Maker เครื่องปลูกผักผ่านแอพฯ นำเกษตรกรไทยสู่ตลาดโลก

EverGrow จากเมกเกอร์คนไทย ที่ต่อไปคนจะปลูกผักผลไม้ได้ในทุกฤดูกาล สามารถทำเป็นงานอดิเรกในบ้านพื้นที่จำกัดหรือขายเป็นธุรกิจส่งออกได้ง่ายมาก จากองค์ความรู้ด้านการเกษตร พัฒนารูปแบบการปลูกผักผ่านแอพพลิเคชั่น

ภุชงค์ วงษ์ทองดี Founder & CEO บริษัท Unixcon จำกัด เจ้าของโปรดักส์ EverGrow

ภุชงค์ วงษ์ทองดี Founder & CEO บริษัท Unixcon จำกัด เจ้าของโปรดักส์ EverGrow

EverGrow สร้างการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกจากทั่วทุกมุมโลกให้มาอยู่บนแอพฯ และออกแบบโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์ ช่วยให้การปลูกผักผลไม้ง่ายยิ่งขึ้น

ประสบการณ์เมื่อเป็นเมกเกอร์
ภุชงค์ วงษ์ทองดี Founder & CEO บริษัท Unixcon จำกัด เจ้าของโปรดักส์ EverGrow กล่าวว่า หลังจากทำงานด้าน Software Enterprise มาประมาณ 9 ปี และรู้สึกอิ่มตัวกับงานด้านนี้ จึงอยากลองเปลี่ยนเป็นสตาร์ทอัพ แต่ช่วงแรกยังหาตัวเองไม่เจอ เนื่องจากไม่ได้เป็นสตาร์ทอัพที่เกิดจากการมี Passion ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประกอบกับรูปแบบการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นการทำงานกับโปรแกรมที่ตอบสนองการทำงานภายในองค์กร และถูกออกแบบตามความต้องการของธุรกิจที่ดูแล จึงไม่ได้ทำงานกับผู้ใช้ทั่วไปโดยตรง

ระหว่างค้นหาสิ่งที่เรียกว่า Passion ของตัวเอง ได้เปิดเข้าไปในเว็บไซต์ Kickstarter.com และพบไอเดียต่างๆ ทำให้รู้สึกถึง Passion บางอย่าง และคิดว่าอยากทำโปรดักส์สักชิ้นที่สามารถขายให้กับลูกค้าทั่วโลกได้ ซึ่งเว็บฯ นี้ทำให้คิดว่า เพียงแค่ลงทุนทำ Prototype ด้วยเงินลงทุนไม่เกินหนึ่งแสนบาท ก็สามารถโฆษณาขายโปรดักส์ออกไปสู่กลุ่มเป้าหมายทั่วโลกแล้ว ซึ่งมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายมาก

เริ่มสำรวจทรัพยากรที่มีรอบตัว พบว่า มีเพื่อนที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการเกษตรค่อนข้างเยอะจึงไปศึกษาเรื่องตลาดด้านการเกษตรทั้งการเพาะปลูกและการซื้อ-ขายเพิ่ม เพื่อวิเคราะห์ถึงความต้องการของตลาดในต่างประเทศ ซึ่งกระแสด้านการเกษตรค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากทวีปยุโรปและอเมริกาพื้นที่ทำการเกษตรไม่อุดมสมบูรณ์เท่ากับเอเชีย และมีการทำวิจัยด้านการทำการเกษตรเกิดขึ้นอย่างมาก

ภุชงค์ กล่าวต่อว่า เรามองเห็นถึงจุดแข็งของประเทศไทยที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรและมีพื้นที่เหมาะกับการเกษตร ที่สำคัญเมืองไทยถือเป็นประเทศเกษตรกรรมในสายตาชาวโลก จึงเริ่มตัดสินใจทำโปรเจ็กต์เล็กๆ ขึ้น ชื่อ Flora ซึ่งเป็น กระถางต้นไม้ในคอนเซ็ปต์ Indoor Smart Crop โดยสร้างแพ็กเกจบรรจุด้วยกระถาง เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย หลอดไฟ อุปกรณ์ในการให้ปุ๋ยและน้ำ ซึ่งทำโมเดลนี้และลองขายผ่านออนไลน์มาเกือบหนึ่งปี ได้รับการตอบรับและสนใจระดับหนึ่ง

