เปิดศึกเขียนโปรแกรมระดับโลก

sp1-1

รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก (ACM-ICPC World Finals 2016)  จึงนับว่าเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะแสดงศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

sp1-3

ดันนักศึกษาไทยพัฒนาทักษะเขียนโปรแกรม ตอบรับนโยบายรัฐ พัฒนาบุคลากรไอที
เป็นที่ทราบกันดีว่า การแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก ครั้งที่ 40 หรือ ACM-ICPC World Finals 2016 เป็นการแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงและมีการจัดการแข่งขันขึ้นทั่วโลก โดยทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ผ่านเข้าสู่รอบ World Finals จะต้องผ่านการคัดเลือกมาจากการแข่งขัน 3 ระดับ ได้แก่ การแข่งขันระดับท้องถิ่น หรือการแข่งขันภายในประเทศ เพื่อนำผู้ชนะมาแข่งขันต่อในระดับทวีป 6 ทวีป ได้แก่ Africa and Middle East, Asia, Europe, Latin America, North America และ South Pacific ก่อนเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศระดับโลก หรือ World Finals ซึ่งในครั้งนี้ มีทีมตัวแทนมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น 128 ทีม จาก 40 ประเทศ โดยมีตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม 2 ทีม ได้แก่ ทีมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง  รองนายกรัฐมนตรี

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี

ในพิธีเปิดการแข่งขัน พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธี โดยกล่าวว่า รัฐบาลได้ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศของไทย ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในระดับโลก แต่ยังเป็นการส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นักวิชาการ และนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ของไทย ให้สามารถสร้างผลงานการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาคมโลก

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ. กล่าวว่า ในการจัดการแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลกครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเขียนโปรแกรมที่จะนำไปใช้ในโจทย์ชีวิตประจำวัน และช่วยยกระดับระบบการเรียนการสอน รวมถึงงานวิจัยด้านคอมพิวเตอร์ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากการเขียนโปรแกรมแล้ว ผู้เรียนยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชม รวมถึงภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้อีกด้วย

“เรามีการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้มานานกว่า 1 ปี หลังจากที่ได้เดินทางไปศึกษาดูงานในการเป็นเจ้าภาพของประเทศรัสเซียเมื่อปี 2556 เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้านไอที เพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ กล่าว

sp1-2

ทีม CUCP Meow Meow:3 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถคว้ารางวัล First to Solution ไปได้ หลังจากเป็นทีมแรกที่สามารถแก้ไขโจทย์ปัญหาข้อ C ได้ในเวลาเพียง 11 นาท

เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท คว้าแชมป์โลก คาดปี 2020 มีนักพัฒนา 25 ล้านคนทั่วโลก
ในรอบ World Finals ผู้เข้าแข่งขันต่างมีเป้าหมายสูงสุดคือ การคว้าแชมป์โลก ซึ่งทีมที่จะสามารถเอาชนะคู่แข่งได้นั้น จะต้องแก้ไขโจทย์ปัญหาที่มีลักษณะเป็นปัญหาด้านคณิตศาสตร์ และจำลองปัญหาจากชีวิตจริง จำนวน 12-15 ข้อ โดยใช้ขั้นตอนวิธี หรืออัลกอริธึมต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา ด้วยการเขียนโปรแกรมที่ใช้ภาษา C/C++ และ JAVA จากนั้นส่งคำตอบผ่านระบบตรวจโปรแกรมอัตโนมัติ เมื่อโจทย์ปัญหาที่ส่งถูกต้อง จะมีการนับคะแนนและจัดอันดับการแข่งขัน โดยดูจากจำนวนข้อที่ทำได้เป็นหลัก ซึ่งหากจำนวนข้อเท่ากัน ทีมใดที่ทำเวลาได้น้อยกว่าจะเป็นผู้ชนะ เรียกได้ว่า เป็นการประลองความสามารถในการเขียนโปรแกรม ที่ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด สภาวะความกดดัน ความเร็วในการเขียนโปรแกรม รวมถึงความถูกต้องแม่นยำอีกด้วย

ทีมเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท

ทีมเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท

หลังจากแข่งขันต่อเนื่องนานกว่า 5 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า ทีมมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท จากประเทศรัสเซีย สามารถเอาชนะคู่แข่ง แก้โจทย์ปัญหาได้สำเร็จถึง 11 ข้อ โดยพวกเขาได้รับรางวัลเป็นถ้วยแชมป์ และเงินรางวัลกว่า 16,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 545,000 บาท โดยมีทีมจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ทีมมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และทีมสถาบันฟิสิกส์และเทคโนโลยีมอสโคว รั้งอันดับ 2, 3 และ 4 ในการแข่งขัน และได้รับรางวัลเหรียญทอง

ทั้งนี้ เจอรัลด์ เลน ผู้บริหารและอำนวยการการสนับสนุน ACM-ICPC จากไอบีเอ็มโอเพ่นเทคโนโลยีและไอพี กล่าวว่า ไอบีเอ็มรู้สึกยินดีที่ได้เห็นการรวมตัวของนักศึกษาระดับหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก และมีโอกาสได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีที่จะมีความสำคัญในอนาคต โดยเชื่อว่านักศึกษาเหล่านี้จะเป็นกลจักรสำคัญของอุตสาหกรรม ซึ่งไอบีเอ็มพร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสำคัญต่างๆ เพื่อให้ทุกคนพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นบุคลากรกำลังสำคัญของโลกต่อไป อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่านักพัฒนาทั่วโลกจะมีจำนวนถึง 25 ล้านคนในปี 2020

e210-small

ฉบับที่ 210 เดือนมิถุนายน

FinTech 2.0 การเงินคลื่นลูกใหม่

จุฬาฯ นำทีมคว้ารางวัล First to Solution เชื่อเด็กไทยพัฒนาทักษะด้านไอทีได้
ขณะที่ 1 ใน 2 ตัวแทนจากทีมไทย ก็ไม่น้อยหน้า โดยทีม CUCP Meow Meow:3 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถคว้ารางวัล First to Solution ไปได้ หลังจากเป็นทีมแรกที่สามารถแก้ไขโจทย์ปัญหาข้อ C ได้ในเวลาเพียง 11 นาทีของการแข่งขัน ทั้งนี้ กิตติภณ พละการ, กิตติภพ พละการ และณัท ภวสันต์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมได้มุ่งมั่นอย่างเต็มที่สำหรับการแข่งขัน โดยมีการฝึกทำโจทย์เก่าเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขัน และเมื่อถึงเวลาแข่งขั้นจริงได้วางแผนแบ่งหน้าที่กันภายในทีม และลงมือทำโจทย์แต่ละขั้นตอนอย่างรอบครอบ สำหรับรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้ จะเป็นประสบการณ์และเป็นกำลังใจในการฝึกฝนทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่อไป

ผู้เข้าแข่งขันจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้เข้าแข่งขันจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ สุรฤกษ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอาจารย์ผู้ควบคุมทีม กล่าวว่า การเขียนโปรแกรมถือเป็นพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาให้เข้ามาอยู่ในกิจกรรมประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ทั้งในการติดต่อสื่อสาร รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปัจจุบันบุคลากรที่มีความชำนาญด้านซอฟต์แวร์ยังมีจำนวนน้อย ซึ่งหากประเทศไทยให้ความสนใจในการพัฒนาบุคลากร แหล่งความรู้ รวมถึงทรัพยากรทางด้านนี้เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างทัดเทียม

ผู้เข้าแข่งขันจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้เข้าแข่งขันจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ส่วนทีมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่แม้จะไม่ได้รับรางวัล แต่ ธนาพล อนันตชัยวณิช, ณภัทร ว่องพรรณงาม และอารีฟ วารัม นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. ในนามทีม FEDEX เชื่อว่า การได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับโลก ทำให้พวกเขาได้ฝึกการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบมากขึ้น อีกทั้งการได้พบเพื่อนจากต่างมหาวิทยาลัยยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเองมากยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้รับชัยชนะจากเวทีนี้คือ การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีคิดที่เป็นตรรกะ ทักษะทางคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ รวมไปถึงการทำงานเป็นทีม และการแข่งกับเวลา

นอกจากนี้ ในการแข่งขันยังมีเยาวชนไทย และบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ของไทย กระจายตัวอยู่ในทีมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ลงแข่งขันในนามของประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคลากรของไทยมีความสามารถไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของเด็กไทยในปัจจุบันที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญในเรื่องการเขียนโปรแกรมมากขึ้น เชื่อว่าหากได้รับโอกาสและการสนับสนุนจากภาครัฐ จะทำให้ทักษะในด้านไอทีพัฒนาไปได้อีกไกล

บรรยากาศการแข่งขัน ACM-ICPC World Finals 2016 (2)
FINALS
2 ทีมนักศึกษา ม.อ. ในสนามการแข่งขัน
1 ทีมนักศึกษาจุฬาฯ ในสนามการแข่งขัน

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

กระทรวงวิทย์ฯ กับการปรับรูปแบบพัฒนาคน ใช้ IoTs ดันไทยเป็น Makers Nation

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี...

  • IT Brief 2 / ไอทีอัพเดต พ.ย. 60

    อุ่นเครื่องอีสปอร์ตที่เกาหลีใต้ ก่อนถึงโอลิมปิก

  • ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ 21-25 ส.ค. 60

    อัพเดตใหม่ พร้อมคุ้มครองความเสียหายจากการใช้แอพฯ อีกไม่นานการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือจะกลายเป็นธุรกรรมหลักของธนาคาร SCB จึงปรับโฉมใหม่เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยมีจุดเด่น...

  • CHATBOT
    ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะเป็นภาษาสากลในอนาคต

    ว่าด้วยเรื่องของภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อกฎขึ้นมาในวงสนทนาเมื่อไร มักจะถูกคนทั่วไปมองหน้าเอาว่า นี่มันคือพวกเนิร์ด (Nerd) หรือกี๊ก (Geek) บ้าคอมฯ และพูดอะไรเข้าใจอยากแบบมนุษย์ต่างดาวแน่นอน ไม่ต้องแปลกใจครับ หลายคนมักเข้าใจว่าภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นเป็นภาษาที่คนทั่วไปไม่น่าจะเข้าใจได้ง่าย...