ธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital หรือ VC) เป็นธุรกิจบริหารเงินร่วมลงทุนในลักษณะกองทุนระยะยาว โดยที่กองทุนดังกล่าวเข้าไปซื้อหุ้นในกิจการใดๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เพื่อที่ในอนาคตกองทุนนั้นจะได้ถอนการลงทุน โดยมีผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่าความเสี่ยง ดังนั้น Venture Capital ส่วนใหญ่จะมุ่งหวังที่จะให้กิจการนั้นๆ สามารถพัฒนาจนพร้อมที่จะจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นตลาดทุนที่สามารถรองรับการถอนการลงทุนผ่านการขายหุ้นของ VC และรองรับการขยายตัวของกิจการได้ในอนาคต
โดย Venture Capital ส่วนใหญ่จะมีการลงทุนระยะยาวประมาณ 3-5 ปี ซึ่งนอกเหนือจากการสนับสนุนทางด้านการเงินแล้ว VC ยังเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน รวมถึงการให้คำปรึกษาและช่วยชี้แนวทางในด้านต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจที่ได้รับเงินร่วมลงทุนสามารถที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และ Venture Capital แต่ละรายนั้น อาจจะมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันไป บางกองทุนก็ลงทุนในอุตสาหกรรมไอที อินเทอร์เน็ต แอพพลิเคชั่น เทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร การเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น บางกองทุนก็ดูวัฏจักรอายุของบริษัทที่จะลงทุนเป็นหลัก เช่น ระยะเริ่มกิจการ (Start-up) ระยะกำลังพัฒนา (Expansion) หรือระยะปรับปรุงโครงสร้างกิจการ (Turn-around) เป็นต้น
สิ่งที่ VC ต้องการจากผู้ประกอบการ ปูทางสู่การร่วมลงทุน
ปกติแล้ว Venture Capital มักจะพิจารณาคุณสมบัติหลักจากผู้ประกอบการ คือผู้บริหารและความสามารถในการบริหารเป็นข้อที่สำคัญที่สุด ความเป็นเอกลักษณ์และความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ ความสามารถแบบก้าวกระโดดในการเจริญเติบของธุรกิจนั้น ซึ่งจะทำให้การลงทุนนั้นได้ผลตอบแทนที่สูง โดยเมื่อ VC ลงทุนในบริษัทใด VC ไม่ต้องการที่จะเข้าไปบริหารกิจการดังกล่าว ดังจะเห็นได้ว่า ประเด็นหลักในการพิจารณาการลงทุนก็คือ ความสามารถในการบริหารของผู้ประกอบการที่จะทำให้บริษัทสามารถที่จะมีผลประกอบการไปตามแผนการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจะต้องมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอุปสงค์ของสินค้าหรือบริการที่จะผลิตหรือให้บริการว่ามีตลาดความต้องการสูง และผู้ประกอบการจะต้องมีความสามารถในการ แสดงให้ VC เห็นว่า ผลิตภัณฑ์นั้นดีกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในธุรกิจนั้นๆ เช่น ต้นทุนถูกกว่า เร็วกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า หรือประสิทธิภาพดีกว่า และมีความสามารถที่จะรักษาความเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ในระยะยาว
![]() |
ฉบับที่ 198 เดือนมิถุนายนไอทีเชื่อมสู่ท้องถิ่นแบบ Social Enterprise |
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรที่จะมีแผนงานที่เห็นได้ชัดว่า บริษัทจะไปในทิศทางใด โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงและหนทางแก้ไขต่างๆ ในอีก 2-5 ปีข้างหน้า อีกทั้งมีทางถอนการลงทุนที่ชัดเจนให้กับ VC ด้วย เช่น การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การทำ Management Buyout (MBO) หรือการขายบริษัทให้กับ Strategic Partner อาจจะเป็นการขายบางส่วนหรือทั้งหมด ผู้ประกอบการจะต้องสามารถแสดงให้ VC เห็นว่า การลงทุนของกองทุนนั้นๆ มีโอกาสที่เป็นไปได้ที่จะได้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาที่กำหนด ส่วน VC นั้นจะพยายามช่วยเสริมในส่วนที่ผู้ประกอบการนั้นยังขาดอยู่ เช่น ทางด้านการเงิน กฎหมาย และการพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น
VC คนไทย ของ 4 หนุ่ม นักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง
บริษัท ไอยรา วีซี จำกัด หรือไอยรา เวนเจอร์ แคปปิตอล (IYARA Venture Capital) เป็นหนึ่งในบริษัทร่วมลงทุนรายใหม่ของไทย ที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ก่อตั้ง 4 คน ได้แก่ อภิชัย สกุลสุริยะเดช, สมบูรณ์ ศุขีวิริยะ, วิษณุพงษ์ วงศ์วาสน์ และฉัตรชัย โตเลิศมงคล ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์การทำงานอยู่ในวงการธุรกิจด้านเทคโนโลยีและการลงทุนมายาวนาน และได้เล็งเห็นถึงการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพในการขยายและยกระดับธุรกิจซอฟต์แวร์ของประเทศไทยให้ก้าวไกล
โดยในประเทศไทยมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ได้ทำงานวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังขาดเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ และประสบการณ์ ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการทำตลาดสู่วงกว้าง ซึ่งไอยรา เวนเจอร์ แคปปิตอล จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพเหล่านี้ ด้วยจุดแข็งในด้านเครือข่ายและประสบการณ์ด้านธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม
นอกเหนือจากการระดมทุนแล้วเรายังจะช่วยวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมสำหรับแนวทางการแก้ปัญหาของเหล่าสตาร์ทอัพ วางแผนให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าอย่างมีศักยภาพ
อภิชัย สกุลสุริยะเดช หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ไอยรา เวนเจอร์ แคปปิตอล กล่าวว่า วัตถุประสงค์การจัดตั้ง ไอยรา เวนเจอร์ แคปปิตอล เป็นไปเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจซอฟต์แวร์ไทย การสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพ สร้างเสริมผลกำไรสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน ส่งเสริมและขับเคลื่อนธุรกิจซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
ไอยรา เวนเจอร์ แคปปิตอล มีความตั้งใจเป็นตัวกลางในการนำกลุ่มนักลงทุนและกลุ่มสตาร์ทอัพมาเจอกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีโอกาสลงทุนในธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ มีศักยภาพที่ดีและให้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้กลุ่มสตาร์ทอัพมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะมีผลการสร้างการเติบโตทางธุรกิจของตนและประเทศไทย
ด้วยประสบการณ์ที่แข็งแกร่ง และหลากหลาย
ทางด้าน วิษณุพงษ์ วงศ์วาสน์ อีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ไอยรา เวนเจอร์ แคปปิตอล ให้ข้อมูลเสริมว่า ผู้ก่อตั้งของไอยรามีประวัติอันยาวนานและประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เกี่ยวกับเทคโนโลยีโซลูชั่นในอุตสาหกรรมที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ค้าปลีก ร้านอาหาร ธนาคาร หรือภาครัฐต่างๆ โดยเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันดีเกี่ยวกับผู้ให้บริการโซลูชั่น ซึ่งทางไอยราเข้าใจความยากลำบากในปัจจุบันของอุตสาหกรรมเหล่านี้ และสามารถที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาของเหล่าสตาร์ทอัพให้เข้ากับความต้องการของ อุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องมีเครือข่ายขนาดใหญ่ที่จะสามารถเชื่อมต่อและแก้ปัญหาได้อย่าง แท้จริงของอุตสาหกรรม
มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไอยราแตกต่างจากธุรกิจร่วมทุนอื่นๆ เพราะนอกเหนือจากการระดมทุนแล้วเรายังจะช่วยวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมสำหรับแนวทางการแก้ปัญหาของเหล่าสตาร์ทอัพ วางแผนให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าอย่างมีศักยภาพ นอกจากนี้ส่วนหนึ่งจากเครือข่ายขององค์กรในอุตสาหกรรม ไอยราได้จัดตั้งความสัมพันธ์การทำงานที่มีขนาดใหญ่หลายๆ ธุรกิจเงินร่วมลงทุนใน Silicon Valley และส่วนต่างๆ ของเอเชีย เพราะเราเข้าใจว่า ธุรกิจด้านเทคโนโลยีอาจต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างทั้งในส่วนของเงินทุนและผ่านเครือข่ายของเรา ก็จะมีโอกาสที่จะเพิ่มเงินทุนเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ทีมผู้ก่อตั้ง ไอยรา เวนเจอร์ แคปปิตอล ทั้ง 4 คน ต่างมีประสบการณ์การทำงานอยู่ในวงการธุรกิจด้านเทคโนโลยีและการลงทุนมายาวนาน โดย อภิชัย สกุลสุริยะเดช กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มเอสแอล ซอฟต์แวร์ จำกัด เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ให้กลุ่มธนาคารและหน่วยงานภาครัฐ, ฉัตรชัย โตเลิศมงคล จากบริษัท ซินเนเจอร์เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นไอทีและพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจค้าปลีก, สมบูรณ์ ศุขีวิริยะ ประธานบริษัท โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์โซลูชั่นด้านการโรงแรม และวิษณุพงษ์ วงศ์วาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอด้าซอฟท์ จำกัด เป็นผู้พัฒนาระบบ POS หรือระบบบริหารร้านค้าปลีก
หวังเปิดช่องทางความสำเร็จ ให้กับวงการธุรกิจสตาร์ทอัพของไทย
จุดเด่นของไอยรา เวนเจอร์ แคปปิตอล คือ การมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ การลงทุน และการบริหารจัดการความเสี่ยงจากเครือข่าย ทำให้สามารถเลือกสรรเทคโนโลยี โซลูชั่นที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมต่างๆ นั่นหมายถึง “สตาร์ทอัพ” ที่ได้รับการเข้าไปลงทุน จะสามารถใช้งานได้จริงในธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยไอยราทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในโครงการที่ลงทุนเพื่อช่วยบ่มเพาะและเสริมสร้างประสิทธิภาพ ความเข้มแข็งและมั่นคงให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับทุกฝ่าย ทั้งนี้ ไอยราตั้งเป้าการลงทุนในสตาร์ทอัพไว้ที่ 100 ราย ภายใน 5 ปี
โดยปกติแล้ว VC จะได้รับและเห็นแผนธุรกิจเป็นจำนวนมาก และอาจจะได้รับโมเดลทางธุรกิจในธุรกิจที่คล้ายคลึงกันในเวลาเดียวกันหลายแผน ดังนั้น ความคิดทางธุรกิจที่ดีจึงเป็นเพียงแค่ก้าวแรก
ไอยรา เวนเจอร์ แคปปิตอล เปิดกว้างในการรับกลุ่มนักลงทุนทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ เพื่อมาร่วมบนเส้นทางในการสรรค์สร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทย ขณะเดียวกัน ไอยราจะลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา คือ 1) กลุ่มสตาร์ทอัพที่อยู่ในระหว่างพัฒนาซอฟต์แวร์เกือบแล้วเสร็จ (75 เปอร์เซ็นต์) 2) กลุ่มสตาร์ทอัพที่พัฒนาซอฟต์แวร์สตาร์ทอัพแล้วเสร็จ (100 เปอร์เซ็นต์) และกำลังเตรียมแผนออกสู่ตลาด และ 3) กลุ่มสตาร์ทอัพที่พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ออกสู่ตลาดแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยกลุ่มสตาร์ทอัพจะต้องนำเสนอเอกสารโครงการให้ไอยราพิจารณา เพื่ออนุมัติวงเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดในแต่ละรายการสนับสนุน และคาดว่าจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ 5-10 เท่าของเงินทุนทั้งหมด
เขียนแผนธุรกิจให้เป็นที่สนใจของ Venture Capital
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าใจว่า ความคิดทางธุรกิจที่ดีจะเป็นที่น่าสนใจของ Venture Capital แต่โดยปกติแล้ว VC จะได้รับและเห็นแผนธุรกิจเป็นจำนวนมาก และอาจจะได้รับโมเดลทางธุรกิจในธุรกิจที่คล้ายคลึงกันในเวลาเดียวกันหลายแผน
ดังนั้น ความคิดทางธุรกิจที่ดีจึงเป็นเพียงแค่ก้าวแรก แต่ VC ต้องการที่จะเห็นแผนชี้นำที่จะแสดงให้เห็นว่า ความคิดนั้นมีหนทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ โดยทั่วไปแล้ว VC มักจะให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และมีประวัติในการดำเนิน ธุรกิจที่มีผลสำเร็จ หรืออย่างน้อยเป็นผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในการเริ่มบริษัทมาก่อน (Start-up)
นอกจากประสบการณ์ของผู้บริหารแล้ว แผนการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ VC จะพิจารณา แผนการที่จะผูกพันธมิตรกับผู้ประกอบการ สำคัญๆ ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ผู้ประกอบการจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ VC เชื่อว่าสามารถที่จะพัฒนาตลาดสินค้าของตนเองได้ การมีรายชื่อหรือสัญญากับลูกค้าที่รอที่จะซื้อสินค้าก็จะทำให้ VC มีความเชื่อมั่นในแผนการตลาดมากขึ้น ถ้ามีหุ้นส่วนจากบริษัทผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นๆ ก็ยิ่งทำให้แผนการการตลาดมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว VC ต้องการที่จะลงทุนในบริษัทที่มีความสามารถในการเจริญเติบโตที่จะเป็นบริษัทใหญ่ได้ในอนาคต ผู้ประกอบการจึงต้องสามารถแสดงให้ VC เห็นว่าตลาดสินค้านั้นเป็นตลาดที่ใหญ่ ถ้าธุรกิจเป็นธุรกิจที่อยู่ใน Niche Market ซึ่งเป็นตลาดขนาดเล็กแล้ว ก็ไม่ควรที่จะหาเงินร่วมลงทุนจาก Professional VC