“เท้า” เป็นอวัยวะสำคัญที่คอยแบกรับน้ำหนักการยืน การทรงตัวของคนเรา ช่วยให้เราดำรงชีวิตหรือทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมากมาย และใครหลายคนก็ทราบกันดีว่าโรคเบาหวานเป็นภัยร้ายตัวฉกาจที่อาจนำไปสู่การต้องตัดขาหรือเท้าได้ ซึ่งในวันนี้วิศวกรหนุ่มรายหนึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญตรงจุดนี้ คิดค้นนวัตกรรมที่จะนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการออกแบบอุปกรณ์พยุงส้นเท้าและฝ่าเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยให้แพทย์สามารถนำมาประกอบการวินิจฉัยโรคและการติดตามผลในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากเด็กหนุ่มวิศวกรรม สู่การพัฒนาเพื่อฝ่าเท้า และโรคเบาหวาน
“ผมอยากทำอะไรที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ทำเสร็จแล้วต้องใช้งานได้ มีประโยชน์ ไม่ใช่ทำส่งแล้วทิ้งงานไปเลย กระทั่งอาจารย์ได้พาไปแนะนำให้รู้จักกับนายแพทย์คมวุฒิ คนฉลาด ที่โรงพยาบาลสมเด็จราชเทวี ณ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นคนริเริ่มให้โจทย์ในการประดิษฐ์เครื่องมือนี้ เนื่องจากคุณหมอมีไอเดียที่จะพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์อยู่มากมาย แต่ยังขาดทักษะทางวิศวกรรม และถ้าให้เราคิดโจทย์เอง ทำออกมามันอาจจะไม่ได้ใช้ แต่ตรงนี้คุณหมอต้องการนำไปใช้อยู่แล้ว พัฒนาเสร็จก็สามารถใช้งานกับคนไข้ได้เลย จึงตัดสินใจที่จะทำตัวนี้ขึ้นมา” ยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ ผู้พัฒนาผลงาน Podogram Analyzer หรือระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะ กล่าวถึงที่มาของการพัฒนา
ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการออกแบบอุปกรณ์พยุงส้นเท้าและฝ่าเท้าชนิดแรงกดบริเวณสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือโจทย์ที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนความคิดกับคุณหมอ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการต้องถูกตัดขาหรือเท้า เพื่อรักษาชีวิตจากแผลอักเสบติดเชื้อที่เท้ามากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า อาการเท้าเบาหวาน ซึ่งเกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นกลุ่มอาการของเท้าที่เกิดจากโรคปลายประสาทเสื่อม เส้นเลือดส่วนปลายตีบตัน และการติดเชื้อ ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียการทำงานของเท้า และเสี่ยงเกิดบาดแผลเนื่องจากเท้าชา ไร้ความรู้สึก และที่สำคัญคือ รองเท้าหรือลักษณะการเดินที่ไม่สอดรับกับแรงกดของฝ่าเท้า ก็อาจทำให้เกิดแผลกดทับ ที่นำไปสู่การต้องตัดขาหรือเท้าได้ โดยจากข้อมูลระบุว่าทุกๆ 30 วินาทีทั่วโลก จะมีผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดขา 1 คนจากปัญหาแผลที่เท้า
![]() |
ฉบับที่ 196 เดือนเมษายนซื้อ-ขายใน AEC+6 ด้วยโมบายล์ |
ตอบโจทย์อย่างสร้างสรรค์ หวังช่วยวงการแพทย์ในประเทศ
ปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศส่วนมากยังไม่มีเทคโนโลยีสำหรับตรวจวิเคราะห์แรงกดของฝ่าเท้าโดยเฉพาะ ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดขาหรือเท้ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ดังนั้น การพัฒนาเครื่องมือชิ้นนี้ เป็นเหมือนการปฏิวัติวงการแพทย์ในประเทศ ที่เกี่ยวกับการรักษาโรคเบาหวาน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายกันจากต่างประเทศในราคาระดับหลักแสนจนถึงหลักล้านแล้ว ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะนี้มีต้นทุนอยู่ที่หมื่นกว่าบาทเท่านั้น
ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะมีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ 1. ส่วนที่เป็นเครื่องมือโพโดสโคป ที่สามารถดูภาพฝ่าเท้าจากจอแสดงผล และสามารถนำภาพฝ่าเท้าที่ได้ไปประเมินผลต่อได้ และ 2. ส่วนที่เป็นโปรแกรมประยุกต์ ที่สามารถประเมินอาการผิดปกติของเท้าได้ โดยการวัดอัตราส่วนของฝ่าเท้า เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของรูปเท้า ประเมินการไหลเวียนของโลหิตจากภาพทั้งก่อนและหลังการใส่อุปกรณ์เสริมอุ้งฝ่าเท้า โดยจะแสดงผลเป็นข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งแพทย์สามารถนำมาประกอบการวินิจฉัยโรคและการติดตามผลในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลุยต่อยอด 4 แผนการในอนาคต มุ่งสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง
แน่นอนว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะนี้ ตั้งใจพัฒนาเพื่อจำแนกลักษณะเท้าของผู้ป่วยเบาหวานว่าเป็นลักษณะไหน เพื่อให้แพทย์นำข้อมูลไปใช้ในการรักษาและทำอุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าตามลักษณะของผู้ป่วย แต่ผลพลอยได้จากเครื่องมือนี้คือ แพทย์สามารถนำระบบไปวิเคราะห์ฝ่าเท้าคนไข้กลุ่มอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การลงน้ำหนักของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดขา ซึ่งเป็นปกติของการผ่าตัดขา ที่อาจทำให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีการลงน้ำหนักซ้ายหรือขวาผิดปกติไปจากเดิม แพทย์ก็ต้องมาทำการตรวจวัดเพื่อให้คำแนะนำและทำการรักษาต่อไป ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในจุดนี้ได้แทนการสังเกตอาการของผู้ป่วยด้วยตาเปล่าและสอบถามแบบเดิมๆ
ขณะนี้ผลงานเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงการแพทย์ในวงกว้าง ซึ่งมีความสนใจและต้องการเข้ามาตลอด เช่น จากโรงพยาบาลแพร่ ที่แสดงความต้องการมาอย่างจริงจังว่าต้องการระบบนี้ไปตอบสนองการรักษาผู้ป่วย ซึ่งเราเห็นว่ามันมีประโยชน์มากจึงไปทำให้ และจนกระทั่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลและคลินิกที่นำระบบนี้ไปใช้แล้วกว่า 20 แห่ง
ปัจจุบันการพัฒนาระบบเพื่อใช้ในทางการแพทย์ถือว่าประสบความสำเร็จไปแล้ว แต่ในระหว่างนี้ก็มีความท้าทายใหม่เข้ามา นั่นคือ การพัฒนาระบบเข้าสู่อุตสาหกรรมรองเท้า เลยกลายเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้ต้องพัฒนาระบบต่อไปข้างหน้า โดยขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนาระบบร่วมกัน ทำให้แผนในอนาคตต่อจากนี้แบ่งออกเป็น 4 ด้านคือ แผนด้านการแพทย์ แผนด้านอุตสาหกรรมรองเท้า และด้านที่มีแนวโน้มจะต่อยอดได้คือ แผนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมไปถึงแผนการสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง