จากเพจแร็ปเปอร์ชื่อดัง Rap is Now คอมมูนิตี้สำหรับคนที่รักในการแร็ป ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 7.8 แสนราย วันนี้พวกเขา “โจ้-ศวิชญ์ สุวรรณกุล ร่วมด้วย ต้า-สักกพิช มากคุณ และฮอคกี้-เดชาธร บำรุงเมือง” สามารถสร้างรายได้ผ่านธุรกิจออนไลน์ในชื่อ “Rap is Now Store” ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกสำหรับแฟนเพจ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการสร้างสรรค์คอนเทนต์บนคอมมูนิตี้ ไปสู่การสร้างรายได้อย่างลงตัว
Rap is Now Store สินค้าสำหรับคนรักแร็ปเปอร์
โจ้ เล่าว่า Rap is Now Store ร้านค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าของกลุ่ม Rap is Now เริ่มขึ้นในปี 2013 โดยมีสินค้าหลักเป็นเครื่องแต่งกาย ได้แก่ เสื้อผ้า หมวก รองเท้าแตะ รวมไปถึงของที่ระลึกอย่าง ริสแบนด์ และพวงกุญแจ และมีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มวัยรุ่น อายุระหว่าง 18-24 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ติดตามที่มาจากเพจ Rap is Now รวมถึงกลุ่มผู้ที่ติดตามมาจากรายการ Rap Battle
ความตั้งใจแรกเริ่ม เราต้องการให้เป็นสินค้า Exclusive ที่ทำขึ้นสำหรับการแข่งขัน Rap Battle ในแต่ละซีซั่น โดยมี เสื้อยืด เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนของบุคคลได้ง่ายและดีที่สุด ขณะเดียวกันด้วยราคาสินค้าที่ไม่สูงมาก ทำให้กลุ่มลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน สามารถจับต้องได้ง่าย และด้วยความที่โลโก้ของ Rap is Now ไม่ได้ดูเป็นฮิปฮอปโย่วๆ อย่างที่คนชอบล้อกัน ทำให้คนที่ซื้อไปสามารถสวมใส่ง่าย
ใช้แพลตฟอร์มร้านค้าสำเร็จรูปช่วยการขาย
โจ้ กล่าวต่อว่า Rap is Now Store ใช้ BentoWeb เป็นแพลตฟอร์มหลักในการจำหน่ายสินค้า เนื่องจากช่วยอำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอนการขาย ไม่ว่าจะเป็น การรับออเดอร์ การสต็อกสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางจำหน่ายบน LINE เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ควบคู่ไปกับการรับออเดอร์บนเฟซบุ๊ก ผ่านฟีเจอร์เฟซบุ๊กช็อปอีกด้วย
“ช่วงแรกที่เปิดร้าน เราใช้ Inbox ของเฟซบุ๊กเป็นช่องทางการขาย แต่ด้วยการใช้งานที่ค่อนข้างยาก ไม่ตอบโจทย์เรื่องการตอบคำถาม ซึ่งทำให้เรามองหาเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจที่เหมาะสมกับเรา จนไปเจอกับ BentoWeb ค่อนข้างเข้ากับแบรนด์ อีกทั้งยังใช้งานง่าย ซึ่งด้วยความที่ผมเรียนด้านดีไซน์มา ก็ไม่รู้ว่าร้านค้าออนไลน์บริหารจัดการกันอย่างไร หน้าร้านเราก็ไม่มี พอมาเจออะไรที่เป็นอัตโนมัติ ทำให้เรารู้สึกว่ามันง่ายและตอบโจทย์” โจ้ กล่าว
เราไม่สามารถขายของแบบฮาร์ดเซลล์ได้ แม้ว่าแฟนเพจส่วนมากจะเข้าใจว่า สินค้าที่จำหน่ายเป็นการต่อยอดมาจากการทำคอนเทนต์ต่างๆ บนเพจ เพราะถ้าไม่มีคอนเทนต์ สินค้าก็ขายไม่ได้
ให้ Influencer ช่วยสื่อสารกับเป้าหมาย
ฮอคกี้ เล่าต่อว่า สำหรับปัญหาในการทำธุรกิจ เป็นเรื่องของการสื่อสารทำความเข้าใจกับแฟนเพจ ในขั้นตอนของการสั่งซื้อสินค้าบนออนไลน์
“กลุ่มเด็กที่ติดตามเราบางส่วน เขาชินกับวิธีการทักแชตผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งจะมาบ่นว่าระบบสั่งซื้อออนไลน์มันยากจัง แม้ว่าเราจะให้รายละเอียดขั้นตอนการสั่งซื้อไว้แล้วก็ตาม แต่ปัญหาจริงๆ คือ ความไม่เข้าใจการใช้เทคโนโลยีของพวกเขา บางคนใช้โซเชียลมีเดียเป็น แต่พอเจอเว็บไซต์ที่หน้าตาแปลกไป จะเริ่มรู้สึกว่าใช้งานยาก ไม่รู้ว่าจะสั่งซื้อสินค้ายังไง แต่ทั้งนี้ลูกค้าส่วนมากจะเข้าใจ หรือบางคนก็ให้ผู้ปกครองเป็นคนสั่งซื้อให้” ฮอคกี้ กล่าว
นอกจากนี้ Rap is Now Store ยังใช้ Influencer ศิลปิน-คนดัง รวมถึงรีวิวจากลูกค้า มาเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตร้านค้า ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น และได้รับผลตอบรับในด้านของการสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้น
![]() |
ฉบับที่ 217 เดือนมกราคมเรียนรู้ชีวิตดิจิทัล เยาวชน 4.0
|
“พอเราโพสต์รูปรีวิวจากลูกค้า หรือศิลปินที่สวมใส่สินค้าเราไป อย่างเช่น ต่อ-ธนภพ Hormones, เก้า-สุภัสสรา ที่ใส่หมวกของเรา หรือพี่เวย์ ไทเทเนียม ที่แม้ว่าเราจะไม่ได้ส่งสินค้าให้เขา แต่เขากลับใส่เสื้อของเราแล้วถ่ายภาพลงโซเชียลฯ ซึ่งหลังจากโพสต์แล้วจะมีคนเข้ามาถามหาสินค้าทันที อย่างไรก็ตาม ในการเลือก Influencer จะต้องเลือกบุคคลที่เหมาะกับแบรนด์เรา และเขาจะต้องชอบสินค้าเราด้วย เราจะไม่ทำเหมือนจ้างเน็ตไอดอลขายของ ซึ่งเป็นเรื่อง Brand Image” โจ้ กล่าว
เตรียมทำโปรโมชั่นเรียกลูกค้า
สำหรับแผนการขยายธุรกิจในอนาคต Rap is Now จะออกแบบเสื้อยืด เพื่อจะวางจำหน่ายสำหรับการแข่งขัน Rap Battle ซีชั่นที่ 3 นี้ ซึ่งแฟนๆ จะได้เห็นการทำเสื้อในแบบที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น เสื้อยืด เสื้อกล้าม เสื้อครอปสำหรับผู้หญิง เป็นต้น โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแร็ปเปอร์ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน นอกจากนี้ยังวางแผนจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าให้มากขึ้น หลังจากที่ผ่านมา ได้เซลล์สินค้าเป็นครั้งแรก และปรากฏว่าได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี สามารถสร้างยอดขายได้เพิ่มมากขึ้น
“ที่ผ่านมาเราไม่เคยซื้อโฆษณา หรือจ่ายเงิน Boost Post บนเฟซบุ๊ก เราใช้วิธีการสื่อสารแบบออแกนิคล้วนๆ เนื่องด้วยความเป็นคอมมูนิตี้ ทำให้เราไม่สามารถขายของแบบฮาร์ดเซลได้ แม้ว่าแฟนเพจส่วนมากจะเข้าใจว่า สินค้าที่จำหน่ายเป็นการต่อยอดมาจากการทำคอนเทนต์ต่างๆ บนเพจ เพราะถ้าไม่มีคอนเทนต์ สินค้าก็ขายไม่ได้ ขณะเดียวกัน ด้วยความที่เราไม่ได้วางตัวเองให้เป็นแบรนด์แฟชั่น แต่เราเป็นแบรนด์ที่ทำสินค้าขึ้น เพื่อซัพพอร์ตศิลปินและรายการ เราจึงให้ความสำคัญเรื่องของการขายพอๆ กับการรักษาคอมมูนิตี้” พวกเขากล่าวทิ้งท้าย