“MVP” แนวคิดดีๆ ลดความเสี่ยง Startup

การทำธุรกิจใหม่ หรือมีธุรกิจอยู่แล้วแต่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็ไม่พ้นต้องพบความเสี่ยงว่าจะมีคนต้องการซื้อสินค้าหรือบริการของเราหรือไม่ ? ซื้อแล้วจะใช้อย่างไร ? ชอบไม่ชอบจุดใดกันบ้าง ? และเราควรเพิ่มลดอะไร ? ยิ่งถ้าเป็นนวัตกรรมหรือสินค้าบริการแบบใหม่ๆ ก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น

mkt1

ถ้าสินค้าหรือบริการขั้น MVP นี้ล้มเหลวขายไม่ดี เราจะได้นำข้อมูลตอบรับมาวิเคราะห์เพื่อปรับเปลี่ยนหน้าตาหรือกลไก ใส่เพิ่มหรือตัดทอน หรือเปลี่ยนจุดขายจุดเน้น  (เรียกกันว่า “Pivot”) ได้โดยไม่เสียหายนัก

 

หนึ่งในแนวทางลดความเสี่ยงก็คือ สร้าง “ผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง”  หรือ “บริการตัวอย่าง” (Minimum Viable Products หรือ MVP) ที่มีแค่ “แก่น” สำคัญเท่านั้น แล้วนำออกสู่ตลาดกลุ่มเป้าหมายตัวอย่าง แล้วเก็บข้อมูลผลตอบรับให้ได้มากที่สุด จะได้รู้ว่ามันขาดอะไรที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการอีก จะได้เติมเข้าไปได้ตรงจุด

 

ถ้าสินค้าหรือบริการขั้น MVP นี้ล้มเหลวขายไม่ดี เราจะได้นำข้อมูลตอบรับมาวิเคราะห์เพื่อปรับเปลี่ยนหน้าตาหรือกลไก ใส่เพิ่มหรือตัดทอน หรือเปลี่ยนจุดขายจุดเน้น  (เรียกกันว่า “Pivot”) ได้โดยไม่เสียหายนัก จะได้ประหยัดทั้งต้นทุนการผลิต เวลา และค่าแรง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากโดยเฉพาะกับธุรกิจเปิดใหม่หรือธุรกิจเล็กๆ

 

อุปมาถ้าสินค้าใหม่เป็นเค้ก  การทำ MVP จะไม่ใช่การทำก้อนเค้กเปล่าๆ ที่ยังไม่แต่งหน้ามาขาย  แต่จะเป็นการทำคัพเค้กเล็กๆ ที่รสชาติเดียวกับเค้กใหญ่ มีการแต่งหน้าด้วยองค์ประกอบสีสันเดียวกัน ออกมาให้กลุ่มเป้าหมายลองชมลองชิม แล้วเก็บข้อมูลทั้งสังเกตการซื้อ การชิม การรับประทาน แล้วสอบถาม ก่อนจะทำก้อนใหญ่ออกมาขายจริงต่อไปนั่นเอง ตัวอย่างบริษัทดังๆ ของโลกที่เคยผ่านการทำ MVP มาก่อนในสมัยที่ยังเป็น Startup มีดังนี้

 

1. Foursquare

ตัวอย่างแรกง่ายๆ คือ Foursquare ซึ่งจะมาเป็นแอพฯ แนว Location-base ที่ทำได้หลากหลาย ทั้งเช็กอิน สะสม Level จองความเป็นเจ้าถิ่น ให้รีวิว อัพรูป ฯลฯ อย่างยุคหลังๆ นี้นั้น ยุคแรกๆ ทีมงานเลือกทำแค่ 1 ฟีเจอร์ ก็คือการเช็กอิน และใครเช็กอินที่หนึ่งมากที่สุดก็จะได้เป็นเจ้าถิ่น ช่วยสร้างความสนุกสนานในแบบ Gamification ให้กับผู้ใช้อย่างแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีแอพฯ ใดเว็บฯ ไหนทำมาก่อน

 

หลังจากนั้นเมื่อได้ฐานผู้ใช้จำนวนหนึ่งแล้ว ก็ค่อยลองทำลองเพิ่มฟีเจอร์อื่นๆ แล้วเก็บ Feedback ไปเรื่อยๆ แล้วมาพัฒนาต่อเฉพาะที่ผลตอบรับดี ตรงกันข้าม หากบริษัทมัวแต่ซุ่มทำผลิตภัณฑ์ตัวเต็มที่มีฟีเจอร์ “เยอะ” ใช้เวลานาน ลงทุนมากกว่าจะออกมาก็อาจถูกตัดหน้าไปก่อนแล้ว  แถมยังไม่รู้ว่าผู้ใช้ในวงกว้างจะมีผลตอบรับอย่างไร  นับว่าเสี่ยงกว่ามาก

 

2. GROUPON
ในยุคเริ่มแรก Groupon เคยเป็นเว็บไซต์ชื่อ The Point ให้ผู้คนมาเข้าชื่อรวมกลุ่มกัน เช่น ระดมทุนการกุศล คว่ำบาตรร้านค้า ฯลฯ สารพัดหัวข้อ แต่ผลตอบรับก็เงียบเหงากว่าที่คาดหวังเกือบทุกหัวข้อ  มีเรื่องเดียวที่คึกคักคือ การ “รวมกันซื้อ” สินค้าหรือบริการต่างๆ ในราคาลดพิเศษ  ผู้ก่อตั้ง Groupon คือ Andrew Mason เล็งเห็นผลตอบรับอันนี้  จึงปรับ (Pivot) ใหม่ ตัดทอนเรื่องอื่นๆ ทิ้งไปหมด เหลือแต่กิจกรรมรวมกันซื้อ “Deal” และเปลี่ยนชื่อเว็บฯ เป็น “Groupon” (มาจากคำว่า Group กับ Coupon)

 

ยังไม่สิ้นสุดการทำ MVP แค่นั้น เพราะหลังจากตัดทอนและปรับเปลี่ยน Business Model แล้ว  ทาง Groupon ก็ยังทำเวอร์ชั่นแรกออกมาอย่างเรียบง่าย  โดยมีแค่ Blog ที่ทำด้วย  WordPress รวดเร็วในชื่อ Daily Groupon แล้วมีทีมงานไปหาดีลโพสต์ใหม่ๆ เกือบทุกวัน  จากนั้นเมื่อมีผู้สนใจจะซื้อดีลไหน ทีมงานก็จะพิมพ์ใบเสร็จเป็น PDF แบบ Manual แล้วส่งให้ทางอีเมล

 

ต่อมาเมื่อลูกค้ามากขึ้นๆ บริษัทค่อยกล้าลงทุนลงแรงพัฒนาระบบและเว็บไซต์เต็มรูปแบบ  ทั้งหมดนี้นับว่า Groupon เป็นตัวอย่างที่ดีการทำ MVP ในหลายๆ ด้าน ทั้งการปรับเปลี่ยน ตัดทอน และทำ MVP ออกมาทดสอบอีกซ้ำๆ เป็นวงจรต่อเนื่องอย่างรวดเร็วจนได้ธุรกิจเต็มรูปแบบออกมา

e201

ฉบับที่ 201 เดือนกันยายน

เป้าหมายของ StartUp และการเลือก Exit

 

3.Twitter

 

ก่อนจะเป็น Realtime Social Network ชื่อดังอย่างนี้  ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์เคยพยายามทำให้มันเป็นเว็บฯ รวมการจัดรายการเสียงสดๆ โดยให้ชื่อว่า Odeo แต่เมื่อ Apple เปิดตัวระบบ Podcast บน iTunes นั่นหมายถึงต้องแข่งขันกับยักษ์ใหญ่

 

ทีมงานจึงยกเลิกแผนการ Odeo แล้วระดมสมองช่วยกันหาไอเดียใหม่  และในที่สุดก็ถูกใจไอเดียทำเว็บฯ “รวม  Status” ที่เคยแปะกันไว้หลังชื่อในโปรแกรมแชต ให้กลายมาเป็นโพสต์ที่พิมพ์กันขึ้นไปได้บ่อยๆ ให้เห็นกันได้ทั้งกลุ่มหรือทั้งโลกถ้า Follow กัน  เกิดเป็น Twitter ขึ้นมา

 

ต้นแบบ MVP ของทวิตเตอร์นั้นโพสต์ได้แค่ข้อความไม่มีรูป คลิป หรือลิงก์อย่างปัจจุบัน โดยให้ทดลองใช้กันเองก่อนในบริษัท Odeo แต่แม้จะจำกัดแค่นั้นแต่ก็พนักงานในบริษัทก็ติดใช้งานกันตลอดเวลา

 

หลังจากนั้นก็ไปทดสอบในงานอีเวนต์ใหญ่ที่ชื่อ SXSW ในปี 2007 โดยตั้งจอใหญ่รวมข้อความทวีตที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ ให้ไหลขึ้นไปโชว์บนจอ ทำให้มีผู้เข้าร่วมงานสนใจอยากมีส่วนร่วม เข้าไปสมัครแล้วทวีตข้อความบ้างจนได้ทั้งทดสอบผลิตภัณฑ์และโปรโมตไปในตัว  จากนั้นจึงเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ เข้าไปพร้อมกับการเติบโตมาถึงปัจจุบัน

 

4. Dropbox

MVP อาจไม่จำเป็นต้องใช้งานได้จริง เพราะ “Dropbox” แอพฯ และเว็บฯ บริการฝากไฟล์ ก็เคยทำ MVP เป็นแค่คลิปวิดีโออธิบายวิธีใช้และหน้าจอจำลองคร่าวๆ ของ Dropbox ยาว 3 นาที แล้วอัพโหลดโปรโมตให้กลุ่มเป้าหมายดู แล้วใครสนใจจะใช้ฟรีก็ให้ลงชื่อและอีเมลไว้ นอกจากนี้ถ้าจะออกความเห็นติชมเสนอแนะอะไรก็ได้

mkt2

หากบริษัทมัวแต่ซุ่มทำผลิตภัณฑ์ตัวเต็มที่มีฟีเจอร์ “เยอะ” ใช้เวลานาน ลงทุนมากกว่าจะออกมาก็อาจถูกตัดหน้าไปก่อนแล้ว  แถมยังไม่รู้ว่าผู้ใช้ในวงกว้างจะมีผลตอบรับอย่างไร  นับว่าเสี่ยงกว่ามาก

 

ปรากฏว่ามีคนลงชื่อมากถึง 5 พันคนในวันแรก แล้วพุ่งไปเกือบ 8 หมื่นคนในวันรุ่งขึ้น ทาง Drew Houston ผู้ก่อตั้งก็เลยมั่นใจ กล้าลงทุนลงแรงสร้างบริการนี้ให้สำเร็จ ซึ่งนอกจากจะได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ ทดสอบตลาดหา Feedback ก็ยังมีผลพลอยได้ ช่วยโปรโมต Dropbox ให้เป็นที่รู้จักก่อนจะสร้างเสร็จ โดยลงทุนน้อยกว่าโฆษณามากเมื่อเทียบกับผลที่ได้รับ

 

หลังจากนั้น ทีมงานยังนำเว็บเวอร์ชั่นทดสอบ ออกไปให้ผู้คนภายนอกได้ลองใช้อีกหลายรอบ แล้วสังเกตการใช้งาน และสอบถามผู้ใช้ด้วยว่าหน้าจอใช้ง่ายหรือไม่ ติดขัดหรือสงสัยจุดไหน เพื่อนำคำตอบไปปรับปรุงหรือ Redesign และเพิ่มลด Feature บางจุดต่อไป

 

ทางทีมงาน Dropbox ยังถามกลุ่มตัวอย่างว่า เนื้อที่เก็บข้อมูลเท่าไรขึ้นไปถึงจะยอมจ่ายเงิน นั่นหมายถึงว่า นอกจากการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว ทาง Dropbox ยังนำข้อมูล Feedback มาใช้ในการตลาด เช่น การกำหนดราคาอีกด้วย

 

5.Pebble

ไม่ใช่แค่แอพฯ หรือเว็บฯ เท่านั้นที่ทำ MVP ได้ เพราะสินค้าที่มีตัวตน จับต้องได้ อย่างเช่น Pebble นาฬิกาสมาร์ทวอทช์รุ่นแรกๆ ของโลก ก็เคยทำ MVP มาแล้ว โดยทำออกมาเป็นคลิปวิดีโอจำลองการใช้งานนาฬิกา (ซึ่งยังไม่มีอยู่จริง) แล้วไปลงในเว็บระดมทุนชื่อดังคือ Kickstarter แล้วเขียนชักชวนให้ใครที่อยากซื้อในราคาลดพิเศษ ได้จ่ายจองล่วงหน้า

 

ครั้งนั้นทีมงานตั้งเป้าไว้ 100,000 เหรียญ คือถ้าไม่ถึงเป้าก็จะไม่ผลิต และจะคืนเงินให้ผู้ที่จ่ายไว้ ตามกฎของเว็บระดมทุน แต่ผลปรากฏว่าได้เงินทุนถึงเป้าภายใน 2 ชั่วโมง และสัปดาห์หนึ่งผ่านไปก็ระดมทุนได้ถึง 600,000 เหรียญ และเมื่อจบช่วงระดมทุนก็ได้ไปถึงกว่า 10 ล้านเหรียญจากคนทั่วโลกกว่า 6 หมื่นคน

 

หลังจากนั้นมาถึงปัจจุบัน Pebble ก็ออกวางตลาดและทำยอดขายไปแล้ว กว่า 5 แสนเรือน จุดประกายให้ Samsung และ Apple ผลิต Smartwatch ขายบ้าง  ซึ่งแม้ยักษ์ใหญ่จะเข้ามา  แต่ Pebble ก็ยังขายได้และอยู่รอดดีมาถึงทุกวันนี้

 

6. AIRBNB

กรณีนี้ได้ไอเดียและ MVP มาแบบไม่เจตนา  คือในปี 2007 นั้น 2 หนุ่มชื่อ Brian Chesky และ Joe Gebbia  เช่าบ้านในซานฟรานซิสโกไว้ทำสำนักงาน  ซึ่งผ่านไปไม่นานก็หมุนเงินจ่ายค่าเช่าไม่ทัน  ก็เลยคิดจะหาคนนอกมาแบ่งเช่าพื้นที่เหลือๆ

 

พอดีช่วงนั้นมีการจัดงานประชุมใหญ่ใกล้เคียงละแวกนั้น ทำให้โรงแรมเต็มหมด มีแขกมากมายที่หาที่พักไม่ได้ ทั้งสองเห็นเป็นโอกาส ก็เลยลงประกาศแบ่งพื้นที่ให้เช่านอนพักพร้อมถุงนอน  โดยถ่ายรูปสถานที่ลงไว้ด้วย หวังแค่จะหาเงินมาหมุนค่าเช่า บรรเทาปัญหาการเงินชั่วคราว

 

แต่ผลคือ มีผู้สนใจขอเช่ามากมาย แต่ทั้งสองคนแบ่งให้ได้แค่ไม่กี่คน  จะทำอย่างไรกับที่เหลือดี? สองหนุ่มจึงสร้างเว็บไซต์เพื่อให้คนอื่นๆ ซึ่งห้องหรือบ้านมีที่เหลือ จะแบ่งพื้นที่ให้เช่า มาลงประกาศรวมๆ กัน โดยให้จ่ายค่าเช่ากันผ่านเว็บฯ นี้ แล้วสองหนุ่มก็หักเปอร์เซ็นต์เป็นค่าธรรมเนียม และนั่นก็คือก้าวแรกของ AirBnB ซึ่งคำย่อ BnB มาจาก Bed and Breakfast นั่นเอง

 

7. Zappos

แม้แต่การร้านขายปลีก ที่ไม่ได้ออกแบบผลิตสินค้าอะไร ก็สามารถใช้แนวคิด MVP ได้ด้วย เช่น เว็บฯ ขายรองเท้า Zappos ซึ่งยุคแรกนั้น Nick Swinmurn ผู้ก่อตั้งเคยไม่แน่ใจว่าจะมีใครกล้าซื้อรองเท้าทางออนไลน์หรือไม่ จึงลองไปร้านขายรองเท้าใกล้บ้าน ขอถ่ายรูปรองเท้ารุ่นต่างๆ มาลงขายเว็บฯ ก่อน  เขาจึงค่อยเดินไปซื้อรองเท้ารุ่นนั้นๆ มาส่งให้ลูกค้า โดยไม่ต้องลงทุนซื้อมาก่อน และไม่ต้องหาที่สต็อกยอมกำไรน้อยนิดแต่ขอ “ทดสอบตลาด” ก่อน

 

ผลคือขายได้ และยอดน่าพอใจ เขาจึงสามารถขอส่วนลดจากร้านค้าเพราะทำยอดซื้อได้ถึงขั้น  และจากนั้นค่อยลงทุนทำธุรกิจเต็มรูปแบบ โดยไปติดต่อตรงกับทางโรงงานผู้ผลิตเพื่อลงทุนซื้อมากๆ และสร้างโกดังเก็บสินค้าเองอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มกำไรทีหลัง

 

แต่สมมติว่าถ้าช่วงแรกล้มเหลว ไม่มีใครกล้าซื้อรองเท้าออนไลน์เท่าไรนัก นาย Nick Swinmurn ที่ยังไม่ได้ควักเงินซื้อรองเท้า ไม่ได้สต็อกสินค้า ทำโกดัง หรือจ้างคนงานไว้ ก็จะไม่ขาดทุนนัก

 

8. Buffer

เมื่อแรกเริ่มที่ Joel Gascoigne มีไอเดียอยากทำแอพฯ ตั้งเวลาโพสต์ข้อความบน Social Network นั้น  เขายังไม่แน่ใจว่าถ้าทำลงแรงลงทุนทำออกมาแล้ว จะมีคนต้องการใช้หรือไม่?

 

เขาจึงใช้แนวคิด MVP โดยยังไม่ทันทำเว็บฯ จริงแอพฯ จริงออกมา แต่แค่ทำหน้า Landing Page หน้าเดียว บอกว่าแอพฯ นี้ชื่ออะไร ทำงานอย่างไร ใครอยากลองใช้ ก็ให้คนลงชื่อสมัคร ถ้าอยากใช้งานหนักก็เลือก Plan ที่มีราคา ล่วงหน้ารอไว้ก่อน

 

หลังจากนั้น Joel ก็อีเมลกลับไปพูดคุยกับกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ เพื่อถามความคิดเห็นและทดสอบไอเดียต่างๆ เพิ่มเติม แล้วนำความเห็นทั้งหมดมาร่วมกำหนดฟีเจอร์ต่างๆ ก่อนลงมือพัฒนาจริง และยังได้สร้างตลาดรอไว้ก่อนจะมีผลิตภัณฑ์จริงๆ ด้วย

 

ถึงบทความนี้จะมีแต่ตัวอย่างสินค้าและบริการที่ค่อนข้างมีความเป็นดิจิตอล  แต่แนวคิด MVP ก็ใช้กับสินค้าและบริการอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังตัวอย่างการทำเค้กที่ยกไว้ตอนต้นบทความนั่นเอง

 

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ธนาคารกรุงเทพรับสมัครสตาร์ตอัพ เข้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub Season 2

ธนาคารกรุงเทพร่วมกับบริษัท Nest ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค ค้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพ 5 กลุ่ม …