ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างเหล่า Maker ในแบบ D.I.T

เมกเกอร์ ซู อีกหนึ่ง Maker Space ของไทย ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมกับกระแสเมกเกอร์ไทยที่เกิดจากความสนใจของเหล่าสตาร์ทอัพที่เริ่มหันมาผลิตผลงานในสาย Hardware หลังจากเห็นเทรนด์เมกเกอร์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นประเทศแรกในการจุดประกายให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพสาย Hardware และเริ่มเกิด Maker Space ขึ้นอย่างแพร่หลาย

ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Maker Zoo

ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Maker Zoo

แม้คนพิการก็สามารถเป็นเมกเกอร์ได้ เนื่องจากผู้ร่วมก่อตั้งคือไบรอันและพี่กระติบที่มีความสนใจในการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือสังคมและมีความสนใจในธุรกิจประเภท SE (Social Enterprise)

ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Maker Zoo กล่าวว่า เมกเกอร์ ซู  เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในอดีตของการเป็น Hardware Startup ที่ผลิต โปรดักส์ออกมาชิ้นหนึ่งแต่สุดท้ายพบกับความล้มเหลว โดยประสบการณ์ครั้งนั้นถือเป็นแรงผลักดันให้ลุกขึ้นสู้ใหม่ ด้วยการนำเอาสิ่งที่ผิดพลาดมาเป็นเป้าหมายในการสร้างเมกเกอร์ ซู เพื่อช่วยเหลือเหล่า Hardware Startup ที่ต้องการเป็นเมกเกอร์ให้พวกเขาสามารถเดินทางไปถึงจุดมุ่งหมาย ซึ่งจะนำอุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่เคยเจอมาแชร์ แนะแนวทางในการวางแผนให้กับเหล่าเมกเกอร์

“ผมทำงานกับเพื่อนสนิทอีก 3 คน ซึ่งแต่ละคนจะมีความสามารถโดดเด่นแตกต่างกัน คนแรกชื่อ สุ หญิงไทยที่เคยใช้ชีวิตอยู่ประเทศจีนมา 10 ปี สุจะทำหน้าที่ประสานงานกับบริษัทต่างๆ ในจีน รวมถึงค้นข้อมูลเพื่อหาแหล่งผลิต ซัพพลายเออร์ และเอเยนซี่ ที่ช่วยทำ Prototype หรือผลิตโปรดักส์ที่นั่น คนที่สองคือ หนุ่ม จะรับผิดชอบงานส่วนโปรแกรมเมอร์ทั้งในฝั่งของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ที่พร้อมให้คำปรึกษากับลูกค้าได้เป็นอย่างดี คนสุดท้ายคือ ไบรอัน เพื่อนต่างชาติ ที่เคยทำงานด้านตกแต่งภายในมาก่อนแต่มีความสนใจเรื่องเครื่อง 3D Printing ในการใช้ผลิต Prototype ของต่างๆ และตอนนี้ทำโปรเจ็กต์ DNA Barcode ข้าวหอมมะลิ ให้กับบริษัท SE รายหนึ่งในไทย”

ความเจ็บปวดของเมกเกอร์
ภัทรพร กล่าวต่อว่า ช่วงที่สร้างโปรดักส์ทำให้รู้ว่าคนที่จะเป็น Hardware Startup เวลาเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นอีกเท่าตัวเมื่อเทียบกับการทำงานของ Startup ทั่วไป เพราะมีขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น  ต้องเผื่อเวลาในการจัดหาวัสดุสำหรับทำ Prototype และดูแลการผลิตให้ออกมาตรงกับที่ต้องการ ขั้นตอนการผลิตเราจะต้องเข้าใจวิธีการด้วย เนื่องจากสิ่งที่คิดกับความเป็นจริงอาจทำไม่ได้และต้องเปลี่ยนแผน  ซึ่งถ้าไม่สามารถควบคุมเวลาได้อาจส่งผลต่อโปรดักส์ กลายเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการของตลาดหรือมีเทคโนโลยีใหม่มาแทนแล้ว

ตอนเปิดในช่วง 6 เดือนแรก เราทำงานกันอย่างหนักเพื่อหารูปแบบโมเดลที่ลงตัวที่สุดว่า เมกเกอร์ ซู จะสามารถสร้างรายได้จากทางไหนบ้าง ซึ่งในช่วงแรกจึงมีการรับงานทำโปรเจ็กต์ จัด Workshop เรื่อง 3D Printer เรื่องความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ พร้อมกับสร้างแบรนด์ดิ้งควบคู่กันไป เนื่องจากเรื่องของ Maker หรือ MakerSpace เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่มากในสังคมไทย ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนจึงจะต้องสร้างรูปแบบธุรกิจเองโดยเริ่มจากศูนย์

“การเป็น Hardware Startup ควรปรับ Mind Set ใหม่ในเรื่องการวางแผนโปรเจ็กต์ที่ชัดเจน และเข้มงวดกับการทำงานในเวลาที่กำหนดไว้ เพราะคุณจะไม่รู้เลยว่ามีปัญหาอะไรที่เข้ามาให้แก้ไขในอนาคตบ้าง ทั้งเรื่องโรงงานผลิต ซัพพลายเออร์ และต้นแบบการผลิต เนื่องจากทุกอย่างมันไม่มีให้เห็นบนกูเกิล”

หลังจากลองค้นหาโมเดลที่จะมาขับเคลื่อนเมกเกอร์ ซู ให้กลายเป็นแบรนด์ที่ทุกคนรู้จักและเข้าถึงได้ จึงจัดแบ่งรูปแบบการทำงานออกเป็น 2 ด้าน คือ 1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าด้านนี้คือคนที่มีโปรเจ็กต์อยู่แล้ว ส่วนเมกเกอร์ ซู จะเข้าไปช่วยเสริมและเพิ่มเติมสิ่งที่เขาต้องการ และ 2. MakerSpace Community ลูกค้ากลุ่มนี้คือ คนที่ยังไม่มีโปรเจ็กต์แต่มีความสนใจ ซึ่งทางเราจะเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยคิดค้นโปรเจ็กต์ขึ้นมา ด้วยการเปิด Workshop เพื่อให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น 3D Printer

เมกเกอร์ ซู มีการผลิตโปรดักส์ร่วมกับลูกค้า ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา Prototype คือ การพัฒนา Yoga Mat ให้เป็นครูผู้สอนโยคะ ซึ่งเป็นการทำงานระหว่างเซ็นเซอร์เชื่อมต่อกับแอพฯ บนไอโฟนและไอแพด โดยแอพฯ จะมีบทเรียนการสอนโยคะให้ผู้เล่นปฏิบัติตาม และถ้าผู้เล่นทำท่าโยคะผิดเซ็นเซอร์จะส่งข้อมูลแจ้งไปยังแอพฯ ซึ่งข้อมูลที่เก็บต่างๆ สามารถแชร์ในโซเชียลฯ ไว้แข่งกับเพื่อนได้ และตอนนี้ได้นำโปรเจ็กต์นี้ลงไว้บน Cloud Funding และได้เงินมาประมาณ 3 หมื่นเหรียญ ภัทราพร กล่าว

บ่มเพาะนักคิดนักทำให้เป็นมืออาชีพ

“เราพยายามเปิด Workshop สำหรับมือใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น คนต้องการมี Home Automation ที่บ้านแต่ไม่มีความรู้เหล่านี้ ดังนั้น เนื้อหาที่จัดจะเริ่มต้นแนะนำโปรดักส์แต่ละชิ้นว่าสามารถนำไปปรับใช้อย่างไร เพราะต้องการสร้างให้คนไทยสามารถเป็น Power User มากขึ้น”

e202

ฉบับที่ 202 เดือนตุลาคม

Maker ผู้สร้างสินค้าด้วยเทคโนโลยี

การเป็นเมกเกอร์ คือความสุขของการที่ได้นำไอเดียที่คิดไว้มาทดลองทำสิ่งต่างๆ เป็นงานอดิเรก แต่ถ้าเมื่อใดมีการทำธุรกิจเข้าด้วยคือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เพราะการเป็น Hardware Startup ไม่สามารถทำแล้วลบเขียนโปรแกรมเหมือน Tech Startup ที่สามารถปรับแก้โปรแกรมได้ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ของตลาด แต่ Hardware คือต้นทุนวัสดุที่นำมาทดลองสร้างเป็น Prototype ด้วย และต้องมั่นใจว่า Prototype ที่นำไปผลิตเพื่อจำหน่ายออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากนั้นสามารถใช้งานได้จริง

ภัทรพร กล่าวต่อว่า สำหรับคนที่เป็นเมกเกอร์ต้องมีความชำนาญในงานที่จะผลิตขึ้นด้วย ซึ่งถ้าเมกเกอร์ขาดทักษะด้านไหนก็ควรหาผู้ชำนาญในด้านนั้นมาช่วยในการออกแบบโปรดักส์ เพราะจะทำให้การผลิตผลงานออกมาได้เร็วและลดความผิดพลาดเพิ่มขึ้น

ภายใต้การทำงานของ เมกเกอร์ ซู คลอบคลุมด้านการนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มาใช้เพื่อพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างโปรเจ็กต์ต่างๆ ให้ลูกค้า นอกจากนี้มีส่วนพัฒนาการศึกษา สังคมด้วย เพราะเป้าหมายหนึ่งในการทำงาน Maker Space นอกจากเน้นสร้างและพัฒนานวัตกรรมแล้วยังต้องการผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดกลุ่มเมกเกอร์เพื่อเปลี่ยนกระบวนความคิดของประชาชนให้ลุกขึ้นมาเป็นนักประดิษฐ์นักสร้างสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองต้องการ

“ปัจจุบันบริษัทที่ลงใน Cloud Funding เพื่อหาเงินทุนสนับสนุนหรือขายโปรดักส์จากเริ่มต้นเงินทุนเพียงไม่กี่แสนเหรียญแต่สามารถสร้างมูลค่าให้กับโปรดักส์ตัวเองถึงพันล้านเหรียญ เช่น Pebble Smart Watch ที่เริ่มทำโปรดักส์จากที่ Maker Space เล็กแห่งหนึ่ง และนำโปรดักส์ลง Cloud Funding จนกลายเป็นบริษัทพันล้านเหรียญได้”

เมกเกอร์คือ D.I.Y ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี 3D Printing หรืออิเล็กทรอนิกส์มาสร้างผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่สามารถนำมาผสมกับไอเดียอย่างอื่นได้ในวงกว้างกับหลายๆ กลุ่มเพื่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น เช่น การทำแขนขาเทียม หรือการนำ 3D Printer ไปสอนคนพิการเพื่อผลิตโปรดักส์ที่เหมาะกับพวกเขาอย่างแท้จริง

Cover1-2

Maker Zoo จะเน้นด้านการสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับคนที่ต้องการเป็น Hardware Startup และการทำงานจะอยู่ขั้น R&D เท่านั้น แต่ขั้นตอนการผลิตจะไปยังคอนเนคชั่นที่เมืองจีน

การลงทุนทำโปรดักส์ที่เป็น Hardware นั้นมีความเสี่ยงทั้งเมกเกอร์และนักลงทุนด้วย เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลว เนื่องจากไม่รู้ว่าความนิยมของโปรดักส์หรือเทคโนโลยีที่นำมาใช้จะมีอายุสั้นหรือยาวแค่ไหน บางโปรดักส์ทำไปได้เกือบเสร็จแล้วแต่เทคโนโลยีเปลี่ยนจะต้องมานั่งอัพเกรดโปรดักส์ใหม่อีก ดังนั้น ความยากของเหล่าเมกเกอร์ในสาย Hardware Startup นั้นคือทำอย่างไรให้ Product Market Fit เร็วที่สุด โดยหาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านให้คำแนะนำเพื่อผลักดันโปรดักส์ออกสู่ตลาด

เมกเกอร์กับงานพัฒนาเพื่อสังคม
ภัทราพร กล่าวว่า ปีนี้ค่อนข้างโฟกัสที่การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมในประโยชน์ของเมกเกอร์ว่า เป็นการเปิดประตูสู่การพัฒนาด้านต่างๆ แม้คนพิการก็สามารถเป็นเมกเกอร์ได้ เนื่องจากผู้ร่วมก่อตั้งคือไบรอันและพี่กระติบที่มีความสนใจในการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือสังคมและมีความสนใจในธุรกิจประเภท SE (Social Enterprise) ซึ่งมองว่ากลุ่มเมกเกอร์สามารถช่วยสังคมได้โดยใช้องค์ความรู้ที่มีเข้าไปช่วย โปรเจ็กต์หนึ่งที่ประทับใจคือ การทำงานร่วมกับฝ่ายนวัตกรรมของโรงพยาบาลเด็กเพื่อช่วยพัฒนาอุปกรณ์เคสใส่เครื่องวัดระดับน้ำเพื่อวัดระดับเตียงช่วยให้หัวใจคนไข้ตรงกับเครื่องวัดชีพจรหรือความดันเลือด

โดยเคสใส่เครื่องวัดระดับน้ำ มีความสำคัญมากในการแพทย์ เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวใช้เป็นเครื่องวัดระดับระหว่างเครื่องวัดชีพจร/ความดัน กับหัวใจของคนไข้ ซึ่งต้องอยู่ระดับเดียวกัน ซึ่งโปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่เมกเกอร์ ซู ได้ไปแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่อง The Future Healthcare ในมุมมอง Maker Space ที่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติและได้พบว่า ทางโรงพยาบาลมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก เพราะไม่สามารถหาซื้อเครื่องวัดระดับน้ำที่สามารถติดตั้งกับเครื่องวัดชีพจรและลากวัดมาที่หัวใจของผู้ป่วยได้ เพราะไม่มีการผลิตขาย โดยทั้ง โรงพยาบาลมีอยู่แค่อันเดียวซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ติดมากับอุปกรณ์การแพทย์อื่น

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลพยายามหาทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วยการซื้อไม้บรรทัดที่ติดเครื่องวัดระดับน้ำมา แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ได้เพราะไม่มีรูในการผูกเชือกเพื่อติดตั้งกับอุปกรณ์และดึงมาเทียบกับระดับหัวใจของคนไข้ หลังจากทีม Maker Zoo Bangkok ได้เห็นปัญหานี้จึงรีบกลับมาออกแบบ และทดลองพิมพ์เคสใส่เครื่องวัดระดับน้ำให้กับโรงพยาบาลโดยใช้เวลาแค่ 1 คืนเท่านั้น

งานในส่วนช่วยเหลือสังคมจึงเป็นงานที่เปรียบเสมือนงานหน้าบ้านที่ทำให้สังคมรู้จักกับเมกเกอร์ ซู เพราะเราต้องการให้สังคมไทยเข้าใจและเข้าถึงกับคำว่าเมกเกอร์ได้ง่าย รวมถึงต้องการสร้างวัฒนธรรมของเมกเกอร์เกิดขึ้นคือ การเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกันที่ไม่จบแค่การทำงาน D.I.Y ตอบโจทย์เฉพาะตัวเอง แต่สามารถสร้างโปรดักส์ที่ตอบโจทย์เราและแบ่งปันให้กับคนอื่นที่น่าจะได้ประโยชน์กับเรื่องนี้มากขึ้น เมื่อนำเรื่องของ Maker Culture มาร่วมด้วยจะกลายเป็น D.I.T คือ Do It Together

จีนแหล่งทรัพยากรสำคัญ
ประเทศจีนกำลังผลักดันเรื่องของเมกเกอร์และมีการให้ทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมาก รวมถึงการลงทุนจากกลุ่ม MakerSpace และที่เมืองเซินเจิ้น ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตสินค้าและขายสินค้าลอกเลียนแบบ แต่ตอนนี้จีนได้พัฒนาไปอีกขั้นคือการนำโปรดักส์ที่มีในท้องตลาดมาพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นจึงทำให้จีนกลายเป็นผู้พัฒนาโปรดักส์ใหม่เป็นแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสร้างศูนย์กลางรวมกลุ่มคนทำงานด้านเมกเกอร์เข้าไปทำงานที่นั่นรวมถึงเมกเกอร์จากประเทศต่างๆ ต้องไปพักอาศัยที่เซินเจิ้นช่วงผลิตสินค้าครั้ง 3-4 เดือน ซึ่งทำให้จีนได้รับองค์ความรู้ด้านเมกเกอร์จากแหล่งต่างๆ มากมายไปด้วย

ภัทราพร กล่าวว่า จากกระแสของเมกเกอร์ทำให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในประเทศจีนยิ่งได้รับความนิยม และเป็นแหล่งสำคัญของเหล่าเมกเกอร์หาสิ่งของเพื่อสร้างโปรดักส์ของตน ซึ่งช่วงแรกถือเป็นอุปสรรคสำคัญมากในการติดต่อธุรกิจกับจีนเนื่องจากยังพูดภาษาอังกฤษกันไม่ได้เท่าไรนัก แต่หลังจากเมกเกอร์มีการเติบโตเพิ่มขึ้น เริ่มมีบริษัทที่เป็นเอเยนซี่ในการช่วยเหลือกลุ่มเมกเกอร์ในการติดต่อกับซัพพลายเออร์ชาวจีน และการหาโรงงานผลิตชิ้นส่วนต่างๆ จนกระทั่งเป็นดีลเลอร์ในการจัดส่งสินค้าไปให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าทั่วโลก เช่น Seeed Studio ที่เริ่มจากทำธุรกิจ D.I.Y และผันตัวเองมาเป็นเอเยนซี่ในการช่วยจัดหาทุกอย่างที่เมกเกอร์ต้องการ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้ายจบกระบวนการผลิต หรือถ้าต้องการให้เป็นผู้จัดส่งสินค้าไปยังลูกค้าที่สั่งซื้อ Seeed สามารถดูแลจัดการให้ได้หมด ซึ่งทำให้ Seeed สามารถมีรายได้ต่อปีมากถึง 30 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ จีนยังมี Accelerator สำหรับเหล่าเมกเกอร์ด้วย เช่น Brinc เชื้อสายจีน สำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งเมื่อเมกเกอร์คนไทยที่ต้องการมีนายทุนสนับสนุนการทำงานจะแนะนำให้ไปเสนอไอเดียที่บริษัทนี้ หากเขาสนใจจะเข้ามาช่วยบ่มเพาะตั้งแต่เริ่มตั้งไข่จนประสบความสำเร็จในตลาด โดยเมื่อเรียนจบหลักสูตรของ Brinc เมกเกอร์สามารถจัดตั้งบริษัทเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ของตนได้ทันที พร้อมมีฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝ่ายการตลาด และอื่นๆ ซึ่งระหว่างเข้าโครงการกับ Brinc จะมีเงินทุนลักษณะการให้ยืมสร้างผลิตภัณฑ์และมีข้อตกลงตามแต่ละขั้นถ้าทำถึงเกณฑ์ก็จะเพิ่มทุนให้ตามลำดับ

สังคมเมกเกอร์ไทย
เมืองไทยเริ่มมีกลุ่มเมกเกอร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละกลุ่มจะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป เช่น Home of Maker ของ Gravitech ซึ่งมีความชำนาญด้านอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากคนต้นเรื่องเกิดจากกลุ่มวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตเมนบอร์ด หากมีใครที่สนใจด้านเมกเกอร์อิเล็กทรอนิกส์จะแนะนำไปที่ Home of Maker เพราะเขาจะได้รับประโยชน์มากกว่า หรือถ้าเป็นงาน D.I.Y Creative Craft จะแนะนำไปที่ PIN Creative Space เป็นของหมอจิมที่ต่อยอดจากธุรกิจ PIN ของภรรยาจากร้านงานฝีมือ

Maker Zoo จะเน้นด้านการสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับคนที่ต้องการเป็น Hardware Startup มากกว่า และการทำงานจะอยู่ถึงแค่ขั้น R&D เท่านั้น แต่ขั้นตอนการผลิตจะแนะนำไปยังคอนเนคชั่นที่เมืองจีนให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ในการดำเนินการผลิตต่อไป หลังจากเปิดให้บริการได้ 1 ปีกว่าได้พัฒนาโปรดักส์ให้กับลูกค้าและส่งต่อไปในขั้นตอนการผลิตประมาณ 3-4 รายแล้ว

“เรามองว่าทั้งสตาร์ทอัพและเมกเกอร์ส่วนใหญ่ต้องการสร้างโปรดักส์ระดับโลกแต่ว่าบางทีการเข้าใจปัญหาก็เกิดจากสิ่งใกล้ตัวหรืออะไรที่อยู่ในท้องถิ่นเราเอง อย่างกลุ่มการเกษตร เช่น Smart Farming  ที่ทุกวันนี้สามารถพัฒนาได้อีกเยอะ ไม่จำเป็นต้องเน้นระดับโลกเพราะไทยก็เป็นประเทศที่ใหญ่ระดับอาเซียนแล้ว”

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ธนาคารกรุงเทพรับสมัครสตาร์ตอัพ เข้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub Season 2

ธนาคารกรุงเทพร่วมกับบริษัท Nest ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค ค้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพ 5 กลุ่ม …