มรดกดิจิทัล : ตายแล้ว (เฟซบุ๊ก ไอจี อีเมล ฯลฯ) ไปไหน?

เคยมีปราชญ์ชาวตะวันตกท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สองสิ่งที่เราหนีไม่พ้นคือ ภาษี และ ความตาย” อย่างแรกเราจะไม่พูดถึง เพราะไม่ตรงกับชื่อหัวข้อ (ฮาฮา) แต่เราจะเน้นประเด็นที่สอง ซึ่งแน่นอนว่าความตายเป็นสิ่งลึกลับ ไม่มีใครรู้ว่าตายแล้วไปไหน? ตายแล้วจะมีอากงกับอาม่ามายืนยิ้มต้อนรับหรือที่เคยเห็นในหนังหรือเปล่า? หรือลูกหลานจะตบตีแย่งชิงทรัพย์สมบัติเหมือนที่เคยเห็นในข่าวหรือไม่? และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการแย่งมรดกกันจนบ้านแตก หลายคนจึงเลือกที่จะทำ “พินัยกรรม” เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงว่าทรัพย์สินก้อนนั้นชิ้นนี้จะตกเป็นของลูกหลานคนนั้นคนนี้เมื่อเราลาโลกไปพบยมบาลแล้ว

เมื่อก่อนสินทรัพย์ที่เรามีอยู่มักเป็นสิ่งที่ “จับต้องได้” ไม่ว่าจะเป็นเงิน ที่ดิน สิ่งของ แต่ในยุคปัจจุบันเราต่างสร้างหรือมี “สินทรัพย์ดิจิทัล” กันคนละไม่ใช่น้อย ทั้งบัญชีใช้งานโซเชียลมีเดีย บัญชีเงินฝาก/หุ้น/กองทุน/บิตคอยน์ ที่เราเคยสร้างไว้เม้มเงินไม่ให้ใครรู้ อีกทั้งอีเมล บล็อก เว็บไซต์ และบริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix และ Spotify ฯลฯ เคยลองคิดกันเล่น ๆ ไหมครับว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งเหล่านั้นหลังจากที่เรามีอันเป็นไป?

วัตถุประสงค์ของบทความนี้จึงเป็นการ “สร้างความตระหนัก” ของการจัดการมรดกทางดิจิทัล และนำเสนอไกด์ไลน์สั้น ๆ อ่านเข้าใจง่ายเกี่ยวกับวิธีจัดการที่ใครก็ทำได้ โดยแบ่งสินทรัพย์ดังกล่าวเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน 2) บัญชีเงินฝากออนไลน์ และที่เกี่ยวกับการเงิน 3) บัญชีอีเมลและโซเชียลมีเดีย และ 4) สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น อาทิ ภาพถ่ายหรือไฟล์เพลงดิจิทัล

ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน

การรักษาชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านไม่ให้ใครรู้ คือสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล รวมไปถึงการกำหนดและเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างสม่ำเสมอด้วย แต่เมื่ออนาคตคือสิ่งไม่แน่นอน เราจึงควรบันทึกชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และบัญชีออนไลน์ที่เคยใช้งานใส่ในกระดาษ แล้วเก็บรักษาไว้อย่างมิดชิด โดยมีเพียงตัวเรา บุคคลใกล้ชิด หรือทายาทเท่านั้นที่รู้ หรือหากจะให้ชัวร์ก็เขียนมันลงในพินัยกรรมด้วย

แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า การเปลี่ยนรหัสผ่านอยู่เสมอเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากแฮกเกอร์ และเราอาจเปลี่ยนบ่อยจนลืมจดรหัสผ่านใหม่ไว้ก็ได้ ดังนั้น โซลูชันที่ดีกว่าคือ การใช้ซอฟต์แวร์จัดการรหัสผ่าน (Password Manager) อย่าง LastPass ช่วยในการเก็บรักษารหัสผ่านของบริการออนไลน์ต่าง ๆ ทีนี้เราก็เพียงแค่จดรหัสผ่านหลัก (Master Password) ที่ใช้เข้าซอฟต์แวร์จัดการรหัสผ่านเพียงอันเดียว คนที่อยู่ข้างหลังก็สามารถใช้ในการเข้าถึงบริการอื่นได้เมื่อเราจากไป

บัญชีเงินฝากออนไลน์ และสินทรัพย์ทางการเงินดิจิทัล


นวัตกรรมฟินเทคกำลังมาแรง ทำให้การทำธุรกรรมการเงินถูกเคลื่อนไปอยู่ในโลกดิจิทัล ดังนั้น การบริหารบัญชีเหล่านี้จึงไม่แตกต่างไปจากการบริหารบัญชีบริการออนไลน์อื่นมากนัก นั่นคือ ต้องมีการจดบันทึกชื่อผู้ใช้กับรหัสผ่าน พร้อมกับระบุสถานที่เก็บไว้ในพินัยกรรมให้ลูกหลานตามมาบริหารจัดการต่อได้ โดยอาจครอบคลุมถึงบัญชีเงินฝาก บัญชีกองทุนรวม หุ้น บัตรเครดิต และ Wallet เก็บสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมจัดทำรายชื่อบริการออนไลน์ที่หักค่าธรรมเนียมทุกเดือนอัตโนมัติ (Recurring Payment) เช่น บริการสตรีมมิ่งทั้งหลาย สมาชิกนิตยสาร/หนังสือพิมพ์ออนไลน์ Adobe Creative Cloud และ Microsoft Office 365 เป็นต้น เพื่อให้คนใกล้ชิดตามไป Deactivate ได้สะดวก

อีเมลและโซเชียลมีเดีย


ในทางปฏิบัติวิธีที่ดีที่สุดของการบริหารบัญชีออนไลน์คือ จดบันทึก (และจำให้ได้ว่าเก็บอยู่ที่ไหนด้วยนะครับ) แต่ผู้ให้บริการอีเมลบางรายก็ใจดีมีเครื่องมือที่ช่วยให้คนที่อยู่ข้างหลังสามารถบริหารบัญชีเมื่อเราไม่อยู่ได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง Gmail ที่มีบริการ Inactive Account Manager ซึ่งเป็นฟีเจอร์แจ้งเตือนอัตโนมัติแก่บุคคลที่เราระบุ เมื่อไม่ได้ล็อกอินเข้าใช้งานเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด โดยตัวเราสามารถกำหนดได้ว่าจะให้แชร์ข้อมูลที่ผูกกับบัญชีแก่บุคคลดังกล่าวด้วยหรือไม่ สำหรับผู้ให้บริการรายอื่นนั้น ก็อาจมีนโยบายที่แตกต่างออกไป ขอให้ลองศึกษาดูนะครับ

ด้านบัญชีโซเชียลมีเดียก็มีวิธีบริหารจัดการที่คล้ายคลึงกัน โดยบริการยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมต่างมีฟีเจอร์ให้ผู้ใช้เก็บบัญชีไว้เป็น “อนุสรณ์” (Memorialized) ได้ด้วยการติดต่อผู้ให้บริการโดยตรง ซึ่งอาจต้องมีการส่งเอกสารยืนยันการเสียชีวิตที่ส่วนราชการออกให้ และหลักฐานที่แสดงว่าตนเองเป็นบุคคลใกล้ชิดผู้ตายด้วย โดยเฟซบุ๊กอนุญาตให้ผู้ใช้กำหนด Legacy Contact ที่สามารถเข้ามาจัดการบัญชีเราเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนอินสตาแกรมนั้นยังไม่อนุญาตให้บุคคลใด ๆ เข้าสู่ระบบบัญชีผู้ใช้ที่เก็บเป็นอนุสรณ์

สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น

เช่น นิยายที่เขียนค้างไว้หรือโน้ตเพลงที่ยังแต่งไม่เสร็จ เก็บอยู่ในฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์หรืออัปโหลดอยู่บนคลาวด์ ก็อย่าลืมระบุไว้ในพินัยกรรมด้วยว่าจะให้ทายาทดำเนินการต่ออย่างไร

เช่นเดียวกันกับทรัพย์สินทางปัญญาทั่วไปอย่างภาพถ่ายและไฟล์ดิจิทัลต่าง ๆ ที่ควรจะต้องมีการบันทึกระบุไว้ในพินัยกรรมด้วย ว่าถูกเก็บไว้ที่ไหน โฟลเดอร์ใด หรืออัปโหลดขึ้นไปอยู่บนคลาวด์ของเมฆก้อนใด และสำหรับเว็บไซต์ บล็อก และบันทึกข้อความที่เป็นลักษณะงานเขียนต่าง ๆ ที่เราเขียนเผยแพร่บนโลกออนไลน์นั้น ก็ควรให้มีการบันทึกเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ที่เดียวกันให้ง่ายต่อการค้นหา โดยอาจเซฟเป็น PDF เพื่อป้องกันการแก้ไข หรือหากมีเวลาก็พิมพ์เก็บไว้เป็นกระดาษได้ก็ยิ่งดี

สรุป

แม้ว่าไม่มีใครอยากตาย แต่โชคร้ายหน่อยที่เราหนีความตายไม่พ้น และวิธีหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ลูกหลานต้องลำบากลำบนในการบริหารสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อเราไม่อยู่นั่นก็คือ “จดบันทึก” บัญชีผู้ใช้ รหัสผ่าน เว็บไซต์ และบริการออนไลน์ต่าง ๆ ที่เคยใช้ พร้อมกับระบุความประสงค์ว่าจะให้ทำอย่างไรกับมันต่อ โดยให้ระบุอย่างชัดเจนในพิธีกรรม เพียงเท่านี้เราก็สามารถนอนตาหลับได้แล้วครับ R.I.P.

You may be interested in

Latest post from Facebook


Warning: Invalid argument supplied for foreach() in /var/www/vhosts/digitalagemag.com/httpdocs/wp-content/themes/geeky-child/shortcodes/new-listing.php on line 19

Related Posts

SuperBoss Live-Игры – Погружение в Эмоции и Реальные Восторги Онлайн

Современные развлечения стремительно меняются, предлагая участникам уникальные возможности для...