Mad Puppet Studio ช่องดนตรีปั้นศิลปินยูทูป

“Mad Puppet Studio” ช่อง Music Production บนช่องยูทูปของกลุ่มเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ ได้แก่ ชุติภัทร์ เธียไพรัตน์ (โอ๊ต), เจนพัฒน์ มนตรีเลิศรัศมี (เจน) และณัฐกิตติ์ อังพานิชเจริญ (นัท) 3 หนุ่ม ผู้ร่วมก่อตั้ง Mad Puppet Studio ที่มีใจรักในเสียงดนตรีและนำแพลตฟอร์มยูทูปมาต่อยอดความฝันให้กับตัวเองและผองเพื่อนให้มีเวทีในการโชว์ศักยภาพทางดนตรีให้กับผู้ชมช่องทางผ่านออนไลน์ทั่วโลก

1

ต้องการสร้างมูลค่าให้กับคนทำงาน Music Production และศิลปินนักร้อง ด้วยการสร้างช่องที่ผลิตผลงานเพลงและสร้างสรรค์ดนตรีให้เป็นแบบอย่างแก่คน รุ่นใหม่ ซึ่งไม่อยากให้พวกเขาทำงานดนตรีและออกไปร้องเพลงได้ค่าจ้างกันคนละไม่กี่ร้อยบาท

อยากลองร้องเพลงในแบบที่ชอบ
ชุติภัทร์ เล่าว่า ช่อง Mad Puppet Studio ก่อตั้งมาแล้วขึ้นปีที่ 3 เริ่มจากความถนัดของแต่ละคน ซึ่งผมและเจนทำงานด้านดนตรีทั้งคู่ ส่วนนัททำงานเกี่ยวกับภาพ จึงมาคุยกันว่าอยากทำพอร์ทงานแบบออนไลน์ขึ้นมาเพื่อนำเสนอผลงานสามารถเปิดดูผ่านออนไลน์ได้ทันที ซึ่งยูทูปสามารถให้สร้างช่องของตัวเองและผลิตคลิปวิดีโออัพโหลดไว้บนออนไลน์ได้ เมื่อเริ่มทำช่องขึ้นก็เริ่มชักชวนเพื่อนมาอัดดนตรีเพื่อโพสต์เป็นคลิปลงยูทูป โดยพวกเราทำหน้าที่เป็น Post Production หลังจากเริ่มอัดเพลงโพสต์ลงยูทูป ปรากฏผลตอบรับดีมีคนเข้ามาชมจำนวนมาก ทำให้จากที่คิดว่าเป็นเพียงพอร์ตผลงาน กลายเป็นช่องทางทำงานด้าน Music Production แทน เนื่องจากสนใจทำงานด้านเพลงโปรดักส์ชั่น รวมถึงคอนเทนต์บันเทิง

ตลอด 2 ปีที่ปล่อยคลิปออกมา เห็นถึงฟีดแบ็ก กลับมา ทำให้มีกำลังใจและรู้สึกว่าพวกเรามาถูกทางคือ การทำเพลงในรูปแบบ Music Cover  ในปีนี้จึงคิดว่าจะทำงานตรงนี้แบบจริงจังมากขึ้น เพราะพวกเราเรียนจบกันแล้ว ซึ่งตลอดเวลาในการ ออนแอร์ช่อง Mad Puppet Studio คอนเทนต์ทั้งหมดจะเป็นการนำเพลงของศิลปินต่างๆ มาร้อง Cover ในแบบ Mad Puppet ซึ่งเจนจะเป็นคนดูแลเรื่องดนตรีและการแต่งทำนองขึ้นใหม่ ส่วนผมจะดูแลเรื่องซาวด์เอ็นจิเนียร์ และนัทจะดูแลเรื่องภาพทั้งหมดของคลิป

เจนพัฒน์ เล่าต่อว่า หลังจากนำเพื่อนๆ ศิลปินนักร้องมาร่วมร้องเพลงให้กับช่อง Mad Puppet Studio จนเกิดฐานแฟนเพลงที่ติดตามผลงานต่อเนื่องกลุ่มหนึ่ง และเริ่มมีฟีดแบ็กว่าทำไมไม่ทำเพลงเองให้นักร้องคนนี้ร้องบ้าง ซึ่งมองว่าเป็นผลตอบรับที่ดีและตอนนี้กำลังเริ่มทำงานเพลงของ Mad Puppet Studio เองเช่นกัน โดยมีศิลปินที่คัดเลือกแล้วในการจะผลักดันให้เป็นศิลปินคนแรกคือ ภพ (ไตรภพ)

เพลงเปิดตัวสตูดิโอ
เจนพัฒน์ กล่าวต่อว่า คลิปแรกที่ปล่อยในช่องคือ เพลงเจ้าหญิง โดยเป็นการร้องเพลงลักษณะ Dumb Duo  ซึ่งเราไม่มีการซ้อมก่อนอัดคลิปและทำยังไงก็ได้ให้เล่นจนจบเพลงนี้คือ คอนเซ็ปต์ของ Dumb Duo  การเล่นเพลงแบบนี้เกิดจากเพื่อนโรงเรียนเดียวที่ไม่ได้เจอกันนาน เมื่อมาเจอกันก็จะเล่นดนตรีด้วยกัน ซึ่งการเล่นเพลงลักษณะนี้จะมีเสน่ห์เฉพาะ คือคล้ายกับเป็นการดวลทักษะทางด้านดนตรีระหว่างกันว่าใครจะสามารถเอาตัวรอดกับสถานการณ์ที่เพื่อนจะส่งทำนองเพลงโน้ตตัวไหนตัวไหนมาให้ในท่อนถัดไป และนี่คือผลงานแรกที่เผยแพร่ออกสู่ช่องทางยูทูปโดยไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะอยากทำแชร์ให้กับเพื่อนๆ ดู

สิ่งแรกที่คิดไว้อยากทำเพลงให้ออกมาดีทั้งภาพ เสียง และดนตรี จึงทำให้มุ่งเน้นการผลิตคอนเทนต์ในฐานะ Music Production โดยใช้ความสามารถของแต่ละคนมาผสมผสานให้เกิดแนวเพลง Cover ในแบบของ Mad Puppet  และหลังจากปล่อยเพลง Cover ออกมาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่เรารู้สึกเดินมาถูกทางในแบบที่เป็นตัวของเรา คือเมื่ออัพโหลดเพลง Avenue เวอร์ชั่น Cover โดยน้องใบเตย ซึ่งเป็นนางเอกมิวสิคเพลงนี้ มาร้อง Cover ให้หลังจากพี่วงวัชราวลีปล่อยเพลงนี้ออกมาให้ฟังเพียง 3 วัน การวางแผนปล่อยคอนเทนต์แบบนี้ ทำให้ช่อง Mad Puppet Studio เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และตอนนี้เพลงนี้ยังเป็นเพลงที่มียอดวิวเป็นอันดับสองของช่อง

e199

ฉบับที่ 199 เดือนกรกฏาคม

YouTuber นักสร้างสรรค์โฆษณาดิจิตอล

ทำตามฝันแบบนักสร้างสรรค์ดนตรี
ชุติภัทร์ เล่าว่า การทำงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมา บนช่อง Mad Puppet Studio ถือเป็นงานอดิเรกและการลองผิดลองถูกในการทำงานที่เราฝันไว้จนเกิดการตกผลึกในสายงานที่ตัวเองรัก โดยตั้งเป้าแต่แรกว่าถ้าลงมือทำแล้วมันประสบความสำเร็จในแบบที่คิดไว้จะสานต่อความฝันอย่างจริงจังกันต่อไปหลังเรียนจบ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี Youtube.co.th จึงห่างไกลกับภาพของ YouTube ด้วย ทำให้ไม่ได้มองถึงการต่อยอดคอนเทนต์ในแง่ของธุรกิจ

ตอนนี้ทั้งหมด 86 คลิปวิดีโอ จากทั้งหมด 2 Chanel ซึ่งช่องที่สองทำขึ้น เพื่อรวบรวมคอนเทนต์ที่เป็น Behind and The Scene ของช่อง Mad Puppet Studio

ชุติภัทร์ เล่าต่อว่า เราใส่ใจทุกขั้นตอนของการทำคอนเทนต์ตั้งแต่การเลือกเพลง นักร้อง การอัดเสียง รวมถึงการจัดไฟเพื่อให้ภาพที่ออกมาสวย ซึ่ง Mad Puppet Studio ถือเป็นชาแนลแรกที่ทำคอนเทนต์รูปแบบ Music Production บนยูทูปไทย โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก เคิร์ท ฮิวโก้ ชไลเดอร์ ซึ่งเป็นนักแต่งเพลง ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ มิวสิควีดีโอ และเพลง ที่เปิดช่องส่วนตัวเพื่อเผยแพร่ผลงานบนยูทูปตั้งแต่ปี 2550 ประทับใจในผลิตผลงานทางดนตรีของเขา ซึ่งทั้งผมและนัทจะอินกับเคิร์ทมาก ยกเว้นเจนที่เพิ่งมารู้จักเคิร์ทอย่างจริงจังไม่นาน

เจนพัฒน์ เล่าต่อว่า โอ๊ตและนัท แนะนำให้เข้าไปดูคลิปของเคิร์ทเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่ด้วยผมศึกษาและทำแนวเพลงแจ๊สจึงไม่ได้สนใจมากตอนนั้น และปีนี้ยูทูปประเทศไทยได้เชิญเคิร์ทมาในงานครบรอบ 1 ปี ซึ่งผมได้ถูกเชิญเข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย จึงได้เข้าไปดูผลงานของเขาและเกิดแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานให้ได้คุณภาพเช่นเคิร์ท เหมือนเช่นโอ๊ตและนัทเคยรู้สึกมาก่อนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ชุติภัทร์ เล่าต่อว่า การเลือกเพลงจะมาจากความชอบก่อน และเห็นว่าศิลปินคนนี้น่าจะเหมาะกับเพลงที่เราอยากนำเสนอ แต่จะมีบางที น้องมาขอให้ทำเพลง เพื่อร้องในช่อง Mad Puppet ซึ่งให้เหตุผลว่าชื่นชอบในการทำโปรดักส์ชั่น  ซึ่งทำให้น้องๆ มีพอร์ตงานที่มีคุณภาพด้วย นอกจากเสียงร้อง

การเลือกเพลงที่ชอบ เพื่อทำเพลงอัพโหลดขึ้นบนยูทูป ถึงแม้เป็นเพลง Cover และไม่ได้ทำการขายเหมือนค่ายเพลง แต่การทำงานขึ้นมาสักชิ้น ทีมงานก็ต้องการให้ผลงานได้มีผู้เข้ามาชม เข้ามากดดูคลิปวิดีโอที่ตั้งใจผลิตกันขึ้นมา ดังนั้น นอกจากการเลือกเพลงที่ชอบจะยังคำนึงถึงการหยิบเพลงในกระแสมาทำด้วย เพื่อสร้างฐานผู้ชมผลงาน เพราะถึงแม้เล่นดนตรีเก่งขนาดไหน แต่ถ้าไม่สามารถเข้าถึงคนฟังได้ก็ถือว่าล้มเหลวในการผลิตผลงานเช่นกัน

ถึงแม้จุดประสงค์การทำงานเพลงออกมาไม่ได้คาดหวังว่าจะมียอดวิวเป็นหลักล้าน แต่การได้รับผลตอบรับจากกดไลค์และยอดวิวคือ กำลังใจให้กับคนทำงานได้มีพลังในการสร้างสรรค์งานต่อไป แต่ไม่ใช่เพลงในกระแสทุกเพลงจะถูกหยิบมาเล่นบนช่องของพวกเรา เช่น เพลงคิดถึง ของบอดี้สแลม ที่โด่งดังมาก ซึ่งถ้าตอนนั้นเราหาศิลปินที่จะมาร้องเพลงคิดถึงได้ในแบบที่ Mad Puppet ต้องการ ก็จะไม่ทำ Cover ออกมา เพราะต้องการให้คนฟังเห็นถึงความแตกต่างจากต้นฉบับจริงๆ เนื่องจากคำว่าเพลง Cover คือการทำเพลงทางเลือกให้ผู้ฟังได้ลองฟังในเวอร์ชั่นที่แตกต่างออกไป

2

เราจะสร้างศิลปินขึ้นเป็นของตัวเอง โดยตั้งแต่แต่งเพลง ทำนอง ดนตรี เหมือนกับการปั้นศิลปินคนหนึ่งของค่ายเพลงเลย ซึ่งคาดว่าจะเป็นรายได้จากผลงานเพลงของพวกเราอย่างแท้จริง

มีการติดต่อจากน้องๆ เข้ามาต่อเนื่องในการขอเป็นส่วนหนึ่งในช่องของเรา แต่ Mad Puppet ไม่สามารถเปิดโอกาสให้กับทุกคนได้เข้ามาเป็นศิลปินในช่องได้ เนื่องจากบางคนเราไม่สามารถมองภาพที่ชัดเจนในตัวน้อง เพื่อนำมาสร้างสรรค์เพลง Cover แบบที่ต้องการได้ แต่ไม่ใช่น้องไม่เก่ง เป็นเพราะประสบการณ์ของเราที่ไม่มากพอจะช่วยดึงศักยภาพของน้องในการทำเพลง Cover ให้โดดเด่นได้ ซึ่งตอนนี้พวกเราพยายามเร่งพัฒนาศักยภาพในการผลิตผลงานเพลงควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้สามารถปั้นศิลปินได้มากขึ้น

“เด็กรุ่นใหม่ที่เป็นแฟนช่อง Mad Puppet คาดหวังว่า ช่องของเราจะสามารถช่วยให้เขาแจ้งเกิดในวงการเพลงได้ และส่วนหนึ่งดูการทำงานเพลงของพวกเราเป็นแรงบันดาลใจด้วย ซึ่งผมค่อนข้างชอบคำว่า แรงบันดาลใจ” ชุติภัทร์ กล่าว

 

ช่องแห่งแรงบันดาลใจ
ชุติภัทร์ เล่าต่อว่า ปีนี้ Mad Puppet จะเริ่มจริงจังกับการทำงานดนตรีผ่านแพลตฟอร์มยูทูป ซึ่งกำลังกำหนดทิศทาง และวางแผนด้านกลยุทธ์ เพื่อจะนำพาช่อง Mad Puppet เติบโตและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นบนยูทูปและโลกออนไลน์ โดยมองว่าจะสร้างบุคลิกของช่องให้เป็นช่องแห่งแรงบันดาลใจของคนทำดนตรี เมื่อคนที่เข้ามาฟังและชมคลิปวิดีโอจะได้ จุดประกายไอเดียใหม่ๆ ในการนำไปต่อยอดในการสร้างสรรค์งานในแบบของพวกเขา เนื่องจากภายในช่องของเราจะมีศิลปินและนักดนตรีหลากหลายผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาร่วมทำงานดนตรี จึงทำให้ผู้ฟังได้เห็นความหลากหลายของคอนเทนต์ที่เกิดขึ้น

“ผมต้องการสร้างมูลค่าให้กับคนทำงาน Music Production และศิลปินนักร้อง ด้วยการสร้างช่องที่ผลิตผลงานเพลงและสร้างสรรค์ดนตรีให้เป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่อยากให้พวกเขาทำงานดนตรีและออกไปร้องเพลงได้ค่าจ้างกันคนละไม่กี่ร้อยบาท”

