Start it Up Conference 2015 จัดโดย Techsauce ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายร่วมกัน ด้วยคำแนะนำจาก Speaker ชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้ง Startup ที่ประสบความสำเร็จแล้ว รวมไปถึงนักลงทุนจากทั่วเอเชีย ด้วยเป้าหมายที่อยากเห็นวงการ Startup ไทยเติบโต
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการ Pitch ไม่ใช่การพูดว่าคุณจะทำอะไร แต่เป็นการพูดว่าคุณทำอะไรไปแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไปแล้วว่าสามารถทำได้ หลังจากนั้นจึงพูดต่อว่าขณะนี้คุณทำอะไรอยู่
Startup ได้รับการระดมทุนมากขึ้น
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Techsauce Media กล่าวว่า Techsauce แพลตฟอร์มสื่อด้าน Tech Startup ของไทย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง Thumbsup และ Co Working Space HUBBA ได้ร่วมทำหน้าที่เป็นผู้สร้างและสนับสนุน Ecosystem ไทยให้เติบโต โดยสำหรับงาน Start it Up Conference 2015 ที่จัดขึ้น ได้มีแขกรับเชิญชั้นนำทั้งไทยและต่างชาติมาร่วมแชร์ข้อมูล พร้อมทั้งแบ่งปันความรู้เชิงลึกให้กับผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 800 ราย ทั้งนี้เชื่อว่า การสร้างสังคม Startup นั้นต้องเกิดจากการเชื่อมโยง และการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ด้วยการสนับสนุนผ่านทางเครือข่าย สื่อ พาร์ตเนอร์ และผู้สนับสนุนหลักใน Tech Ecosystem ของไทย เพื่อทำให้วงการ Startup ไทยเป็นที่รู้จัก และเติบโตสู่ระดับโลก
“จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวน Startup ที่ได้รับการระดมทุน หรือได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจำนวนหลายเท่าตัว และยังพบว่ามีการระดมทุนเม็ดเงินในฝั่ง Startup และ VC (Venture Capital) เพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Angel หรือ VC ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 5-10 เท่า โดยพบว่า กลุ่มธุรกิจที่ได้รับความสนใจและมีการระดมทุนได้มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่ม E-Commerce, Gaming และ E-Logistics ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมามี Startup ที่เลิกล้มธุรกิจไปจำนวน 3-4 ราย” อรนุช กล่าว
ธุรกิจพร้อมที่จะ Scale แล้ว ?
ด้าน Singtel Innov8 บริษัทซึ่งเป็นพันธมิตรกับ InVent ด้วยการทำงานที่ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปัน Flow การทำงาน หรือการลงทุนร่วมกันในสิ่งที่มองว่ามีศักยภาพเติบโต ได้ให้คำแนะนำสำหรับ Startup ไทยที่ต้องการจะ Scale ในตลาด SEA
โดย โมนิก้า ไซ (Monica Tsai) Senior Director Singtel Innov8 Ventures กล่าวว่า ในการสนับสนุน Startup ที่มาจาก InVent หรือ AIS the Startup เมื่อเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์ ทาง Singtel Innov8 จะให้การสนับสนุนเช่นเดียวกับ Startup ในสิงคโปร์ โดยเรียกว่า Innovate Spark Program อีกทั้ง หาก Startup ไทยต้องการจะไปประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือออสเตรเลีย จะช่วยแนะนำกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง เช่น นักลงทุน รวมไปถึงการให้ข้อมูลเชิงลึกของตลาด เพื่อช่วยให้ Startup สามารถเปรียบเทียบกับ Startup รายอื่นๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกันได้ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าจะทำให้ Startup มีแนวทางการตัดสินใจที่ดีกว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้าสู่ตลาด จากการเรียนรู้และข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับอีกด้วย
ส่วนการ Scale นั้น โมนิก้า มองว่า ก่อน Scale เหล่า Startup จะต้องคิดก่อนว่า ถึงเวลาที่ควรจะ Scale แล้วหรือยัง เนื่องจากมีหลายจุดที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัว วิธีการเข้าถึงที่ไม่ยุ่งยาก รวมไปถึงการปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องรับมือได้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาดอีกด้วย โดยทาง Singtel Innov8 สามารถช่วยดูแลเรื่องของการสร้างแพลตฟอร์ม อาทิ การแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาจีน หรือการเปลี่ยนวิธีการใช้งานของลูกค้า รวมไปถึงการมีทีมงานที่เหมาะสม หรือเป็นผู้ถือหุ้น เพื่อช่วยให้ Startup สามารถ Scale ได้อย่างรวดเร็ว
![]() |
ฉบับที่ 204 เดือนธันวาคมปรับร้านค้ายุคดิจิทัล รับเทรนด์ปี 59 |
พูดถึงสิ่งที่ทำไปแล้ว เคล็ดลับ Pitch Perfect
