Visionear อุปกรณ์สวมใส่
สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น

ความยากลำบากในการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตานั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นให้ใครหลายคนหันมาพัฒนาสื่อหรือเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตทีดีขึ้น สามารถทำทุกอย่างได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป ซึ่งวันนี้เราจะมาแนะนำผลงานที่เปรียบเสมือนดวงตาให้กับผู้มีปัญหาด้านการมองเห็นของ 4 สมาชิก ที่ประกอบด้วย นันทิพัฒน์ นาคทอง (ปาม), ณัฐภัทร เลาหระวี (จั๊ม), บุษภาณี พงษ์ศิริยาภรณ์ (นิค) และเกวลี เลี่ยมโลหะ (เดียร์) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ชนะจากการแข่งขัน Imagine Cup Thailand 2015 ประเภท World Citizenship

4

5

จากจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนานวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
เกวลี เลี่ยมโลหะ หรือน้องเดียร์ หนึ่งในสมาชิกผู้พัฒนา ให้ข้อมูลว่า ทั่วทุกมุมโลกมีผู้คนจำนวนมากมายที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนตาบอดสี ตามุมมองคับแคบ ตาพร่ามัว และตาบอด บุคคลเหล่านี้ใช้ความสามารถในการสัมผัสและการรับรู้เสียงที่ดีในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ความสามารถเหล่านี้ไม่สามารถแทนที่การมองเห็นได้อย่างสมบูรณ์ วัตถุบางชนิดไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เช่น ธนบัตร ฉลากสินค้าทั่วไป สี และการตรวจจับแหล่งกำเนิดแสง เป็นต้น วิชั่นเนียร์ (Visionear) จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น

วิชั่นเนียร์ เป็นอุปกรณ์สวมใส่ ประกอบไปด้วย ชุดหูฟังครอบหูติดกล้องที่ทำหน้าที่บันทึกภาพด้านหน้าของผู้ใช้ และกล่องประมวลผลที่ทำหน้าที่วิเคราะห์รูปภาพและอธิบายออกมาในรูปแบบเสียงให้แก่ผู้ใช้งาน ซึ่งผู้ใช้สามารถควบคุมผ่านทางการสั่งงานด้วยเสียงหรือปุ่มหมุนบริเวณกล่องประมวลผล วิชั่นเนียร์สามารถแยกแยะธนบัตร แยกแยะสินค้าโดยใช้บาร์โค้ด แยกแยะสี และตรวจจับแหล่งกำเนิดแสง โดยคุณสมบัติข้างต้นไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่เมื่อเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกับสังคมออนไลน์ เพื่อขอคำอธิบายของภาพหรือสิ่งต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้

e198

ฉบับที่ 198 เดือนมิถุนายน

ไอทีเชื่อมสู่ท้องถิ่นแบบ Social Enterprise

วิชั่นเนียร์ ถูกออกแบบให้เข้ากับผู้บกพร่องทางการมองเห็นที่ไม่มีประสบการณ์ในการใช้งานเทคโนโลยี และให้มีราคาที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนผู้บกพร่องทางการมองเห็นทุกระดับให้สามารถเข้าถึงวิชั่นเนียร์ได้

ตอบโจทย์และครอบคลุม ความต้องการของผู้พิการทางสายตา
น้องเดียร์ อธิบายถึงรายละเอียดของผลงานอีกว่า วิชั่นเนียร์สามารถเชื่อมต่อไปยังโลกภายนอกผ่านทางแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้ โดยใช้การเชื่อมต่อบลูทูธ เมื่อทำการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ วิชั่นเนียร์สามารถถามคำถามไปยังกลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น กลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะในเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวบรวมอาสาสมัครมาช่วยอธิบายรูปภาพให้แก่ผู้บกพร่องทางการมองเห็น นอกเหนือจากนี้ อุปกรณ์สามารถรับการปรับปรุงรุ่นซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มคุณสมบัติ ความเสถียรภาพ และเสียงสำหรับภาษาอื่นๆ ได้

2

3

ชุดหูฟังได้ถูกออกแบบให้มีหูฟังเพียงข้างเดียว เพื่อให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นสามารถรับฟังเสียงต่างๆ รอบตัวระหว่างใช้งานอุปกรณ์ได้ กล่องควบคุมสามารถใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋าถือได้ ผู้ใช้จะทำการหมุนปุ่มควบคุมไปยังเมนูที่ต้องการโดยฟังเสียงเมนูจากชุดหูฟัง จากนั้นจึงกดที่ปุ่มหมุนเพื่อเลือกเมนูนั้นๆ หลังจากที่ผู้ใช้เลือกคุณสมบัติที่ต้องการใช้งานแล้ว ผู้ใช้สามารถชูวัตถุต่างๆ ขึ้นมาห่างจากใบหน้าประมาณ 1 ฟุต จากนั้นวิชั่นเนียร์จะพูดคำอธิบายผ่านทางชุดหูฟังอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้สามารถกดปุ่มเดิมเพื่อยกเลิกและกลับไปเลือกคุณสมบัติอื่นๆ