สิ่งหนึ่งที่วางแผนไว้จะทำคลิปทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เพื่อนำเสนอในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงแต่ละคลิปของช่อง Mad Puppet ว่าไม่จำเป็นต้องลงทุนอุปกรณ์ราคาแพง มีเพียงสมาร์ทโฟนกันคนละเครื่องสามารถตั้งมุมกล้องเพื่อทำการบันทึกภาพและเสียงได้แล้ว โดยเราจะทำคลิปสอนออกมาในภาพที่ถ่ายทำเสร็จ และเบื้องหลังการถ่ายทำคลิปนั้น นี่คือสิ่งแรกที่จะทำขึ้นเพื่อจุดประกายให้กับน้องๆ ที่ต้องการสร้างงาน Music Production ด้วยตัวเอง

ทำไมคนต้องกด Sub
ณัฐกิตติ์ กล่าวว่า ถ้าคนชอบงาน Production ที่มีทั้งภาพสวย เสียงดี และดนตรีอยากให้ลองเข้ามาดูช่อง Mad Puppet  Studio แห่งนี้ ในฐานะคนทำภาพทั้งหมดของแต่ละคลิป สิ่งที่คิดเสมอคือ ทำอย่างไรให้นำเสนอภาพออกมาดีที่สุดในตอนนั้นเพราะเราบันทึกภาพและเสียงแบบ สดเลย หรือเรียกว่า Live Music ซึ่งจะต้องนำเสนอภาพให้คนดูรู้สึกสนุกกับการแสดงมากที่สุด และอาจมีการใส่ลูกเล่นเข้าไปในคลิปเพิ่มเติมด้วย

ผู้ชมจะได้เห็นภาพคลิปวิดีโอเพลง Cover ที่ได้อารมณ์เหมือนการเล่นสดบนยูทูป ซึ่งจะไม่ค่อยมีช่องที่ทำเพลงแนว Cover ทำแนวนี้เท่าไร เพราะมองว่าการทำ Music Production อัดขึ้นยูทูปสามารถนำภาพและเสียงแยกกันและมาปรุงแต่งให้เนี๊ยบได้ Mad Puppet  Studio ตั้งใจถ่ายทอดภาพ เสียง และดนตรีให้ออกมาดีที่สุดพร้อมกันและทำการบันทึกมันออกมา เจนพัฒน์ กล่าวเสริม

ก้าวต่อไป
เจนพัฒน์ เล่าว่า ตอนนี้ที่จะจริงจังกับอาชีพนี้ต่างคนต่างนำเงินก้อนที่ขอพ่อแม่หลังเรียนจบ ซึ่งบางคนอาจขอเป็นรางวัลเพื่อไปท่องเที่ยวตามความฝันหลังเรียนจบก่อนจะเริ่มต้นทำงาน แต่สำหรับพวกเราความฝันคือ การสร้างงานทางด้าน Music Product ให้เกิดขึ้น จึงตัดสินใจกันว่าจะลองลงทุนแบบทุ่มสุดตัวร่วมกัน เพื่อทำให้ความฝันเป็นจริงสุดท้ายผลออกมายังไงถือว่าเป็นประสบการณ์ และทำให้รู้ว่าพวกเรามีศักยภาพกันแค่ไหน

ชุติภัทร์ เล่าต่อว่า เริ่มมองแผนการตลาดมากขึ้นให้กับทางช่อง Mad Puppet อย่างแรก เราจะสร้างศิลปินขึ้นเป็นของตัวเองโดยตั้งแต่แต่งเพลง ทำนอง ดนตรี เหมือนกับการปั้นศิลปินคนหนึ่งของค่ายเพลงเลย ซึ่งคาดว่าจะเป็นรายได้จากผลงานเพลงของพวกเราอย่างแท้จริง และการสร้างคอนเทนต์เพื่อให้เกิดการ Tie-in สินค้าได้บ้าง เช่น คลิป How to ในการสอนทำงานด้าน Production เป็นต้น

เจนพัฒน์ เผยถึงโปรเจ็กต์ใหม่คือ การทำละครวิทยุบนยูทูป ซึ่งทีมพากย์จะเป็นศิลปินที่เคยมาร่วมร้องเพลงให้กับทาง Mad Puppet  Studio โดยจะถ่ายทำคลิปวิดีโอระหว่างนั่งพากย์ และทำซาวด์เสียงเหมือนกับละครวิทยุสมัยก่อน เพียงแค่ถ่ายทอดการทำงานและให้ทุกคนได้ฟังละครผ่านบนยูทูปในเวลาเดียว สำหรับโปรเจ็กต์นี้เป็นสิ่งที่เรา 3 คน อยากทำตั้งแต่สมัยเรียนการละครด้วยกันแล้ว และคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักละครวิทยุ จึงอยากหยิบมานำเสนอผ่านแพลตฟอร์มที่คนรุ่นใหม่รู้จักนี้

ละครวิทยุบนยูทูปนี้ทาง Mad Puppet  จะทำตั้งแต่เขียนบทละครจนถึงการทำเพลงประกอบละครด้วย ซึ่งการเกิดโปรเจ็กต์ใหม่นี้เป็นการขยายการทำงานในฐานะ Music Production ด้วย เนื่องจากงานทุกงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจะมองการนำเพลง ดนตรี และภาพมาประกอบกันให้เกิดเป็นงานด้านดนตรี หรือเพลงที่มีคุณภาพและเป็นทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่

“ผมคิดว่างานเราไม่จำเป็นต้องโปรโมตมาก เพื่อให้ได้วิวที่เยอะ แต่เชื่อว่าถ้างานเรามีคุณภาพพอคนจะกดเข้ามาชมเอง เพราะสมัยนี้ถ้าใครเจองานดีจะมีการแชร์บอกต่อกันได้ง่ายอยู่แล้วผ่านโลกโซเชียลฯ” ณัฐกิตติ์ กล่าวทิ้งท้าย

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

chatbot
การแชทช่วยให้ข้อมูลสำคัญแก่ธุรกิจ

กรัณย์ วระพงษ์สิทธิกุล CEO บริษัท Mojito Technology แชทบอท กำลังกลายเป็นหนึ่งในช่องทางที่ผู้บริโภคจะใช้สื่อสารกับแบรนด์...

  • Chatbot-Thailand
    เสริมศักยภาพองค์กร ด้วยการใช้เทคโนโลยี Chatbot

    Chatbot จุดเริ่มต้นของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในภาคอุตสาหกรรม การแชทผ่านแอพฯ ในปัจจุบัน เป็นช่องทางที่หลายๆ คนเลือกใช้เป็นช่องทางหลักมากกว่าการโทร หรือส่งอีเมล ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และสามารถตอบกลับกันได้อย่างทันที ซึ่งการใช้ในชีวิตประจำวันอาจจะไม่ได้พบเจออุปสรรคมากนัก  แต่การใช้งานในระดับองค์กรที่ต้องรับข้อความวันละหลายร้อยข้อความ นับว่าเป็นปัญหาที่หนัก และต้องใช้แรงานคนเข้ามาจัดการจำนวนมากเลยทีเดียว การนำระบบแชทบอท...

  • DAAT
    เทรนด์โฆษณาดิจิทัล ธุรกิจความงามเติบโตสูงสุด

    ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) สื่อโฆษณาดิจิทัลเป็นสื่อที่มีบทบาทมากขึ้นในยุคการตลาด 4.0 อีกทั้งรูปแบบของการโฆษณาดิจิทัลก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง...

  • GOOGLE-MOBILESITE
    โมบายล์ไซต์ เชื่อมต่อการค้าบนเดสก์ท็อป

    กิลาน เลอ ฌาเตลิเยร์  ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โซลูชันส์การตลาด Google ไม่กี่ปีที่ผ่านมา...