Facebook ประเทศไทย ผลักดันธุรกิจบนโซเชียลฯ

Facebook ได้เปิดตัวสำนักงานอย่างเป็นทางการในไทย เนื่องจากระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผู้ใช้งานชาวไทยมีการลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 34 ล้านคน และใช้เวลาอยู่บนแฟลตฟอร์มออนไลน์เฉลี่ย 2 ชั่วโมง 35 นาทีต่อวัน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงสุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แดน เนียรี่ รองประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แห่งเฟซบุ๊ก

แดน เนียรี่ รองประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แห่งเฟซบุ๊ก

จุดเด่นของการทำตลาดผ่านทางเฟซบุ๊กคือ สามารถสร้างการรับรู้ และเล่าเรื่องราวของแบรนด์ได้ด้วยโฆษณาแบบวิดีโอ รูปภาพ และลิงก์ ให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง และสามารถเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มลูกค้ารายใหม่

ภารกิจของเฟซบุ๊กในประเทศไทย
แดน เนียรี่ รองประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แห่งเฟซบุ๊ก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีทีมงานระดับภูมิภาคอยู่ในประเทศสิงคโปร์ที่คอยดูแลและสนับสนุนการใช้งานแพลตฟอร์มทั้งหมดของเฟซบุ๊กให้กับทุกประเทศในเอเชียแปซิฟิก สำหรับการเปิดสำนักงานในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้ได้ติดต่อกับครอบครัวและกลุ่มเพื่อนได้ในเวลาที่ต้องการ พร้อมทั้งมุ่งสนับสนุนด้านการลงทุน ผลักดันธุรกิจของประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น จากประโยชน์ของเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก

“ด้วยพฤติกรรมการใช้งานของคนไทย และความสำเร็จของการทำตลาดจากหลายๆ แบรนด์ จึงคิดว่าการเข้ามาช่วยพัฒนาในส่วนนี้จะส่งผลดีทั้งกับเฟซบุ๊กและประเทศไทย โดยทีมงานในประเทศไทยจะเป็นเพียงทีมเล็กๆ ที่คอยสนับสนุน และติดต่อโดยตรงกับทีมงานที่สิงคโปร์ แต่เป็นทีมที่มีศักยภาพในการพัฒนา ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือในการส่งเสริมการโฆษณาในภาคธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทย ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ในการดูแลอย่าง Facebook, Instagram, Messenger และ WhatsApp”

ทั้งนี้ การให้บริการต่างๆ ยังอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของรัฐบาล และยังเปิดรับคำแนะนำจากผู้ใช้บริการเพื่อการพัฒนาในอนาคตอีกด้วย

e202

ฉบับที่ 202 เดือนตุลาคม

Maker ผู้สร้างสินค้าด้วยเทคโนโลยี

ผลักดันธุรกิจด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์
เฟซบุ๊กในประเทศไทยมีอิทธิพลในด้านการตลาดอย่างมหาศาล และเมื่อรวมกับการลงทุนโฆษณาบนสื่อดิจิทัลที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 62 เปอร์เซ็นต์ โดยมีมูลค่าถึง 10,000 ล้านบาทในปี 2558 ส่วนการลงทุนโฆษณาบนเฟซบุ๊กนั้น ได้ปรับการคาดการณ์อัตราส่วนลงทุนโฆษณาเพิ่มขึ้นจาก 16.5 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 21.4 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุจากธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศไทยหันมาจับช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มากกว่า 1.16 ล้านราย มีแฟนเพจในเฟซบุ๊กเพื่อการติดต่อสื่อสาร และประชาสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้า

พฤติกรรมการใช้งานของคนไทยสังเกตได้ว่า สามารถตอบรับกับสื่อโฆษณาออนไลน์ได้ดี ทางเฟซบุ๊กจึงมีมาตรการสนับสนุนด้วยการพัฒนาโซลูชั่นสื่อโฆษณาที่หลากหลายสำหรับทุกธุรกิจ พร้อมทั้งปรับแต่งให้ตรงตามงบประมาณที่เหมาะสมกับทุนของผู้ประกอบการนั้น เพื่อเป็นการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจกับประชาชนผ่านอุปกรณ์พกพาได้โดยตรง

จากผลสำรวจของเฟซบุ๊ก พบว่า ผู้ใช้งานชาวไทยกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ ใช้งานสังคมออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน และกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีการเชื่อมโยงกับ SMEs อย่างน้อยหนึ่งราย

จัดการโฆษณาได้ด้วยตัวเอง
การเริ่มต้นทำโฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊ก ผู้ใช้งานต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการโฆษณา และระบุงบประมาณที่ต้องการใช้โดยขั้นต่ำ เริ่มที่ 30 บาทต่อวัน ซึ่งทางเฟซบุ๊กจะทำการปรับปรุงให้เหมาะสม และแสดงโฆษณาต่อเนื่อง จนกว่าจะครบตามกำหนดเวลาที่ได้ตั้งไว้ ทั้งนี้ผู้ใช้งานสามารถแก้ไขงบประมาณหรือหยุดโฆษณาได้ตลอดเวลา

โดยจุดเด่นของการทำตลาดผ่านทางเฟซบุ๊กคือ สามารถสร้างการรับรู้ และเล่าเรื่องราวของแบรนด์ได้ด้วยโฆษณาแบบวิดีโอ รูปภาพ และลิงก์ ให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง และสามารถเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มลูกค้ารายใหม่ พร้อมทั้งสามารถวัดประสิทธิภาพการทำงานของโฆษณา ประเมินผลลัพธ์และสร้างโฆษณาใหม่ให้เหมาะกับสินค้าและบริการ

เพื่อเป็นการรุกตลาดในไทยอย่างสมบูรณ์ จึงได้มีการพัฒนาเครื่องมือและคำแนะนำเป็นภาษาไทย เพื่อช่วยนักการตลาดในประเทศไทยทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ได้เข้าถึงข้อมูลการใช้งานเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแหล่งข้อมูลสำหรับธุรกิจที่เฟซบุ๊กพร้อมให้คำแนะนำในภาษาไทยประกอบด้วยเนื้อหาที่จำเป็นในการเรียนรู้สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและนักการตลาดมือใหม่

sp2-2

เพิ่มประสิทธิภาพด้วยอินสตาแกรม
นอกจากช่องทางเฟซบุ๊กแล้ว ยังนำอีกช่องทางการส่งเสริมธุรกิจภายใต้การดูแลอย่างอินสตาแกรม ที่มียอดผู้ใช้งานทั่วโลกถึง 400 ล้านคน เข้ามาร่วมด้วย หลังจากที่หลายองค์กรทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ได้ใช้ช่องทางนี้เป็นการทำธุรกิจ ซึ่งในตอนนี้ได้มีการพัฒนาให้สามารถทำการโฆษณาบนอินสตาแกรมได้แล้ว

ทั้งนี้ อินสตาแกรมได้มีการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในการพัฒนาของแบรนด์โฆษณา 3 เครื่องมือหลักๆ ได้แก่ Account Insights เป็นส่วนที่แสดงข้อมูลสถิติเบื้องต้น เช่น การมองเห็น และการเข้าถึงโฆษณา โปรไฟล์ของแบรนด์ Ad Insight วิเคราะห์สถิติที่แสดงรายละเอียดของแคมเปญที่จ่ายเงินลงโฆษณา ข้อมูลในส่วนนี้จะแสดงข้อมูลโดยละเอียดคล้ายกับบนเพจเฟซบุ๊ก และ Ad Staging ระบบจัดการโฆษณาที่สามารถจัดการดูบันทึกต่างๆ เพื่อใช้ในการลงโฆษณาในแคมเปญต่อๆ ไป

ซึ่งตอนนี้ หลายแบรนด์ชั้นนำในไทยเริ่มใช้การโฆษณาบนแพลตฟอร์มอินสตาแกรมด้วยวิธีใช้ภาพและวิดีโอเพื่อสร้างการรับรู้รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ และโฆษณาแบบลิงก์ที่มี Call-to-Action โดยตรง ที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปติดต่อกับเว็บไซต์ได้ทันที

ความสำเร็จที่ผ่านมาจากช่องทางเฟซบุ๊ก
เนื่องจากมีเครื่องมือโฆษณาที่สามารถปรับแต่งได้เองและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง ทำให้หลายแบรนด์ประสบความสำเร็จในการใช้ช่องทางนี้ ตัวอย่างกรณีของซิตี้แบงค์ ประเทศไทย ที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นกลยุคหลักของสื่อดิจิตอล โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้า ก่อนจะแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ และใช้เครื่องมือ Custom Audience เพื่อวางสื่อโฆษณาให้ตรงกับแต่ละกลุ่ม และยังใช้เครื่องมือที่สามารถขยายไปยังกลุ่มที่ใกล้เคียง

เพื่อเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าอีกด้วย โดยใช้การโฆษณาแบบภาพ และลิงก์ด้านขวาของฟีดข่าว เพื่อพากลุ่มเป้าหมายไปยังเพจหลักสำหรับลูกค้าบัตรเครดิตซิตี้แบงค์ ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 เดือนของแคมเปญนี้ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น 2.3 เท่าตัว โดยใช้ค่าใช้จ่ายต่อหัวลดลงถึง 34 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ยังมีการโฆษณาแบบต้นทุนต่ำทำให้ธุรกิจเล็กๆ ให้ความสนใจอย่างมาก ตัวอย่างเช่น บริษัท JQ Seafood Delivery ธุรกิจร้านอาหารแบบจัดส่งถึงบ้านในกรุงเทพฯ ที่ไม่มีหน้าร้าน แต่ใช้เพจทางเฟซบุ๊กในการติดต่อเพียงทางเดียว ขยายฐานลูกค้าจนประสบความสำเร็จ ด้วยงบโฆษณาประมาณ 1,000 ต่อครั้ง ซึ่งทางบริษัทคาดว่าในปีนี้จะมีรายได้เกินกว่า 300 ล้านบาท

“การเข้ามาเปิดสำนักงานของเฟซบุ๊กมีจุดประสงค์อย่างชัดเจนในการสนับสนุนด้านธุรกิจบนโซเชียลฯ แพลตฟอร์ม ทางเราเองก็หวังว่า การดำเนินงานครั้งนี้จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย ด้วยเครื่องมือของเฟซบุ๊ก” แดน กล่าวทิ้งท้าย

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

รู้จัก “Facebook Watch Party” ชวนเพื่อน Groups ดูคลิป-ดูไลฟ์ ไปพร้อมกัน

Facebook Watch เปิดตัวตั้งแต่ปีก่อน แต่มีเฉพาะในอเมริกา และผู้ใช้แค่ไม่กี่คนในประเทศอื่นๆ แต่ก็มาเปิดกว้างทั่วโลกให้ทุกคนแล้วในเดือนนี้