Big Data เป็นสิ่งที่เราอาจได้ยินและพูดถึงกันมานานแล้ว แต่การจะนำข้อมูลปริมาณมหาศาลนี้มาประยุกต์ใช้และสร้างประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้อย่างไร ซึ่ง DOM ก็เป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่ช่วยดึงข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ เช่น พูดถึงแบรนด์อย่างไร ที่ไหน เมื่อใด และใช้คำว่าอะไร เพราะอย่างที่เราทราบกันว่า พฤติกรรมผู้บริโภคสมัยนี้จะชอบค้นหาการรีวิวสินค้าก่อนซื้อ โลกออนไลน์จึงเป็นพื้นที่ที่แบรนด์มีผลต่อการสร้างการรับรู้ค่อนข้างมาก

เทพฤทธิ์ วงศ์แก้ว (บอย), นารีรัตน์ แซ่เตียว (หยก), พัชรพร เจนวิริยะกุล (พลอย) และสิรภพ ณ ระนอง (ไม้เอก) ทีมพัฒนาโซลูชั่น DOM จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เครื่องมือดีที่ช่วยองค์กร และแบรนด์ธุรกิจ
นารีรัตน์ แซ่เตียว หรือน้องหยก หัวหน้าโครงการ เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของ DOM หรือ Data and Opinion Mining Engine ว่า ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็น Smart Social Network Analytics Tool ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาล (Big Data) จากโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลความคิดเห็นของคนทั่วไปได้กว้างขวางมากขึ้นในเวลาอันสั้น โดย DOM จะเก็บข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้ง Facebook, Twitter, Foursquare และ Pantip เพื่อทำการวิเคราะห์ความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น ความคิดเห็นของประชาชนต่อสินค้าและบริการ ความคิดเห็นของประชาชนต่อบริการสาธารณะต่างๆ เป็นต้น
DOM มีการวิเคราะห์ข้อมูล 3 ส่วนหลัก ได้แก่ Influencer Analysis เพื่อระบุผู้คนที่มีอิทธิผลในการพูดถึงแบรนด์นั้นๆ บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก Sentiment Analysis เพื่อวิเคราะห์ความคิดเห็นของแต่ละข้อความจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก และ Abnormal Situation Detection เพื่อทำการตรวจหาเหตุการณ์ผิดปกติ (Anomaly Event) หรือประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ถูกพูดถึงมากผิดปกติ โดยวิเคราะห์จากความถี่ของการ Tweets ข้อความในแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันเราสามารถใช้งานใน 2 ลักษณะคือ แอพพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือ (Mobile Application) ชื่อว่า “Ask DOM” และเว็บแอพพลิเคชั่น (Web Application) ชื่อว่า “DOM Dashboard”
ปัจจุบันเป็น Commercial เต็มตัว และแพลนที่วางไว้กับทาง G-Able คือ หลังจากโซลูชั่นเริ่มไปได้ดีในตลาด ทางทีมก็จะจดทะเบียนเป็นบริษัทซึ่งจะจดบริษัทกันได้ภายในปีนี้
ความสามารถของ DOM จะทำหน้าที่คล้ายกับโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป แต่มีความแตกต่างอยู่ตรงที่ DOM สามารถทำงานได้เองโดยคำสั่งจากโปรแกรมที่ถูกออกแบบให้มีความสามารถในการเข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ที่มีการโพสต์ ทวีต และอัพโหลดความคิดเห็นของผู้คนจากคีย์เวิร์ดที่ต้องการสำรวจ แล้วประมวลผลว่าคนส่วนใหญ่กำลังพูดเรื่องนั้นๆ ไปในทิศทางใด แทนการใช้คนเดินออกไปเก็บแบบสอบถาม ซึ่งใช้เวลาในการเก็บข้อมูลและประเมินผลนานกว่าจะได้แบบสอบถามให้ได้จำนวนมาก แต่ DOM สามารถเข้าไปรวมรวมข้อมูลการพูดถึงมาไว้หลังบ้านได้เป็นแสนๆ ข้อความ หรือมากเท่าที่มีคนโพสต์ข้อความบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งเราจะได้ความคิดเห็นที่กว้างมากขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น ใช้เวลาสั้น และประหยัดค่าใช้จ่าย
![]() |
ฉบับที่ 196 เดือนเมษายนซื้อ-ขายใน AEC+6 ด้วยโมบายล์ |
ตอบโจทย์อย่างครอบคลุม ทั้งเว็บฯ และโมบายล์
น้องหยก ยังได้อธิบายอีกว่า Ask DOM เป็นแอพพลิเคชั่นแนะนำและประเมินความคิดเห็นโดยการวิเคราะห์ข้อมูลเครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับโทรศัพท์มือถือ พัฒนาขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลระดับความพึงพอใจของประชาชนต่อเรื่องราว ประเด็นต่างๆ โดยวิเคราะห์จากความคิดเห็นของประชาชนในเครือข่ายสังคมออนไลน์ Ask DOM จะนำเสนอข้อมูลกิจกรรมประกอบกับข้อมูลการเดินทางและการจราจรพื้นฐาน โดยอ้างอิงจากตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้งาน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลที่สนใจ โดยใช้คำสำคัญ (Keywords) หรือประโยคคำถาม (Questions) ในภาษาธรรมชาติที่ต้องการได้ และผู้ใช้งานยังสามารถเรียกดูข้อมูลสถานที่สำคัญ เหตุการณ์และกิจกรรมต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งข้อมูลการจราจรในรูปแบบของแผนที่กรุงเทพมหานครได้อีกด้วย
ในส่วนของ DOM Dashboard เป็นเว็บแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนต่อแบรนด์ ธุรกิจ หรือสินค้าและบริการในมิติต่างๆ เช่น คุณภาพสินค้า การบริการ เป็นต้น มีการเปรียบเทียบ Feedback กับแบรนด์คู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกัน เพื่อให้เจ้าของธุรกิจสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับปรุงสินค้าหรือการบริการให้มีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
เสริมจุดแข็ง สร้างความแกร่ง พร้อมลุยตลาด
สำหรับจุดแข็งของ DOM คือ การใช้ข้อมูลภาษาไทยที่ได้จากการ Research ในการอ้างอิง ซึ่งข้อมูลจะมีความถูกต้องแม่นยำ และการได้ Incubate กับทาง G-Able โดยการดึงเอาเทคโนโลยีบางตัวเข้ามาใช้ด้วย เช่น เรื่องของแผนที่ประเทศไทยที่ใช้ของ Esri หรือการไปรวมกับเทคโนโลยี BI (Business Intelligence) เพราะข้อมูลที่ได้จากโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่จำเป็นว่าจะต้องมาวิเคราะห์ในรูปแบบ Sentiment เพียงอย่างเดียว มันสามารถจะนำไปต่อยอดกับระบบอื่นได้
ความร่วมมือกับทางบริษัท G-Able ตอนนี้ ทาง G-Able จะช่วยดูแลเรื่องของ Marketing and Sales ให้ทั้งหมด ส่วนทางทีม DOM ก็พัฒนาโซลูชั่นให้ตอบสนองต่อตลาดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งโซลูชั่นมีการพัฒนาไปจากเดิมมาก ปัจจุบันถือได้ว่าเป็น Commercial เต็มตัว และสำหรับแพลนที่วางไว้กับทาง G-Able คือ หลังจากโซลูชั่นเริ่มไปได้ดีในตลาด ทางทีมก็จะจดทะเบียนเป็นบริษัท โดยมี G-Able เป็นผู้ลงทุน ซึ่งก็คาดว่าคงจะจดบริษัทกันได้ภายในปีนี้