ขณะที่ ยอด ชินสุภัคกุล CEO&Co-founder Wongnai ได้แนะนำเคล็ดลับในการ Pitch ให้กับเหล่า Startup ได้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับเคล็ดลับในการ Pitch คือ เรื่องสภาวะอารมณ์ที่จะต้อง Pitch ด้วยความรู้สึกตื่นเต้น เสมือนเป็นการ Pitch ครั้งแรก แม้ว่าจะฝึกซ้อมมาเยอะก็ตาม อีกทั้งจะต้องสื่อถึงให้ผู้ฟังเห็นถึงความสำคัญที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การบอกเล่าข้อมูลธุรกิจ
“เดฟ แมคเคลอร์ แห่ง 500 Startups ได้บอกไว้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการ Pitch ไม่ใช่การพูดว่าคุณจะทำอะไร แต่เป็นการพูดว่าคุณทำอะไรไปแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไปแล้วว่าสามารถทำได้ หลังจากนั้นจึงพูดต่อว่าขณะนี้คุณทำอะไรอยู่ ส่วนเรื่องที่ต่อไปจะทำอะไร ขอให้พูดน้อยที่สุด เพราะไม่มีใครรู้ว่าคุณจะทำจริงหรือไม่” ยอด กล่าว
ส่วนการเตรียม Presentation ที่ใช้สำหรับการ Pitch อาจใช้ Presentation ของบริษัท ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ใช้ในงานอื่นๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือ การอัพเดตข้อมูลของ Presentation ให้ใหม่อยู่เสมอ และปรับรูปแบบการ Present ให้เข้ากับกลุ่มคนที่ต้องการจะพูดให้ฟัง นอกจากนี้ยังควรซ้อมพูดพร้อมทั้งจับเวลาภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดอีกด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่ Startup ควรระวังเป็นพิเศษคือ การแบ่งเวลาที่เหมาะสม โดยไม่ควรใช้เวลาในการอธิบายถึงประเด็นปัญหามากจนเกินไป เนื่องจากการ Pitch มีจุดประสงค์ต้องการให้คนมาร่วมลงทุน ดังนั้น จึงควรเน้นตัวบริษัทหรือตัวธุรกิจมากกว่า ซึ่งหากธุรกิจไปได้ดีประกอบกับมีการ Pitch ที่น่าสนใจ เชื่อว่า Startup จะทำให้มีโอกาสชนะในการ Pitch สูงกว่าคนอื่น
“หลายคนโฟกัสไปที่การอธิบายปัญหา ซึ่งผมมองว่าควรจะโฟกัสในสิ่งที่ทำไปแล้ว และแสดงถึงความพยายามในการแก้ปัญหาตรงนั้นจะดีกว่า เช่น ดำเนินธุรกิจไปแล้วแค่ไหน มีลูกค้ากี่ราย หรือพูดถึงการเติบโตของธุรกิจ เป็นต้น โดยเชื่อว่าการโฟกัสในข้อพิสูจน์ย่อมดีกว่าการอธิบายทฤษฏีปัญหาที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ และหากนักลงทุนเป็นชาวต่างชาติและเราจะทำธุรกิจในเมืองไทย ก็ควรพูดให้มองเห็นภาพของประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย เพราะนักลงทุนอาจไม่เคยเดินทางมาเมืองไทยมาก่อน” ยอด กล่าวทิ้งท้าย
ทลายกำแพงเพื่อทำงานอย่าง Startup
ด้าน กุลวัฒน์ วงศาโรจน์ MD & Agile Coach at Lean In Consulting ได้พูดถึงการที่ Enterprise จะสามารถทำงานอย่าง Startup ได้อย่างไร โดยกล่าวว่า ในช่วงที่บริษัทกำลังเติบโตจะเกิดกำแพงเรื่องการสื่อสารขึ้น เนื่องจากการมีพนักงานเพิ่มมากขึ้นอาจทำให้การสื่อสารระหว่างคนในองค์กรเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน ทั้งนี้สิ่งที่บริษัทเล็กๆ สามารถทำได้ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจคือ การพิสูจน์ตัวเองว่ามีไอเดียธุรกิจที่ดีพอ แต่เมื่อต้องเข้าสู่ช่วงการขยายบริษัท การมีทีมงานมากขึ้น อาจทำให้ต้องพบกับปัญหาทำงานติดขัด ธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ทั้งนี้กุญแจที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จคือ การกล้าทำและกล้าตัดสินใจ
“คนที่เคยทำ Scrum อาจจะเคยได้ยินคำว่า Retrospective ซึ่งคือการพูดคุยถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่มีการวางแผนไปแล้วในตอนต้น เพื่อสรุปถึงข้อดี-ข้อเสีย และสิ่งที่ต้องปรับปรุงในการทำงาน ซึ่งเป็นขั้นตอนเบื้องต้นในระดับทีมแต่ละทีม แต่หลายครั้งจะพบปัญหาที่ทีมไม่สามารถควบคุมหรือจัดการได้ ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจของระดับหัวหน้าเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา เนื่องจากทีมอาจมีอำนาจไม่เพียงพอ”
ทั้งนี้ ในการนำ Squad หรือ Scrum ไปใช้ในองค์กรนั้น กุลวัฒน์ แนะนำว่า สำหรับการนำ Squad หรือ Scrum ไปใช้นั้นคำแนะนำคือ ทุกกระบวนการมี Overhead ดังนั้นการนำไปใช้จะต้องเข้าใจก่อนว่าเพื่ออะไร เมื่อบริษัทใหญ่ขึ้นเริ่มมีทีมงานมากขึ้น การนำเข้ามาใช้อาจเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ตอบสนองต่อตลาด และเมื่อบริษัทใหญ่ขึ้นอีก มีหลายทีมงานที่จะต้องมีการประสานงานกัน อาจเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็น Time to market, Innovation, Flexibility และ Engagement ทั้งนี้จะพบว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ทำได้จริง เพียงแต่ไม่ง่ายและต้องใช้ระยะเวลา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญคือ การเข้าใจว่ากำแพงอุปสรรคในธุรกิจนั้นคืออะไร แล้วจะทลายกำแพงนั้นไปได้อย่างไร กุลวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย