Loremworks (โลเร็มเวิร์ค) เกิดจากความชอบด้านเว็บไซต์ตั้งแต่สมัยมัธยมต้น จนกลายเป็นโปรแกรมเมอร์ที่มีเจ้าของธุรกิจยอมรับในความสามารถและพัฒนาระบบมามากกว่า 10 ปี จากฟรีแลนซ์ จนกลายเป็นเจ้าของธุรกิจออกแบบเว็บไซต์ของตัวเองในที่สุด
มุ่งมั่นพัฒนางาน
อกนิษฐ์ ถึงนาค CEO ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส แอล ซี อินเนอร์ เพาว์เวอร์ แอสโซซิเอท เล่าว่า เมื่อประมาณ 5 ปีแล้ว ชื่อนี้ที่เกิดจากเจอลูกค้าที่อยากทำเว็บไซต์แต่เขาไม่มีข้อมูล ทำให้ต้องสร้าง Mock-up เว็บไซต์ เราจึงสร้างเนื้อหาจำลองแบบเรียบๆ วางให้ลูกค้าดูภาพในเบื้องต้น ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Lorem ipsum และได้ตัดคำว่า ipsum ออกและเติมคำว่า works เข้าไปในตอนท้ายให้เป็นชื่อเฉพาะมากขึ้นและเกี่ยวข้องกับการทำงานด้วย
รูปแบบการให้บริการ
อกนิษฐ์ กล่าวต่อว่า การให้บริการแก่ลูกค้าของบริษัทมีดังนี้ 1. บริการจดโดเมนและด้านโฮสติ้ง 2. บริการทำเว็บไซต์ 3. โมบายล์แอพพลิเคชั่น และ 4. ปรึกษาด้านไอที ซึ่งบริการทั้งหมดนี้รองรับแบบ ONestop Service เพราะเป็นขั้นตอนการทำงานในการสร้างเว็บไซต์
ความโดดเด่นของ Loremworks คือ การนำเสนอผลงานที่แสดงถึงความหลากหลายในการออกแบบผ่านเว็บไซต์ Loremworks เนื่องจากเว็บไซต์จะทำการอัพเดตผลงานเรื่อยๆ รวมถึงการสำรวจเทคโนโลยีเว็บไซต์ต่างประเทศต่อเนื่องว่ามีอะไรใหม่ในการนำมาปรับใช้กับเว็บไซต์ เช่น 2 ปีก่อน นิยมใช้เทคโนโลยี Responsive ก็ได้ศึกษาเทรนด์นี้และทดลองใช้งานกับเว็บไซต์ของลูกค้า
อกนิษฐ์ กล่าวว่า การออกแบบเว็บไซต์ให้กับลูกค้านั้นไม่ได้เขียนขึ้นใหม่หมด แต่จะนำ Framework ที่มีให้บริการและระบบ CMS เช่น WordPress, Drupal และ Bootstrap มาช่วยในการออกแบบเว็บไซต์ เนื่องจากโครงสร้างเว็บฯ หลักคือ Home, About Us, Product และ Contact ซึ่งส่วนใหญ่มีหัวข้อในการใช้งานเท่านี้ หากลูกค้ามีความต้องการเพิ่มในการใส่หมวดหมู่หรือฟังก์ชั่นเพิ่มจึงจะมีการเขียนโค้ดเข้ามา โดยสร้างโมดูลใหม่มาเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ให้กับลูกค้า
การไม่ต้องเขียนโค้ดใหม่ทั้งหมด ทำให้การทำงานสามารถเสร็จภายใน 2 อาทิตย์ โดยได้นำข้อดีมาอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่า การเขียนเองใหม่หมด หากหน้าเพจมีปัญหา ต้องเสียเวลาในการหาจุดที่เกิดว่าเพราะโค้ดหรือระบบ แต่ถ้าใช้ระบบ CMS มีชุมชนที่พัฒนา Patch เพื่อรองรับการใช้งานเวอร์ชั่นใหม่หรือแก้ไข Bug เมื่อวันใดเจอรูรั่วและมีการโดนเจาะระบบเว็บไซต์ขึ้น ก็จะมี Patch ตามทันที ซึ่งสะดวกกับบริษัทที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านไอทีดูแล ในปีแรกจะมีการดูแลแก้ไข Bug ให้ฟรี 1 ปี ที่เกิดจากความผิดพลาดในตัวระบบที่บริษัทสร้างขึ้น
มีนักพัฒนาชาวต่างชาติที่เข้าร่วมงานมาพูดคุยและตื่นเต้นกับการทำเว็บไซต์นี้ เพราะไม่คิดว่า Drupal จะสามารถออกแบบพัฒนาต่อยอดกลายเป็นเว็บไซต์รูปแบบนี้ได้ด้วย
ผลงานที่ภูมิใจนำเสนอ
อกนิษฐ์ กล่าวถึงผลงานที่ผ่านมาว่า เว็บไซต์นี้เป็นโปรเจ็กต์ค่อนข้างใหญ่ และเป็นการทำงานระดับประเทศ จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำโปรเจ็กต์นี้ โดยเจ้าของโครงการนี้คือ กระทรวงเกษตร ของประเทศญี่ปุ่น ที่ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทย ในการจัดทำเว็บไซต์ชื่อ Afsisnc.org โดยทำระบบเพื่อรวบรวมข้อมูลการเกษตรนำเข้าและส่งออกของเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด โดยข้อมูลจะเก็บย้อนหลังถึงข้อมูลการส่งออกข้าว ข้าวโพด หรือถั่วเหลือง และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน
เว็บไซต์นี้ได้เลือกใช้ระบบ CMS คือ Drupal ซึ่งถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างแข็งแกร่งที่นักพัฒนาส่วนใหญ่ยอมรับว่ายากต่อการเจาะข้อมูล ทำให้เสี่ยงต่อเว็บไซต์ล่มน้อยมาก โปรเจ็กต์นี้ใช้เวลาทำงานประมาณ 1 ปี อาจดูเหมือนใช้เวลานานแต่ถ้าเทียบกับเว็บฯ ในลักษณะเดียวกันถือว่าเป็นการทำงานที่เร็วมาก เพราะเว็บฯ รายอื่น เช่น เว็บไซต์องค์การ FQA จะใช้ประมาณ 3 ปี โดยระบบที่เราออกแบบสามารถประมวลผลออกมาเป็นรูปแบบข้อมูล Text และ Graph ได้ด้วย ซึ่งฟีเจอร์นี้ Drupal ไม่ได้รองรับ ต้องเขียนโมดูลเพิ่มขึ้นเอง
อกนิษฐ์ เล่าว่า ตอนเข้าร่วมงานสัมมนา Drupal Thailand ได้ไปแนะนำตัวและนำผลงานเว็บไซต์ Afsisnc.org ใช้เป็นตัวอย่างในการร่วมบรรยายและมีนักพัฒนาชาวต่างชาติที่เข้าร่วมงานมาพูดคุยและตื่นเต้นกับการทำเว็บไซต์นี้ เพราะไม่คิดว่า Drupal จะสามารถออกแบบพัฒนาต่อยอดกลายเป็นเว็บไซต์รูปแบบนี้ได้ด้วย เข้าไปดูในเว็บไซต์นึกว่าเขียนโค้ดขึ้นมาใหม่หมดเลยมากกว่า
“การสร้างฟังก์ชั่นเสริม เราเลือกทำโมดูลใหม่เพิ่มเข้ามามากกว่าเป็นการ Customize เว็บไซต์ เพราะถ้าฮาร์ดโค้ด ลูกค้าจะอัพเกรด CMS ไม่ได้ เนื่องจากการฮาร์โค้ดคือ แก้โค้ดหลักในแพลตฟอร์ม CMS ซึ่งเราจะแก้ในส่วนธีม เพื่อให้เขียนทับในโค้ดหลักอีกที เท่ากับว่างานที่เพิ่มจะอยู่ในธีมกับปลั๊กอิน 2 ที่ แต่บางเจ้าเขียนลงระบบเลย ซึ่งถ้าวันหนึ่ง อัพเกรด CMS ขึ้นมา เว็บไซต์นั้นจะเจอจุดรั่วทันที”
![]() |
ฉบับที่ 203 เดือนพฤศจิกายนFinTech อนาคตโลกการเงิน |
ต่อมาคือ เว็บไซต์ในเครือของ Sunleegroup ซึ่งจะเกี่ยวกับการเกษตรเหมือนกัน เป็นบริษัทส่งออกสินค้าการเกษตรโดยส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อขายให้กับคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ในการนำสินค้าเหล่านี้ไปเป็นวัตถุดิบให้ร้านอาหารหรือทำอาหารทานในครอบครัวได้ ภายในเว็บฯ จะเป็นแค่ข้อมูลของบริษัททั้งหมดว่าดำเนินกิจการและมีโปรดักส์อะไรบ้าง
โดยตอนแรกได้มอบหมายให้ทำเว็บไซต์จำนวน 2 เว็บไซต์ และหลังจากนั้นได้รับงานเพิ่มในบริษัทเดียวกันอีก 4 เว็บฯ ทำให้ได้ทำงานในกรุ๊ปบริษัทนี้ทั้งหมด 6 เว็บไซต์ สำหรับเว็บฯ Sunlee Group นี้เป็นเว็บไซต์ต่างประเทศที่เซิรฟ์เวอร์อยู่เมืองไทย แต่ว่าเป้าหมายเขาคือ ลูกค้าต่างประเทศ ดังนั้น เว็บไซต์จึงถูกโจมตีได้ง่าย เพราะเหล่าแฮกเกอร์ชอบโจมตีเว็บไซต์ที่เป็นอินเตอร์แบรนด์ ซึ่งเจ้านี้โดนเจาะระบบตลอด เนื่องจากไม่มีทีมงานที่ดูแลในด้านเว็บไซต์โดยตรง เมื่อนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาให้ จึงได้รับความไว้วางใจในการดูแลทั้ง 6 เว็บไซต์ รวมถึงการใช้บริการเช่าโฮสติ้งด้วย เพื่อดูแลแบบเต็มระบบ
เสริมบริการมัดใจลูกค้า
ลูกค้ามองว่า เราเป็นบริษัทที่ยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่ได้เพิ่มเงินในการแก้ไขปัญหาแบบจุกจิกมากจึงจ้างเราอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามีการนำเสนอทางเลือกให้กับลูกค้าเลยว่า ถ้าจะแก้ด้วยวิธีไหนเสียเงิน หรือวิธีไหนไม่เสียเงิน
นอกจากนี้ ความรู้เรื่องการมี SSL Certificate บนเว็บไซต์ให้เป็น URL สีเขียว ถ้ามีในโดเมนจะให้ผลทางการค้นหาสูงขึ้น ซึ่งลูกค้ารายใหม่ที่ทำเราจะแถมฟังก์ชั่นนี้ให้ด้วย เพราะทำให้เว็บไซต์ลูกค้าถูกค้นหาได้ดีขึ้น การมี SSL นี้เพียงติดต่อขอซื้อเพื่อนำมาปลั๊กอินใส่ในเว็บฯ นั้นๆ ซึ่งเว็บฯ ที่ควรมีอันดับต้นๆ คือเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ หรือเว็บไซต์ที่มีความเสี่ยงเรื่องของข้อมูลและตัวเลขถ้า URL เป็นตัวเขียวจะแสดงความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น จากภาพที่เห็นเมื่อก่อนจะเป็นกุญแจทองมุมล่างเว็บไซต์ แต่ก่อนจะเน้นพวกเว็บฯ ธุรกรรมทางการเงินหรืออีคอมเมิร์ซ แต่ช่วงนี้รณรงค์เพราะป้องกันการถูกแฮกเว็บไซต์
เว็บไซต์ต่างประเทศต้นแบบพัฒนาเว็บฯ
ตอนนี้กลุ่มลูกค้าของเราจะเน้นเรื่องของการเกษตร โรงแรม โรงพิมพ์ บริษัท และราชการ โดยจะเน้นเรื่องการนำเสนอข้อมูลประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ มากกว่าการพัฒนาเว็บไซต์ เพื่อรองรับระบบหลังบ้านที่เชื่อมต่อกับระบบขนาดใหญ่ในการบริหารจัดการสินค้าทั้งหมด
ส่วนงานดีไซน์จะเน้นสะอาด เรียบ ง่ายในการเข้าถึงข้อมูล แต่ดูทันสมัย เพราะข้อดีของดีไซน์ที่เรียบแต่ดูดี ผ่านไป 5 ปี หน้าดีไซน์เว็บไซต์ก็ไม่ตกเทรนด์ แต่ถ้าดีไซน์หวือหวามีอะไรมากมายบนเว็บฯ ผ่านไป 3 ปี จะเห็นว่าเว็บฯ ดูเก่าแล้ว สำหรับลูกค้าที่อยากได้คอนเทนต์ทุกอย่างที่มีใส่ไว้บนเว็บไซต์จะมีการอธิบาย โดยยกตัวอย่างว่า เว็บไซต์ก็เหมือนกับหน้ากระดาษ ถ้าจะใส่อะไรไว้ในหน้าเดียวจะเหมือนโบรชัวร์สินค้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่สามารถแยกได้ว่าอะไรคือข้อมูลสำคัญ เมื่ออธิบายแบบนี้ลูกค้าจะเห็นภาพ และยอมทำตามคำแนะนำ คือการเลือกเพียงข้อมูลสำคัญลงไว้บนเว็บฯ
“ตอนนี้สิ่งที่แนะนำ และกระตุ้นการทำเว็บไซต์ให้กับลูกค้าจะเน้นเรื่องการทำ Responsive เพราะถือว่าเว็บไซต์ในไทยยังไม่รองรับกับหน้าจอมือถือเป็นจำนวนมา โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ อยากให้ทุกเว็บไซต์ให้ความสำคัญกับการใช้งานบนหน้าจอมือถือ เพราะเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายในยุคนี้ ซึ่งเว็บไซต์รุ่นเก่าเปิดในเบราว์เซอร์ Safari หรือ Chrome เวอร์ชั่นใหม่จะทำให้บางเว็บไซต์เปิดไม่ได้เลย” อกนิษฐ์ กล่าว