การพบเจอสังสรรค์เป็นเรื่องที่ทำให้มิตรภาพนั้นแน่นแฟ้นขึ้นเพราะได้พบเจอและพูดคุยกัน แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าแม้จะมีการนัดพบกัน แต่ว่าหลายต่อหลายคนก็เลือกที่จะจ้องสมาร์ทโฟนมากกว่าจะจ้องตากับคู่สนทนา

สุภาวดี ภูสนาม, พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด และโศจิรัตน์ ธัญประทีป นักเรียนจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
ด้วยปัญหาที่กล่าวมานี้ ทำให้เกิดเป็นแนวความคิดของแอพพลิเคชั่น King of Transport ผลงานของ สุภาวดี ภูสนาม, พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด และโศจิรัตน์ ธัญประทีป นักเรียนจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ที่ต้องการจะทำแอพฯ เพื่อเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ของคนใกล้ตัว ด้วยความบันเทิงในเวลาที่มีการรวมตัวกันในโอกาสต่างๆ
ใช้แนวคิดจากปัญหาใกล้ตัว
น้องๆ ทั้งสามคนอยู่ในชมรมคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน ซึ่งแต่ละคนก็มีความสามารถต่างกันไปทางด้านการออกแบบ และการเขียนโค้ด ซึ่งการที่ได้เริ่มเข้ามาทำด้วยกันนั้น เกิดจากอาจารย์ที่ปรึกษามองเห็นศักยภาพของทุกคนและเลือกมารวมทีมกัน เพื่อส่งเข้าประกวดในโครงการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 National Software Contest 2015 (NSC2015)
“แนวคิดการทำแอพฯ นี้ มาจากวิถีการใช้ชีวิต ทุกวันนี้เราติดอยู่กับโลกโซเชียลฯ เกม หรือความสามารรถอื่นๆ บนสมาร์ทโฟน จึงเป็นเรื่องที่ยากถ้าจะวางโทรศัพท์ไว้ไกลตัว หรือไม่หยิบมาดูทันทีหลังจากได้ยินเสียงแจ้งเตือน แต่ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่สะดวก และทำให้คนไกลได้ใกล้กัน แต่อีกปัญหาหนึ่งคือ คนที่ใกล้ก็ไกลออกไปด้วยเช่นกัน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้น่าจะเปลี่ยนไปได้ถ้ามีตัวช่วยที่จะเข้ามาสร้างให้เกิดกิจกรรมร่วมกัน จึงทำให้ออกมาเป็นผลงาน King of Transport โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มคนอายุ 12-15 ปี เพราะเป็นวัยที่สามารถใช้ทักษะการคิดและวางแผนได้เอง”
ด้วยความสามารถที่นำการดำเนินชีวิตมาประยุกต์กับแอพฯ ได้ทำให้ผลงาน King of Transport ได้รับรางวัลต่างๆ มาแล้วมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศการแข่งขัน NSC2015 ในประเภทโปรแกรมเพื่อความบันเทิง ระดับนักเรียน เข้ารอบสุดท้ายโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ปี 3 รางวัลชนะเลิศ โครงการประกวดผลงานซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ (TICTA2015) ในประเภท Secondary Student Project c และยังเป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขัน Asia Pacific ICT Awards 2015 (APICTA2015) ในประเภท Secondary Student Project อีกด้วย
ทุกวันนี้เราติดอยู่กับโลกโซเชียลฯ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่สะดวก และทำให้คนไกลได้ใกล้กัน แต่อีกปัญหาหนึ่งคือ คนที่ใกล้ก็ไกลออกไปด้วย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้น่าจะเปลี่ยนไปได้ถ้ามีตัวช่วยที่จะเข้ามาสร้างให้เกิดกิจกรรมร่วมกัน จึงทำให้ออกมาเป็นผลงาน King of Transport
เน้นการพัฒนาความคิดและวางแผน
ภาพรวมของเกมนี้จะอยู่ในรูปแบบของเกมกระดานเหมือนกับเกมเศรษฐี โดยสามารถมีผู้เล่นได้สูงสุด 4 คน หรือจะเลือกโหมดการเล่นกับคอมพิวเตอร์ก็ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นเกมที่มีเนื้อหาทางด้านความบันเทิงเพื่อช่วยส่งเสริมเรื่องความสัมพันธ์แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องใช้ร่วมกันในเกมนี้คือ ทักษะของการคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจ วางแผนเพื่อให้เป็นผู้ชนะในแต่ละรอบอีกด้วย
