หลายปีที่ผ่านมา โลกของการทำงานได้รู้จัก “ซอฟต์แวร์ประชุม” และ “ซอฟต์แวร์ทำงานเป็นทีม” มากมายหลายตัว เช่น Zoom, Microsoft Teams, Google Hangout, ฯลฯ
… แต่ในโลกของเกมนั้น คอเกมทั่วโลกก็มี “ที่ประชุมออนไลน์” เช่นกัน ซึ่งอันดับหนึ่งที่แพร่หลายที่สุดก็คือ “Discord” ( ดิสคอร์ด )
ถ้าย้อนอดีตไปเกินสิบกว่าปีก่อน การนั่งเล่นเกมด้วยกัน ในที่เดียวกัน 2 – 3 คนขึ้นไป มักไม่พ้นมีการพูดคุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าไปด้วย ทั้ง แนะนำ สั่งการ แซว เกทับบลัฟแหลก พร้อมเสียงหัวเราะหรือโวยวาย แล้วแต่กรณีไป
จนยุคต่อมาเมื่ออินเตอร์เน็ตแรงขึ้น การเล่นเกมด้วยกันหลายๆคนระยะไกล โดยต่างคนต่างเล่นที่บ้านก็แพร่หลาย แต่สิ่งที่หายไปคือบรรยากาศการพูดคุยเสียงสดแบบเดิมๆ ซึ่งแม้หลายๆเกมจะเติมระบบพิมพ์แชทให้ในตัว แต่ก็ทดแทนไม่ได้
นั่นทำให้ในปี 2015 มี 2 หนุ่มที่เล็งเห็นโอกาสจากความต้องการแบบนี้ จึงสร้างซอฟต์แวร์ที่จะช่วยเป็นสื่อกลางการพูดคุยสดระหว่างการเล่นเกม ที่ไม่ว่าจะอยู่ไกลกันแค่ไหน แต่ก็คุยเสียงกันได้ฉับไว แถมยังออกอากาศไปให้คนอื่นๆนอกวงร่วมฟัง แถมยังดูจอเกมไปพร้อมกันได้ด้วย
… นั่นคือ 2 หนุ่ม Jason Citron และ Stanislav Vishnevskiy ที่ร่วมกันก่อตั้ง Discord ในเดือนพฤษภาคมปี 2015
ทำเกมไม่รุ่ง – ก็เลือกแค่ฟีเจอร์เดียวในนั้น มาทำซอฟต์แวร์ขาย
ก่อนจะมาก่อตั้ง Discord นี้ 2 หนุ่มเคยช่วยกันก่อตั้งบริษัทเกมมาก่อน โดยทำเกมคล้ายๆ Tetris ขึ้นขายบน App Store ของ iOS แต่ไม่ฮิตและไม่ค่อยทำรายได้
ทั้งคู่เลยเลือกแค่ 1 เครื่องมือย่อยๆในเกมนั้น มาขยายผลเป็นแอพใหม่ นั่นคือเครื่องมือสื่อสารออนไลน์กันระหว่างเล่นเกม
แต่นั่นยังไม่ใช่กำเนิกของ Discord เพราะครั้งนั้นทั้งสองคนมุ่งขายให้บริษัทเกมอื่นๆซื้อทั้งระบบไปติดตั้งในเกมตัวเอง ไม่ได้เปิดให้บริการบุคคลทั่วไปแต่อย่างใด
ต่อมาในปี 2011ก็มีบริษัทสื่อจากญี่ปุ่น ชื่อ บ. GREE มาซื้อกิจการแรกนี้ไปในราคา 104 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ Jason Citron และ Stanislav Vishnevskiy เริ่มต้นเส้นทางสตาร์ทอัพอย่างสวยงาม
… แค่ 1 ปีต่อมาคือ 2012 ทั้งคู่ก็เปิดบริษัทใหม่ในชื่อ Hammer & Chisel สร้างเกมบน iPad แต่ก็ไม่ฮิตอีกเช่นเคย
และทั้งคู่ก็ลองเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วยเทคนิคเดิมอีกครั้ง คือเลือกแค่ 1 ฟีเจอร์ในเกมมาขยายผลเป็นบริการใหม่ และก็เลือกฟีเจอร์การสื่อสารในเกมเช่นเดิม
คราวนี้ทั้งคู่ไม่ขายระบบให้องค์กรใหญ่แบบครั้งก่อน แต่เลือกเปิดให้บุคคลทั่วไปใช้งาน โดยสร้างมาเป็นบริการพูดคุยด้วยเสียงและข้อความ แล้วก็เลิกทำเกม(อีกครั้ง)ไปเลย
… และนั่นก็คือต้นกำเนิดของ Discord ในปี 2015 นั่นเอง ซึ่งบริการก็ฮิตติดตลาดทันที และเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วสไตล์สตาร์ทอัพ โดย 2 ปีแรก Discord มีผู้ใช้กว่า 45 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคอเกม อายุระหว่าง 18-34 ปี
โมเดลธุรกิจแบบ Freemium
ส่วนโมเดลธุรกิจของ Discord นั้น คือให้ใช้ฟรีสำหรับการใช้งานแบบพื้นฐาน ไม่มีโฆษณา และไม่มีการขายข้อมูลลูกค้าด้วย เพื่อกวาดคนมาใช้ให้มากที่สุด
แล้วจากนั้นถ้าใครจะใช้ฟีเจอร์อื่นๆเพิ่ม เช่นสร้าง emoji เองส่วนตัวที่มใช้ได้กับทุกกรุ๊ป หรือฟีเจอร์อื่นๆ ก็ต้องสมัครใช้บริการพิเศษเดือนละ 4.99 ดอลลาร์
ส่วนสถิติการใช้งานคร่าวๆในสองปีแรกนั้น มีการส่งข้อความถึงกันมากกว่า 200 ล้านข้อความต่อวัน โดยเฉลี่ยมีผู้ใช้งานในแต่ละวันกว่า 9 ล้านคน และมีผู้ใช้งานใหม่เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านคนต่อสัปดาห์
และมาถึงในปัจจุบัน Discord มีผู้ใช้เป็นประจำสม่ำเสมอมากถึง 140 ล้านรายทั่วโลกแล้ว และมีมูลค่าบริษัทที่ประเมินกันคร่าวๆราว 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 2.9 หมื่นล้านบาท
…
ส่วนวิธีใช้ Discord นั้น ใครสนใจก็เข้าไปอ่าน ( ภาษาไทย ) กันได้ที่ store.epicgames.com/th/news/what-is-discord-and-what-is-it-used-for และภาษาอังกฤษโดยละเอียดที่ support.discord.com/hc/en-us กันได้เลย
ข้อมูลจาก