เมื่อเห็นถึงกระแสความสนใจในโมเดลรูปแบบนี้  จึงคิดว่าจะทำอย่างไร ให้สามารถผลักดันโปรดักส์ลักษณะนี้ให้ออกสู่ตลาดและขายได้จริง จึงลองไปปรึกษากับ Maker Zoo ในการเตรียมตัว เพื่อนำโปรดักส์ไปนำเสนอบนเว็บไซต์ Kickstarter.com เพื่อหาเงินลงทุนในการผลิตขายในตลาด เพราะการสร้างโปรดักส์จริงจะต้องรู้ต้นทุนในการผลิตต่อหน่วย เนื่องจากต้องคำนวณวงเงินที่จะต้องระดมทุนในการมาผลิตโปรดักส์ออกจำหน่าย

“ตอนแรกลองนั่งวางแผนคำนวณต้นทุนเอง พบว่าไม่ง่ายเลย เพราะไม่ได้มีประสบการณ์ด้านการเป็น Hardware Startup มาก่อน ซึ่งจากตอนแรกคิดว่าแค่ทำ Prototype เสร็จก็อัพโหลดวิดีโอพรีเซ็นต์ ผลงานเพื่อหาเงินทุนเท่านั้น แต่มันมีรายละเอียดหลายสิ่งสำคัญคือ ต้นทุนการผลิตที่ต้องโฟกัสอย่างมาก เพราะเป็นขั้นตอนที่ทำให้โปรดักส์สำเร็จหรือล้มเหลวได้”

e202

ฉบับที่ 202 เดือนตุลาคม

Maker ผู้สร้างสินค้าด้วยเทคโนโลยี

ภุชงค์ กล่าวต่อว่า ทาง Maker Zoo จึงให้คำแนะนำไปปรึกษาที่ NE8T เรื่องของการคำนวณต้นทุนการผลิต ทำให้พบว่า หากต้องลงทุนเครื่องมืออุปกรณ์ในการผลิตกระถางต้นไม้ Flora นี้จะต้องใช้เงินถึง 10 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวิเคราะห์การนำโปรดักส์ Flora มาขายในตลาดจริง ถึงแม้จะได้รับการตอบรับในกลุ่มนักสะสมของแต่งบ้าน หรืองานอดิเรกที่ชื่นชอบสินค้าไฮเทคตอนช่วงขายออนไลน์ แต่มองว่าตลาดนี้ไม่ได้ใหญ่มากนักและการลงทุน 10 ล้าน ไม่ใช่เรื่องเล็ก ที่สำคัญการขายกระถางต้นไม้เพื่อใช้ในการตกแต่งบ้านในราคา 2 หมื่นกว่า ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วย

ดังนั้น จึงกลับไปทบทวนความคิดแรกคือ เรื่องของการเกษตร และการปลูกผัก เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดเวลา ที่สำคัญสังคมไทยกำลังอยู่ในกระแสของการหันมาปลูกผักทานเอง และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขายเป็นจำนวนมากในกลุ่ม SMEs  แต่จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างความน่าสนใจมากกว่าการเพาะปลูกธรรมดา จึงนำจุดเด่นที่ทำของโปรเจ็กต์ Flora มาผสมผสาน คือการสามารถวิเคราะห์ถึงการเจริญเติบโต การดูแลการเพาะปลูกด้วยการสั่งงานผ่านแอพฯ ที่สำคัญสามารถปรับแต่งสูตรได้ตามความต้องการด้วย

ตอนนี้จึงต้องปรับโมเดลมาเพื่อเจาะกลุ่มสินค้าเกษตรคือ ผัก ผลไม้  โดยเน้นพัฒนาเครื่องมือให้ตอบโจทย์ทั้งผู้ปลูกสมัครเล่นจนถึงระดับเจ้าของกิจการ ถึงแม้เป้าหมายของ EverGrow คือการตอบโจทย์ตลาดในต่างประเทศ แต่การจะก้าวไปสู่ระดับภูมิภาคได้นั้น ต้องสร้างการยอมรับและความนิยมในตลาดเมืองไทยให้เติบโตระดับหนึ่งก่อน ซึ่งนี้เป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องก้าวผ่านไปให้ได้โดยเร็ว เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงแนวคิดในการทำการเกษตรรูปแบบใหม่นี้ สามารถสร้างรายได้ให้เกิดอย่างแท้จริง

ขยายความฝันให้ใหญ่ขึ้น
ภุชงค์ กล่าวว่า ระหว่างพัฒนาโปรดักส์และทำการตลาดในประเทศ ได้มีการศึกษาประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ไปด้วย เนื่องจากเห็นถึงโอกาสจากสภาพภูมิประเทศและไลฟ์สไตล์ของคนในสิงคโปร์ที่มีพื้นที่ในการเพาะปลูกน้อยและอาศัยกันในคอนโดส่วนใหญ่ ซึ่งการซื้อผักผลไม้รับประทานค่อนข้างแพงและไม่สามารถปลูกผักผลไม้ทานเองได้ ดังนั้น โมเดลของ EverGrow จึงตอบโจทย์กับความต้องการของคนในประเทศนี้และราคาสินค้าที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ด้วย

ตอนนี้โปรดักส์ของ EverGrow แบ่งออกเป็น 2 ขนาดคือ Smart Home Gardener ขนาด 30×60 cm และแปลงปลูกผักในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 18 ล้อ ซึ่งสามารถปลูกผักได้เทียบเท่ากับพื้นที่จริง 1 ไร่ โดยกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ที่ต้องการปลูกผักไว้ทานเองที่บ้าน เจ้าของธุรกิจที่ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกในเมือง แต่อยากได้ของสดใหม่ในทุกๆ วัน หรือผู้ทำธุรกิจผักและผลไม้ส่งออกที่ต้องการผลผลิตในทุกฤดูกาล ที่สำคัญไม่ต้องจ้างคนงานในจำนวนมากเพื่อดูแลผลผลิต เพราะทุกอย่างสามารถดูแลควบคุมการเพาะปลูกผ่านแอพฯ ได้ด้วยตัวเอง  สำหรับโมเดลแปลงผักในตู้คอนเทนเนอร์นั้นเหมาะกับธุรกิจโรงแรมระดับห้าดาวที่ลดต้นทุนในการสั่งซื้อผักจากต่างประเทศ และผู้ที่ต้องการปลูกผักจากต่างประเทศขายในประเทศไทย

Cover3-2

เกษตรกรสามารถใช้ EverGrow ในการต่อยอดคือการขายข้อมูลสูตรผักไทยไปให้ชาวต่างชาติง่ายกว่า ไม่ต้องขนส่งไปขาย แค่ไปปลูกที่นั้น แต่เราอาจขายในรูปแบบ Material ส่งไปให้แทน เช่น ผักโหระพา ที่ต่างประเทศราคาแพงมาก ถือเป็นผักชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้

ภุชงค์ กล่าวว่า ในส่วนของแอพฯ EverGrow นี้จะกลายเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกผักและผลไม้ รวมถึงการเป็นคลังเมล็ดพันธุ์เพื่อเลือกซื้อในการเพาะปลูก รวมถึงสูตรต่างๆ ด้วย เนื่องจากตั้งใจจะใช้แอพฯ นี้ ในการต่อยอดองค์ความรู้ของคนที่ชอบปลูกและเกษตรกรในการช่วยสร้างรายได้ โดยข้อมูลคำสั่งเพาะปลูกและการวัดผลการเติบโตจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ปักลงในดินเพาะปลูก ซึ่งข้อมูลทุกอย่างจะถูกเก็บในฐานข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคนไว้บนคลาวด์ เช่น สมาชิก A ปลูกผักกระเพรา และทำการลงรายการคำสั่งดูแลการปลูกลงในแอพฯ ทั้งการรดน้ำ ให้ปุ๋ย และกำหนดแสงแดด

โดยแอพฯ จะมีฟังก์ชั่นในการกดรายงานผลผ่านโซเชียลฯ เพื่อแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ สามารถเห็นวิวัฒนาการได้ รวมถึงมีการให้เรทติ้งแก่ผู้ปลูกด้วย หรือในมุมของเกษตรกรสามารถสั่งซื้อเซ็นเซอร์ อุปกรณ์การให้น้ำ ปุ๋ย จาก EverGrow และทำการเชื่อมต่อกับแอพฯ เพื่อช่วยในการดูแลการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการจ้างงาน และการดูแลผักผลไม้ตรงตามสูตรมากยิ่งขึ้นในเวลารวดเร็ว เพราะสามารถสั่งงานจากแอพฯ และอุปกรณ์ที่ติดตั้งสามารทำงานได้ทันที ซึ่งข้อมูลของเกษตรกรในการเพาะปลูกสามารถปรับเป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้กับพวกเขาเพิ่มขึ้น โดยสามารถขายสูตรให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการนำไปปลูกที่ประเทศของตน

นอกจากนี้ ข้อมูลจากแอพฯ EverGrow ที่ได้จากการเพาะปลูกในสวนหรือไร่แบบเปิดจะถูกนำมาวิเคราะห์และคำนวณหาความพอดีในภูมิอากาศ รวมถึงการให้น้ำและปุ๋ยในแต่ละช่วงเวลา เพื่อนำมาเป็นสูตรแนะนำให้กับผู้ที่ต้องการปลูกผักหรือผลไม้เหล่านั้นในตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับแอพฯ นี้จะมีทั้งรูปแบบแชร์กับผู้ปลูกเป็นงานอดิเรก เพื่อทานกันในบ้าน หรือการขาย โดยมีทั้งสูตรที่ให้ดาวน์โหลดฟรีและเสียเงิน

“เราพยายามทำโปรดักส์นี้ โดยไม่ได้เน้นขายฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์เพาะปลูก เพราะเชื่อว่ามีร้านค้าที่สามารถผลิตขายแข่งได้ แต่ EverGrow สร้างการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกจากทั่วทุกมุมโลกให้มาอยู่บนแอพฯ และออกแบบโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์ ช่วยให้การปลูกผักผลไม้ง่ายยิ่งขึ้น ลดต้นทุน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค”

กว่าจะเป็นเมกเกอร์
“ตอนนี้คนทำงานหลักคือ ผมคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ จะมาช่วยในแง่ R&D ซึ่งในสายงานของเมกเกอร์จะมีคอร์สำคัญคือ Make Session และ R&D เพราะว่าความเป็นจริงแล้ว สตาร์ทอัพไม่ควรทำอะไรเยอะแยะในความคิดของผม การทำ R&D มันมีความเสี่ยง ไม่ใช่แค่คิดและทำเท่านั้นแต่ต้องผ่านการทดสอบว่าสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ด้วย เราจึงเรียนรู้หลายอย่างจากการเป็นเมกเกอร์ สิ่งหนึ่งคือ การทำงานที่เป็น Hardware จะต้องมีเงินทุนสำรองในการใช้จ่ายไปก่อนไม่เหมือน ซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นมาและลบทำใหม่ได้ โดยไม่มีเสียเงินทุน เสียแค่เวลา แต่เมกเกอร์คือ เสียทั้งเวลาและเงินลงทุน”

ภุชงค์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การเข้าสู่ Hardware Startup และการเป็นเมกเกอร์นั้น ขั้นแรกควรจะนำตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่ม Co-working Space เพื่อลดความเสี่ยงในสิ่งที่เราไม่รู้ และมีผู้รู้แนะนำเรื่องที่ควรรู้ก่อนที่จะลงมือทำ เพราะความไม่รู้ทำให้มองว่า วงการ Hardware Startup หรือการเป็นเมกเกอร์เป็นเรื่องง่าย เพียงแค่มีไอเดียและเงินลงทุนเพื่อสร้างสินค้าตัวอย่าง ก็สามารถหาเงินทุนเพิ่มได้แล้ว แต่พอลงมือทำจริงปรากฏว่าไม่ใช่ มีอีกหลายขั้นตอนที่เรามองไม่เห็น ถึงความยากลำบากในการผลิตชิ้นงาน เพื่อทำออกขาย หากเราไม่มีประสบการณ์ด้านนั้นมาก่อนเลย ชิ้นส่วนแต่ละอย่างอาจหาง่ายแต่ไม่ใช่วัสดุที่ได้มาจะตอบโจทย์ทั้งคุณภาพ และราคาในการลงทุน

ภุชงค์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้โปรเจ็กต์ EverGrow อยู่ช่วงการทำ Prototype เนื่องจากการปรับโมเดลที่รวดเร็วจากการตั้งใจทำ Flora ออกขาย และเพียงไม่กี่เดือนทำการเปลี่ยนมาเป็นขายรูปแบบ Smart Home Garden และตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งตอนนี้ติดตรงการสร้าง Prototype ของตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากต้องระดมทุนในการสร้างหลักล้าน ระหว่างนี้จึงต้องเข้าไปพรีเซ็นต์โปรเจ็กต์กับหน่วยงานและนักลงทุนต่างๆ โดยใช้ Smart Home Garden เป็นโมเดลต้นแบบแทน เพราะการทำงานของระบบนิเวศเพาะปลูกใช้หลักการเดียวกัน  ซึ่งกำหนดแผนงานไว้ว่าภายใน 1 ปี จะต้องผลิต Prototype เสร็จ และลง Kickstarter.com เพื่อผลักดันโปรดักส์นี้ออกสู่ตลาดเร็วที่สุด

“สำหรับแผนการในอนาคตคือ พยายามหาตลาดในประเทศ ด้วยการติดต่อกับโรงแรมที่ต้องการได้ผักแปลกๆ และให้ผู้ใช้ EverGrow ปลูกผักส่งโรงแรม เพราะเราต้องปลูกอะไรที่คนท้องถิ่นปลูกไม่ได้ ถึงจะสร้าง Valuation ให้กับสินค้าของเรา ดังนั้น สำหรับเมืองไทยจะช่วยให้คนที่ต้องการทำฟาร์มผักไม่ต้องไปแข่งกับเกษตรตัวจริงคือ ปลูกผักต่างประเทศ ถึงจะสร้างรายได้จำนวนมากให้เกิดขึ้น ส่วนเกษตรกรสามารถใช้ EverGrow ในการต่อยอดคือ การขายข้อมูลสูตรผักไทยไปให้ชาวต่างชาติง่ายกว่า ไม่ต้องขนส่งไปขาย แค่ไปปลูกที่นั้น แต่เราอาจขายในรูปแบบ Material ส่งไปให้แทน เช่น ผักโหระพา ที่ต่างประเทศราคาแพงมาก ถือเป็นผักชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนไทยได้”

โปรดักส์ EverGrow สามารถตอบโจทย์ธุรกิจเรื่องของ Social Enterprise คือการส่งเครื่องมือไปให้เกษตรกรใช้งานฟรี เพื่อช่วยในการทำการเกษตรได้สะดวก ง่าย และชาญฉลาดมากขึ้น เพราะสามารถลดอัตราการจ้างงานและการผิดพลาดในการดูแลรักษาผักผลไม้ โดยทาง EverGrow จะได้ข้อมูลทางการเกษตรและเพาะปลูกเข้ามาเพิ่มในฐานข้อมูล สำหรับนำไปวิเคราะห์และคำนวณในการพัฒนารูปแบบการเพาะปลูกในสถานที่แห่งใหม่คือ ตู้คอนเทนเนอร์ นอกจากนี้ ยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่มีสูตรการเพาะปลูกที่ให้ผลผลิตที่ดีขายให้กับลูกค้าชาวต่างชาติด้วย

ก่อนที่คนทั่วไปจะปลูกผักผลไม้หรือต้นไม้ได้ดีจะต้องมีข้อมูลที่ดีให้พวกเขา การเข้าถึงข้อมูลโดยการนำเครื่องมือไปให้เกษตรกรใช้งาน รวมถึงการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการขอข้อมูลเพาะปลูกผักผลไม้พันธุ์ต่างๆ และค้นข้อมูลของพันธุ์ผักผลไม้จากต่างประเทศ นำข้อมูลต่างๆ มาทดลองในแล็ป เพื่อคิดค้นสูตรที่ดีที่สุดและหลากหลายให้กับผู้ใช้งาน เพราะเชื่อว่าคนไม่ได้คิดปลูกผักแบบเดียวไปตลอด

“เราจึงสร้างแพลตฟอร์ม EverGrow เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลและเรียนรู้วิธีการเพาะปลูกได้ด้วยตัวเอง นอกเหนือจากคอนเทนต์สำเร็จรูปที่มีให้ และออกแบบแอพฯ ให้สามารถจับเทรนด์ในการเข้ามาใส่ข้อมูลเพาะปลูกด้วยว่า ช่วงนี้คนนิยมปลูกอะไร และเราก็จะนำข้อมูลที่คนสนใจมาทำการวิจัยเพื่อหาสูตร อื่นๆ มาสนับสนุนเพิ่ม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะช่วยให้คอนเทนต์ของ EverGrow เติบโตได้อย่างรวดเร็วและตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในระยะยาวและยั่งยืน เกิดเป็นองค์ความรู้ด้านการเกษตรขนาดใหญ่ขึ้นในอนาคตผ่านอุปกรณ์ที่เข้าถึงได้ทุกคนในยุคนี้”

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ธนาคารกรุงเทพรับสมัครสตาร์ตอัพ เข้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub Season 2

ธนาคารกรุงเทพร่วมกับบริษัท Nest ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค ค้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพ 5 กลุ่ม …