“วิธีการเล่นจะสมมติให้ผู้เล่นแต่ละคนมีอู่รถโดยสารของตนเอง ในการเริ่มต้นจะมีเงินและน้ำมันมาให้จำนวนหนึ่ง ผู้เล่นแต่ละคนต้องแข่งกันไปรับผู้โดยสารตามจุดต่างๆ เพื่อรับเงินมาใช้ซื้อเชื้อเพลิงต่อไป ซึ่งผู้เล่นต้องเลือกรถที่จะใช้ไปรับในแต่ละครั้งของการสุ่มคิวตัวเอง โดยพาหนะแต่ละชนิดก็จะใช้น้ำมันไม่เท่ากัน ยิ่งใช้น้ำมันมากระยะการเดินก็สามารถไปได้ไกลขึ้น ถ้าน้ำมันหมดก็ต้องเปลี่ยนไปใช้พาหนะที่ไม่มีน้ำมัน ดังนั้นนอกจากที่ต้องวัดดวงเมื่อเดินไปตามจุดเสี่ยงโชคต่างๆ แล้ว ยังต้องคำนวณให้ดีว่าเราควรใช้รถคันไหน ส่วนนี้ก็จะทำให้ผู้เล่นได้ใช้ทักษะการคิดมากยิ่งขึ้น”
สำหรับการออกแบบดีไซน์เกมจะเน้นเป็นแอนิเมชั่นที่ดูสบายตา ตัวละครพาหนะก็เป็นสิ่งของที่มีอารมณ์ มีตา ปาก โดยคอนเซ็ปต์ก็เป็นแบบไทยๆ มีรถเมล์ ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์ และอื่นๆ ที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตจริง ปัจจุบันมีด่านให้เลือก 2 ด่านคือ ด่านเหมืองและด่านอวกาศ แต่ยังมีฟังก์ชั่นที่สามารถดีไซน์ด่านได้เอง โดยนำทั้งสองด่านมารวมกันได้ด้วย รวมทั้งยังตั้งเงื่อนไขในการเริ่มเกมได้ด้วยตัวเอง อย่างการกำหนดเวลาเล่นทั้งหมด หรือเชื้อเพลิงเริ่มต้น เพื่อให้การแข่งขันในแต่ละครั้งแตกต่างกันออกไป
![]() |
ฉบับที่ 205 เดือนมกราคมNextGen ของโฆษณาบน Mobile |
เก็บประสบการณ์และหวังพัฒนาเยาวชน
เนื่องจากผ่านการเข้าประกวดมาหลายเวที ทำให้ได้นำผลงานชิ้นนี้ไปจัดแสดง และมีผู้เข้ามาร่วมทดลองเล่นที่ให้เสียงตอบรับมาในทางที่ดี ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็ได้เห็นข้อบกพร่องต่างๆ ที่จะนำมาพัฒนาให้แอพฯ นี้สมบูรณ์แบบขึ้นได้ น้องๆ บอกว่า การที่ได้เข้ามาทำตรงนี้ถือว่าเป็นการฝึกประสบการณ์ให้กับตัวเอง อย่างทางด้านการออกแบบเป็นเรื่องที่ชื่นชอบอยู่แล้ว คิดว่าเมื่อมาได้ทำตรงนี้ ก็สามารถเอาไปต่อยอดให้กับตัวเองในอนาคตได้อย่างแน่นอน ส่วนทางการเขียนโค้ดนั้นนับว่ามีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากมายแต่ก็ผ่านจุดนั้นมาได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของตัวเองเช่นกัน
“ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานจริงๆ มันก็มีเรื่องของเวลาส่วนหนึ่ง เพราะว่าด้วยความที่เรียนคนละระดับชั้น การหาเวลาว่างตรงกันมันก็ยาก เราต้องเสียสละหลังเลิกเรียน หรือเมื่อมีเวลาว่างก็เข้ามาพัฒนาตรงนี้ อีกส่วนหนึ่งคือ ตอนที่เริ่มเขียนเกมนี้ เราใช้งานในส่วนของคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อพัฒนามาสู่แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ทำให้ต้องมีการปรับชิ้นงานใหม่แทบทั้งหมด การทำขนาดรูปภาพ ตัวอักษร ไปจนถึงการเขียนโค้ด”
ในส่วนของการต่อยอด ที่ผ่านมาก็ได้มีการเพิ่มวิธีการเล่นให้ดูก่อนเพื่อให้เข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการใช้งาน โดยหลังจากนี้ก็มีแผนที่จะทำให้สามารถเขย่าเพื่อเล่นได้ เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับตัวเกม ผู้เล่นเองก็จะได้สนุกกับเกมมากยิ่งขึ้น
“การที่สร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาเราไม่ได้ต้องการทำเป็นธุรกิจใดๆ แต่ก็หวังการทำตรงนี้นอกจากจะให้ตัวเราเองได้เรียนรู้วิธีการทำงาน ทางตัวผู้เล่นเองจะใกล้ชิดกันมากขึ้น และนำเอาทักษะที่ได้ใช้ในเกมไปประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้”