Maker Space เปลี่ยนโฉมอีคอมเมิร์ซ ด้วยการพิมพ์ 3 มิติ

“Fab Cafe” คาเฟ่รูปแบบใหม่ ที่แปลงเป็นห้องปฏิบัติการฝึกหัดแก่เหล่านักคิด นักประดิษฐ์ ในการนำไอเดียมา สร้างเป็นชิ้นงาน และสามารถนำไอเดียมาปริ้นต์งานบนเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ตั้งแต่เด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป และสำหรับคนที่ริเริ่มจะเป็นฮาร์ดแวร์ สตาร์ทอัพ ซึ่งก่อตั้งโดยอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม 3 คน ได้แก่ กัลยา โกวิทวิสิทธิ์, สมรรถพล ตาณพันธุ์ และชุตยาเวศ สินธุพันธุ์

กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแฟบ คาเฟ่ (Fab Cafe)  และ

กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแฟบ คาเฟ่ (Fab Cafe) และ มรรถพล ตาณพันธุ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแฟบ คาเฟ่ (Fab Cafe)

สำหรับสหรัฐอเมริกา การจัดแคมเปญโปรโมชั่น ไม่ใช่การแจกโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแล้ว แต่เขาแจกเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ก้าวผ่านการสร้างสังคมแบบ End User ให้แต่ละบ้านกลายเป็นเมกเกอร์ผลิตโปรดักส์ใช้เองในบ้าน

พื้นที่สร้างสรรค์งานของทุกคน
กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแฟบ คาเฟ่ (Fab Cafe) กล่าวว่า แฟบ คาเฟ่ เหมาะกับครอบครัวพาเด็กเล็กมาพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาไปสู่ความสนใจในการประดิษฐ์ คนรุ่นใหม่หรือนักศึกษาที่อยากทำธุรกิจแบบของตนเอง รวมถึงบริษัทเอกชนที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทุกกลุ่มสามารถมาใช้บริการห้อง Lab Fab ได้  ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายของแฟบ คาเฟ่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ครอบครัว เพื่อใช้เป็นสถานที่ทางเลือกสำหรับครอบครัวในการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ใช่แค่การเดินเล่นห้างสรรพสินค้าเท่านั้น 2. นักศึกษา หรือกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงานที่ต้องการอยากเป็น Startup เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่อยากมีกิจการส่วนตัว โดยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ จะช่วยให้ลดต้นทุนในการทำ Prototype ตอนนี้มีเด็กหลากหลายกลุ่มได้เข้ามาทดลองใช้บริการตั้งแต่เด็กกลุ่มโปรดักส์ดีไซน์ จนถึงการออกแบบและนำมาผนวกกับเทคโนโลยี

กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับแฟบ คาเฟ่ คือ การทำงานร่วมกับบริษัทเอกชน หรือแบรนด์ในการพัฒนาโปรดักส์ออกสู่ตลาด โดยกลุ่มนี้จะเป็นการทำงานภายในร่วมกับแฟบ คาเฟ่ ในแต่ละประเทศด้วย หากมีกรณีที่ประเทศอื่นสามารถสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้ที่ตรงกับความต้องการเพื่อช่วยให้สามารถร่วมพัฒนาโปรดักส์ออกมาให้ได้ดีและเร็วที่สุด ซึ่ง 2 กลุ่มแรกทางแฟบ คาเฟ่ จะเป็นการให้บริการในรูปแบบ Social Enterprise มากกว่าการมองในแง่ของธุรกิจ เพราะต้องการให้พื้นที่นี้เป็นส่วนช่วยพัฒนาสังคม

กัลยา กล่าวต่อว่า รูปแบบธุรกิจหลักของ แฟบ คาเฟ่ แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1. คาเฟ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่มแก่คนที่เข้ามาใช้บริการแฟบ คาเฟ่ และบุคคลทั่วไป 2. พื้นที่ให้เช่าห้องประชุม จัดเวิร์กชอป หรืออีเวนต์ 3. บริการปริ้นต์งาน 3D Printer แก่ผู้ต้องการชิ้นงานต้นแบบ หรือโปรดักส์พิเศษเพื่อเป็นของขวัญ 4. บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโปรเจ็กต์ของนักศึกษา บุคคลทั่วไป หรือแบรนด์ในการผลิตโปรดักส์ต่างๆ และ 5. บริการจัด Workshop

กัลยา กล่าวว่า ตอนนี้ แฟบ คาเฟ่ แบงกอก ทำโปรเจ็กต์ส่วนใหญ่เกี่ยวกับ IOT (Internet of Things) ให้กับบริษัทต่างๆ เพราะกระแสของสมาร์ทโฮมกำลังได้รับความสนใจในประเทศไทย และเริ่มจะเข้าไปสู่กลุ่มสินค้าแฟชั่น นอกจากนี้ เริ่มมีโปรเจ็กต์ของกลุ่มดีไซเนอร์ในการนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาปรับใช้กับธุรกิจและใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในการผลิตสินค้าในแบบเอกลักษณ์เฉพาะมากยิ่งขึ้น เช่น การออกแบบจิเวลรี่ เสื้อผ้า นาฬิกา โดยสามารถเลือกวัสดุจากหน้าเว็บไซต์ เมื่อผู้ประกอบการได้รับออเดอร์จะนำแบบที่สั่งมาผลิตชิ้นส่วนและทำการประกอบเพื่อจัดส่งให้กับลูกค้า

“โจทย์ของแฟบ คาเฟ่ ข้อหนึ่งคือ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดช่องว่างของวัยกับการใช้เทคโนโลยี หาก 10-15 ปีข้างหน้า ทุกบ้านมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สมาชิกทุกคนในบ้านตั้งแต่คุณปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงหลานตัวเล็ก สามารถใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ร่วมกันได้แบบไม่มีอุปสรรค”

e202

ฉบับที่ 202 เดือนตุลาคม

Maker ผู้สร้างสินค้าด้วยเทคโนโลยี

มีเครือข่ายเสริมจุดแข็ง
สมรรถพล ตาณพันธุ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแฟบ คาเฟ่ (Fab Cafe) กล่าวว่า ในโลกนี้มีบริการของแฟบ คาเฟ่ ทั้งหมด 5 สาขา โดยที่แรกตั้งอยู่ที่ย่านชิบูยะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัท Loftwork Inc และมีสาขาอีก 4 แห่ง ได้แก่ ไต้หวัน 1 แห่ง สเปน 2 แห่ง และประเทศไทยเป็นสาขาที่ 5 ซึ่งทำให้ แฟบ คาเฟ่ มีจุดแข็งในเรื่องของเครือข่ายและองค์ความรู้อยู่ทั่วทุกมุมโลก ทำให้สามารถช่วยในเรื่องของคอนเทนต์และกรณีศึกษา เพื่อนำมาช่วยให้คำปรึกษาในโปรเจ็กต์ต่างๆ ในเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

สำหรับแฟบ คาเฟ่ ในแต่ละสาขาจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของการบริหารจัดการ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความพร้อมในการรับรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ เช่น แฟบ คาเฟ่ แบงกอก ประเทศไทย ได้มีการพัฒนากลยุทธ์และหลักสูตรใหม่ให้เหมาะกับสังคมไทย เพราะคนไทยเพิ่งเริ่มรู้จักเทรนด์ของเทคโนโลยีการพิมพ์รูปแบบใหม่หรือ 3D Printer ซึ่งต่างจากแฟบ คาเฟ่ ที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับ Fabrication กับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ และเริ่มนำไอเดียมาพัฒนาต่อยอดเข้ากับเทคโนโลยีในวงกว้างโดยเฉพาะแบรนด์สินค้าต่างๆ ดังนั้น แฟบ คาเฟ่ ญี่ปุ่น พันธกิจหลักคือ การเป็นบริษัทเอเยนซี่โฆษณา

กัลยา กล่าวต่อว่า แฟบ คาเฟ่ ญี่ปุ่นจะทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ซึ่งแบรนด์ที่ทำงานให้นั้นต่างมีการวางขายผลิตภัณฑ์ทั่วโลก ดังนั้น การมีเครือข่ายแฟบ คาเฟ่ ทั่วโลก จึงช่วยในการ กระจายตลาดได้รวดเร็วขึ้น เพราะสามารถเก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคในการพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกันได้ทันที ซึ่งเรียกว่า Digital Fabrication กับ Technology

สมรรถพล กล่าวต่อว่า เราอยากให้แฟบ คาเฟ่ บางกอก กลายเป็น Digital Creative Hub นั่นหมายถึงการสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นเวทีในการคิดสร้างสรรค์ โดยใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลเข้ามาพัฒนาโปรดักส์ในหลากหลายด้าน การใช้คำว่า Hub เนื่องจากการทำงานยุคนี้ไม่ใช่ดีไซเนอร์หนึ่งคนและจะสามารถสร้างโปรดักส์ออกมาได้เองทั้งหมด แต่จะมีส่วนอื่นๆ มาเป็นองค์ประกอบในการผลิตด้วย เพราะนอกจากดีไซน์จะต้องมีส่วนพัฒนาวัสดุใหม่ๆ ขึ้นด้วย ซึ่งวัสดุจะต้องถูกพัฒนาให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม

ปรับชีวิตคนให้ดีขึ้น
ตอนนี้มีโปรเจ็กต์เสริมของแฟบ คาเฟ่ คือ Design for the Other 90 Percent ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นทั่วโลกมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากเห็นว่า การที่ดีไซเนอร์ออกแบบโปรดักส์ขึ้นมามีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถซื้อได้เท่านั้น แต่อีก 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเข้าถึงโปรดักส์ดีไซน์ที่ดีได้ จากความเหลื่อมล้ำทางงานด้านดีไซน์นี้ จึงเกิดโปรเจ็กต์ที่รวมตัวของเหล่าดีไซเนอร์ในการออกแบบโปรดักส์ให้แก่คนทั่วไปเพื่อช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นมากกว่าแค่เป็นเพียงแฟชั่นในราคายอมเยาว์ ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ได้ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว

Cover2-2

ต่อไปรูปแบบการขายสินค้าจะเป็นการขายข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และเกิดอาชีพใหม่ขึ้นคือ ช่างซ่อมเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และศูนย์ Fab Lab ที่เป็นของภาครัฐ และเอกชน รวมถึงบริษัทต่างๆ

สมรรถพล กล่าวว่า จากไอเดียดังกล่าวจึงนำมาต่อยอดในประเทศไทย โดยหาดีไซเนอร์ที่เหมาะกับโปรเจ็กต์แบบนี้ รวมถึงหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน โดยมุ่งเน้นเรื่องการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อสังคม ซึ่งเกิดความร่วมมือเป็นโปรเจ็กต์ย่อยๆ ขึ้นมากมาย เช่น แขนขาเทียมสำหรับผู้พิการแบบพิเศษ ปัจจุบันคนต่างมองว่าแขนขาเทียมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่ไม่มีแขนและขาเท่านั้น แต่แท้จริงยังมีคนที่ต้องการนำมาช่วยให้การใช้งานอวัยวะนั้นดีขึ้นด้วย ได้แก่ คนที่มีขาหรือแขนลีบ ซึ่งทางการแพทย์อาจมองว่าไม่มีความจำเป็น ดังนั้นจึงเกิดโจทย์ในการออกแบบโปรดักส์สำหรับคนที่แขนขาลีบที่มีกำลังซื้ออุปกรณ์ช่วยในการใช้ชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

ส่วนอีกโปรเจ็กต์หนึ่งคือ การผลิตหุ่นยนต์สำหรับลูกคนงานรับจ้าง เนื่องจากมองว่า เด็กทุกคนอยากมีหุ่นยนต์เล่นเหมือนกัน แต่ด้วยฐานะทางสังคมของคนไทยที่มีความเหลื่อมล้ำและราคาหุ่นยนต์ที่ผลิตขึ้นจากโรงงานนั้นมีราคาสูง พ่อแม่ส่วนหนึ่งไม่สามารถซื้อให้ลูกได้โดยเฉพาะคนชนชั้นแรงงาน เพราะถือเป็นของสิ้นเปลือง ทำอย่างไรจะให้เด็กสามารถมีของเล่นในฝันของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นการช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กลายเป็นเมกเกอร์ผลิตผลงานเองได้ในอนาคต จึงเกิด     โปรเจ็กต์ผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ หรือ อุปกรณ์  Engineer Kid เพื่อเด็กฐานะยากจนราคาหลักร้อยขึ้น

เมกเกอร์เทรนด์
เทรนด์ของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ถ้าเปรียบเทียบน่าจะเป็นเทคโนโลยีที่คล้ายกับช่วงยุคคอมพิวเตอร์ที่เริ่มเข้ามาใช้งานภายในบ้าน ตอนนี้สังคมในสหรัฐอเมริกาในแต่ละบ้านเริ่มมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไว้ใช้งานบ้างแล้ว ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ยังตื่นเต้นและสนุกกับสิ่งของที่คนอื่นสร้างขึ้น เช่น การเล่นเกมเพื่อลุ้นรางวัลโทรศัพท์ไอโฟนรุ่นใหม่ แต่สำหรับสหรัฐอเมริกา การจัดแคมเปญโปรโมชั่น  ไม่ใช่การแจกโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแล้ว แต่เขาแจกเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ก้าวผ่านการสร้างสังคมแบบ End User ให้แต่ละบ้านกลายเป็นเมกเกอร์ผลิตโปรดักส์ใช้เองในบ้าน

สมรรถพล คาดว่า ในระยะเวลา 1-2 ปีนี้ อาจเห็นโปรดักส์ใหม่ๆ เนื่องจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใช้ภายในบ้านสามารถผลิตวัสดุในแบบใหม่หลากหลายมากขึ้นในเครื่องเดียว ตอนนี้สามารถพิมพ์วัสดุที่เป็นพลาสติกได้สูงสุดคือ 2 สี แต่ต่อไปทิศทางการพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติ คือการสามารถผลิตไม้ ปูน อิฐ โลหะ ในเครื่องเดียวได้ ทำให้สร้างบ้านได้หนึ่งหลังทันที ซึ่งมหาวิทยาลัย MIT ได้มีการพัฒนาวัสดุหลากหลายบนเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ให้สามารถผลิตชิ้นงานสูงถึง 10 ชิ้น ในเครื่องเดียว

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถผลิตน้ำตาล แป้ง และวัสดุที่มีส่วนผสมของแป้งได้ และที่ก้าวไกลไปกว่านี้คือ สามารถผลิตไตเทียมได้แล้ว ซึ่งฟังจากรายการ TED Talk โดยแพทย์คนนี้ได้นำเซลล์ของร่างกายไปปลูกถ่ายในห้องแลปและนำมาผ่านกระบวนการของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งตอนนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการอนุญาตให้สามารถนำมาทดแทนไตจริง เนื่องจากได้ผ่านการทดสอบไม่มีผลต่อต้านหรือข้างเคียงกับมนุษย์

เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน จัดเป็นเมืองที่โดดเด่นเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้มากเมืองหนึ่งในทวีปยุโรป และมี Fab Lab ให้บริการกระจายแต่ละหมู่บ้านด้วย ซึ่งประชาชนในเมืองต่างเข้ามาใช้งานกันอย่างมาก เช่น ซื้อข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการและนำไปที่ Fab Lab เพื่อปรึกษาเจ้าหน้าที่หรือทำการพิมพ์โปรดักส์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ด้วยตัวเอง เช่น ฉันต้องการช้อนที่ผลิตใช้งานให้เหมาะกับคนในบ้าน และอยากได้เป็นวัสดุไทเทเนียม แต่เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่รองรับการพิมพ์ไทเทเนียมที่บ้านไม่มี จึงมาใช้บริการที่ Fab Lab ของหมู่บ้าน หรือฉันสนใจอยากได้โปรดักส์ของ  อิเกียแต่ไม่อยากเสียค่าจัดส่งจึงซื้อแค่ข้อมูลการออกแบบจากดีไซเนอร์ เพื่อนำมาพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ของหมู่บ้านนี้ และเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในบาร์เซโลนา

ถึงแม้ในว่าอนาคตคนจะเริ่มเป็นเมกเกอร์มากขึ้น สามารถผลิตสิ่งของต่างๆ ได้ด้วยตัวเองเพียงมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แต่ว่าเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตในมิติใหม่เท่านั้น ซึ่งอาชีพในอนาคตของคนที่เคยอยู่ในกระบวนการผลิตสินค้า อาหาร หรือเจ้าของโปรดักส์ที่เป็น Physical อาจเปลี่ยนไป เช่น อิเกีย ที่เริ่มเปลี่ยนจากขายเฟอร์นิเจอร์มาขายในรูปแบบข้อมูล นั่นคือ ปรับการขายเป็นอีคอมเมิร์ซในรูปแบบไฟล์ข้อมูลการผลิต ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนค่าขนส่งและอื่นๆ ลงได้อย่างมาก เพราะเพียงแค่ผู้ซื้อซึ่งในประเทศนั้นไม่มีอิเกียแต่สามารถซื้อสินค้าในแบบที่ต้องการได้สะดวก

ต่อไปรูปแบบการขายสินค้าจะเป็นการขายข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และเกิดอาชีพใหม่ขึ้นคือ ช่างซ่อมเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และศูนย์ Fab Lab ที่เป็นของภาครัฐ และเอกชน รวมถึงบริษัทต่างๆ อาจนำจุดเด่นของเครื่องพิมพ์ 3 มิติในการช่วยลดค่าขนส่งสินค้า เช่น แคนอน เปิดให้คนสั่งซื้อกล้องผ่านออนไลน์และศูนย์แคนอนสามารถพิมพ์โมเดลกล้องแต่ละรุ่นได้เองเพียงแค่รอชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานเท่านั้น และนำมาประกอบภายในประเทศหรือศูนย์ได้ทันที ซึ่งการทำรูปแบบนี้จะช่วยลดต้นทุนในการจัดส่งสินค้า และประหยัดพื้นที่ในการเก็บสต๊อกสินค้าด้วย

“หากมีไอเดียแต่ไม่ลงมือทำ สิ่งนั้นก็จะเป็นแค่ไอเดีย ตอนนี้เริ่มมี Maker Society เกิดมากขึ้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะหาคนที่สนใจเหมือนกันร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานกันง่ายขึ้น และนี่เป็นส่วนหนึ่งในความตั้งใจจะสร้างแฟบ คาเฟ่ ให้เป็น HUB สำหรับเหล่าเมกเกอร์คนไทย” สมรรถพล กล่าว

กัลยา กล่าวทิ้งท้ายว่า ”แฟบ คาเฟ่ บางกอก ต้องการให้คนที่เข้ามาสนุกกับเทคโนโลยี โดยการนำทั้งเรื่องของ Creative และ Design มาร่วมไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งจะแตกต่างจากแห่งอื่น เนื่องจาก Maker Space อื่นจะเน้นเรื่องทางด้านวิศวกรรม และพัฒนาโปรดักส์แบบงานชิ้นใหญ่ แต่สำหรับ แฟบ คาเฟ่ จะเน้นโปรดักส์ที่ใกล้ตัวผู้บริโภคสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้โดยข้อมูลในการมาใช้วางแผนในการพัฒนาและผลิตโปรดักส์เกิดจากการใกล้ชิดกับผู้บริโภคทำให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกส่งผลให้มองว่าโปรดักส์แบบไหนจะช่วยให้การใช้งานของคนสนุกมากยิ่งขึ้น”

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

Jet.com ปรับใหญ่-สะท้อนเทรนด์เว็บช้อปปิ้งยุคนี้

เว็บช้อปปิ้ง Jet.com ปรับระบบใหม่ แสดงสินค้าต่างๆกันไปตามเมือง, ต่างกันไปตามหมวด เช่นหมวดเสื้อผ้าจะมีรูปและคลิปคนใส่จริง, และสับเปลี่ยนหน้าเว็บตามเวลากลางวัน-กลางคืนด้วย