผู้บริโภค
Ripple สตาร์พอัพสาย FinTech ผู้ให้บริการโอนเงินข้ามประเทศ
จากการร่วมลงทุนกับบริษัท Ripple ของดิจิทัล เวนเจอร์นั้น Ripple ผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ซานฟรานซิสโก และเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน ซิดนีย์ และลักเซมเบิร์ก เป้าหมายหลักของ Ripple คือ การลดค่าใช้จ่ายในการโอนเงิน และเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกรรมให้ได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ให้กับธนาคารและสถาบันการเงินทั่วโลก
กิตติศักดิ์ ปัญญาจิรกุล Discovery Lab Team Lead บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันการโอนเงินข้ามประเทศเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลากว่าจะโอนเงิน และปลายทางสามารถเอาเงินมาใช้ได้ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายวัน เพราะต้องผ่านขั้นตอนหลายกระบวนการระหว่างธนาคารต้นทางไปจนถึงปลายทาง ทำให้ต้องใช้เวลานาน อีกทั้งผู้บริโภคก็อาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูง เนื่องจากธนาคารมีต้นทุนในการให้บริการที่สูงด้วยเช่นเดียวกัน
Ripple นำเสนอโซลูชั่นที่เป็นระบบหลังบ้าน เชื่อมโยงแต่ละธนาคารเข้าด้วยกันกับระบบของ Ripple เพื่อใช้ในการโอนเงินข้ามประเทศระหว่างธนาคารต่างๆ โดยตัดขั้นตอนที่ต้องผ่านคนกลางหลายๆ ส่วนดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันออกไป เมื่อลดขั้นตอนต่างๆ ลง ก็ทำให้ธนาคารต้นทางและปลายทางสามารถเชื่อมถึงกันได้โดยตรงผ่านเทคโนโลยี Blockchain ทำให้ขั้นตอนการโอนเงินระหว่างประเทศเกิดขึ้นได้รวดเร็วขึ้น จากที่ต้องใช้เวลาหลายวัน เหลือเพียงไม่กี่นาที