โดยในรุ่นปัจจุบันวิชั่นเนียร์มีคุณสมบัติหลัก 4 คุณสมบัติ ประกอบด้วย การอ่านบาร์โค้ด ตรวจสอบสี ตรวจสอบหลอดไฟ และแยกแยะธนบัตร โดยผู้ใช้สามารถชูผลิตภัณฑ์ระดับเดียวกับใบหน้าห่างประมาณ 1 ฟุต เมื่อผู้ใช้หมุนไปเรื่อยๆ จนถึงด้านที่มีบาร์โค้ด วิชั่นเนียร์จะพูดชื่อของผลิตภัณฑ์ออกมาทางชุดหูฟัง ผู้ใช้สามารถชูสิ่งของในระยะ 1 ฟุต หรือหันไปยังด้านที่ต้องการทราบสีเพื่อรับฟังชื่อสีได้ ผู้ใช้สามารถชูธนบัตรห่างจากวิชั่นเนียร์ประมาณ 1 ฟุต เพื่อให้วิชั่นเนียร์อ่านมูลค่าของธนบัตรใบนั้นๆ โดยรองรับธนบัตรทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงธนบัตรที่กลับด้านหรือหมุน อีกทั้งผู้ใช้สามารถมองขึ้นไปยังเพดานเพื่อตรวจสอบว่าหลอดไฟเปิดหรือปิดอยู่ได้

หวังต่อยอด เพื่อการนำมาใช้งานได้อย่างจริงจัง
วิชั่นเนียร์ ประกอบด้วย 3 ส่วนประกอบหลัก คือ 1) ตัวอุปกรณ์ ที่เป็นกล่องควบคุมและชุดหูฟัง 2) แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ และ 3) บริการบนคลาวด์ ซึ่งวิชั่นเนียร์ถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้ซอฟต์แวร์ต้นรหัสเปิดหลากหลายประเภท และใช้บริการคลาวด์ Azure ของไมโครซอฟท์ กล่องควบคุมทำงานด้วยระบบปฏิบัติการลินุกซ์ โดยใช้ไลบารี่ OpenCV เพื่อช่วยในการประมวลผลภาพ และ Festival กับ Vaja สำหรับสังเคราะห์เสียงภาษาไทยและอังกฤษตามลำดับ

ทางทีมผู้พัฒนาเลือกใช้บริการ Azure Mobile Service สำหรับแจ้งเตือนการปรับปรุงรุ่นซอฟต์แวร์และ Azure Storage สำหรับจัดเก็บและแจกจ่ายไฟล์เสียงสำหรับภาษาต่างๆ ฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์และเฟิร์มแวร์ของตัวอุปกรณ์ไปยังผู้ใช้

ภายในกล่องควบคุมประกอบด้วยบอร์ดคอมพิวเตอร์ Raspberry Pi 2 ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการลินุกซ์และวงจรเสริมที่ได้พัฒนาขึ้นเอง ประกอบด้วยวงจรตัวเข้ารหัสและถอดรหัสเสียง วงจรจัดการพลังงาน วงจรชาร์จแบตเตอรี่ พอร์ตเชื่อมต่อไปยังชุดหูฟัง และปุ่มหมุนสำหรับควบคุมตัวอุปกรณ์ ขณะที่ภายในชุดหูฟังประกอบด้วยกล้อง ไมโครโฟน ลำโพง และพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อไปยังกล่องควบคุม สายเชื่อมต่อสามารถถอดได้ทางฝั่งกล่องควบคุมเพื่อความสะดวกในการเก็บอุปกรณ์

ทั้งนี้ น้องเดียร์ยังทิ้งท้ายไว้อีกด้วยว่า หากอุปกรณ์นี้ได้ถูกพัฒนาต่อยอดจนสามารถนำมาใช้งานได้จริง จะสามารถช่วยผู้บกพร่องทางการมองเห็นให้รับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้มากขึ้นผ่านทางตัวอุปกรณ์ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนผู้บกพร่องทางการมองเห็นให้สามารถพึ่งพาตนเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ทอ-ไอ-ยอ-ไทย-applicaition
ทอ-ไอ-ยอ-ไทย สอนน้องอ่านภาษาไทย เบื้องต้น

ช่วงเริ่มต้นในการเรียนรู้ภาษา ยังคงเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเสมอ โดยเฉพาะกับเด็กๆ ทีเริ่มเข้าโรงเรียนและเรียนรู้ภาษาอย่างจริงจังที่มาก กว่าการพูด ปัญหาการอ่านเขียนภาษาไทยของเด็กเล็ก ยังคงมีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด...