Pastry Garden ร้านเค้ก-คุกกี้ ของคนรุ่นใหม่บนโลกออนไลน์

   ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำธุรกิจมากขึ้น เช่นเดียวกับ เอม-อัจจิมา กีรติขจร เจ้าของร้าน “Pastry Garden”  ร้านเค้กและคุกกี้ออนไลน์ ที่เลือกเปิดหน้าร้านบนโซเชียลมีเดียยอดนิยม อย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม นำเสนอต่อผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการสร้างความประทับใจให้กับคนพิเศษเนื่องในโอกาสสำคัญ หรือช่วงเทศกาล เพื่อมอบเป็นของขวัญ โดยมีเค้กหรือขนมเป็นตัวช่วยส่งต่อความรู้สึก โดยได้คอนเซ็ปต์ชื่อร้านมาจากแรงบันดาลใจในการทำขนมบนพื้นที่สวนอันร่มรื่น

 เอม-อัจจิมา กีรติขจร เจ้าของร้าน “Pastry Garden”

เอม-อัจจิมา กีรติขจร เจ้าของร้าน “Pastry Garden”

เมื่องานประจำไม่ใช่สิ่งที่ฝัน
เอม เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเปิดร้าน Pastry Garden เกิดขึ้นหลังจากที่เธอค้นพบว่า ความรู้สึกสนุกในการทำขนมที่สะสมมาตั้งแต่ยังเด็กเป็นสิ่งที่เธอรักและต้องการทำอย่างจริงจัง หลังจากที่เอมเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขออนุญาตครอบครัวไปศึกษาต่อด้านการทำขนมที่ศูนย์การประกอบอาหารนานาชาติ หรือ The International Culinary Center (ICC) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยเธอได้ศึกษาตั้งแต่การทำคุกกี้ เค้กแต่งงาน ไปจนถึงการตกแต่งหน้าเค้กโดยเฉพาะเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี

“หลังจากเรียนจบรู้ตัวเลยว่าเราไม่เหมาะกับการทำงานออฟฟิศ ซึ่งตอนนั้นพ่อแม่ก็ยังไม่เข้าใจว่าการประกอบอาชีพทำขนมจะประสบความสำเร็จอย่างอาชีพอื่นๆ ได้อย่างไร เราก็รู้แต่เพียงว่าเราชอบค้าขาย ชอบงานประดิดประดอย และรักการทำขนมมานานแล้ว แม้ว่ามันไม่ได้สบายอย่างที่คนอื่นคิดก็ตาม ซึ่งหลังจากเรียนจบกลับมาไทย ได้ลองเปิดรับออเดอร์ขนมบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ซึ่งเราได้ลงผลงานการทำขนมไว้ตั้งแต่ช่วงที่ยังเรียนอยู่ ทำให้ก้าวแรกได้รับกระแสตอบรับที่ดี เนื่องจากมีผู้ติดตามอยู่จำนวนหนึ่ง จากนั้นได้ทำเรื่อยๆ จนเกิดเป็นร้านขึ้น” เอม กล่าว

e204

ฉบับที่ 204 เดือนธันวาคม

ปรับร้านค้ายุคดิจิทัล รับเทรนด์ปี 59

มาการอง-เค้กฟองดอง จุดขายของร้าน
เอม เล่าต่อว่า สำหรับสินค้าที่เป็นจุดเด่นและได้รับความนิยมมากที่สุดของร้านคือ มาการองลายการ์ตูนต่างๆ และเค้ก Fondant หรือเค้กน้ำตาลปั้น ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจนเป็นที่จดจำของลูกค้า ซึ่งมีขั้นตอนการปั้นที่จะต้องใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ไปจนถึง 1 วัน แล้วแต่ลวดลายที่ลูกค้าต้องการ โดยเอมจะทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมภายในร้าน และส่งต่อหน้าที่ต่างๆ ให้กับทีมงาน ทั้งนี้ ลูกค้าจึงต้องทำการสั่งเค้กล่วงหน้า 3-5 วัน หรือหากเป็นช่วงเทศกาลต้องสั่งล่วงหน้า 5-7 วัน เพื่อที่ร้านจะสามารถรองรับความต้องการของลูกค้า ทั้งลูกค้าทั่วไปและบริษัทต่างๆ ที่สั่งเข้ามาได้อย่างครบถ้วน

shop2

สิ่งสำคัญคือการพยายามคงคุณภาพสินค้า และเอกลักษณ์ในการปั้นชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็นแนวการตกแต่ง โทนสีที่ใช้ เพื่อให้เป็นมาตรฐาน และเป็นที่จดจำของลูกค้า

“ปัจจุบันเรามีออเดอร์เพิ่มมากขึ้น แต่ที่สิ่งสำคัญคือ การพยายามคงคุณภาพสินค้า และเอกลักษณ์ในการปั้นชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็นแนวการตกแต่ง โทนสีที่ใช้ เพื่อให้เป็นมาตรฐาน และเป็นที่จดจำของลูกค้า ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาสั่งกับเราจะเห็นภาพตัวอย่างจากเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมมาก่อนแล้ว ขณะที่ลูกค้าบางคนต้องการให้เราออกแบบให้ ซึ่งเรามองว่าจะต้องทำตามความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด เพราะเข้าใจว่าสินค้าเรามีความสำคัญและความหมายสำหรับเขา” เอม กล่าว

ขายผ่านออนไลน์เป็นหลัก
ตัวร้าน Pastry Garden ที่ตั้งอยู่บนถนนราชพฤกษ์เธอใช้เป็นสตูดิโอในการทำขนม อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่จัดสอน เนื่องจากทางร้านเปิดคลาสสอนทำเค้ก Fondant และมาการองการ์ตูนให้กับผู้ที่สนใจ ดังนั้น ออเดอร์เกือบทั้งหมดของร้านจะมาจากการสั่งซื้อผ่านทางไลน์ อีเมล เฟสบุ๊ก และอินสตาแกรม ที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามบนเพจเฟซบุ๊กจำนวนกว่า 4 หมื่นราย และบนอินสตาแกรมกว่า 1.7 หมื่นราย

“ส่วนในด้านการจัดส่งและการสั่งซื้อ/ชำระเงิน ทางเราได้ใช้บริการแท็กซี่เพื่อจัดส่งสินค้า อีกทั้งยังมีจุดบริการนัดรับที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางหว้า หรือลูกค้าสะดวกสามารถเข้ามารับที่สตูดิโอเองได้ โดยการสั่งซื้อ ลูกค้าจะต้องโอนเงินค่าขนมเต็มจำนวน เราจึงจะเริ่มทำ ปัจจุบันมีลูกค้าเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าตัว และมีออเดอร์สั่งเค้กเข้ามาเฉลี่ย 100 ก้อนต่อเดือน”

กระแส “ปากต่อปาก” สร้างความเชื่อมั่น
เอม เล่าต่อว่า ปัจจุบันมีร้านมาการองและเค้กฟองดองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่เธอกลับมองว่าร้านอื่นๆ ไม่ได้เป็นคู่แข่งทางธุรกิจแต่อย่างใด เนื่องจากแต่ละร้านจะมีสไตล์การตกแต่งขนมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งไม่สามารถเลียนแบบกันได้ และสุดท้ายลูกค้าจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าชื่นชอบในแบบของร้านใด แม้ว่าลูกค้าจะไม่สามารถคาดเดาถึงรสชาติได้ก็ตาม

“เราไม่สามารถบอกลูกค้าได้ว่ารสชาติจะถูกใจเขาไหม สิ่งที่เราทำได้จึงเป็นการทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น โดยอาศัยการรีวิวความประทับใจจากลูกค้าคนก่อน เพื่อช่วยทำให้ลูกค้าใหม่มั่นใจว่าสั่งเค้กจากร้านเราแล้วจะได้รับของที่ถูกใจและมีคุณภาพแน่นอน ทั้งนี้ลูกค้าที่เข้ามาสั่งซื้อส่วนใหญ่จะมาจากการบอกต่อ จากเพื่อนๆ และเห็นจากอินสตาแกรมของคนดังต่างๆ เช่น เต๋อ ฉันทวิช จากรายการเปรี้ยวปาก, แบมแบม The Voice เป็นต้น”

สุดท้ายนี้ เอม ได้ฝากถึงคนทำธุรกิจว่า ไม่อยากให้นึกถึงจุดที่ง่ายก่อน แต่อยากให้ลองนึกว่า อะไรคือสิ่งที่เราชอบ ที่เราพร้อมจะเรียนรู้และมุ่งมั่นทำให้ดี และเป็นสิ่งที่เรารู้จริงกับมัน เพราะคงไม่มีธุรกิจใดที่ทำแล้วจะประสบความสำเร็จในทันที แม้ว่าคุณจะมีต้นทุนที่สูงกว่าคนอื่น มีคนคอยสนับสนุน หรือมีเงินทุนมากก็ตาม จะต้องมีปัญหาให้พบเจอและแก้ไขอยู่เสมอ

 

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

Co working space สำหรับสตาร์ทอัพ แหล่งเรียนรู้งานพิมพ์ดิจิทัล ใช้งานฟรี

จะเห็นว่าขณะนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามกระแสดิจิทัล มีความต้องการสินค้าที่เจาะจงมากขึ้น มีเอกลักษณ์ในแบบของตนเอง ธุรกิจเองก็ต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อความต้องการดังกล่าวให้มากขึ้นกว่าเดิม หนึ่งธุรกิจที่เริ่มเปลี่ยนให้เห็นบ้างแล้ว...