Piggipo แอพฯ ไทย ก้าวสู่เวที FinTech โลก

แอพพลิเคชั่นด้านการเงินสำหรับผู้ที่มีบัตรเครดิตหลายใบ และต้องการผู้ช่วยในการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด เป็นไอเดียต้นคิดจากสุพิชญา สูรพันธุ์ ที่เริ่มจากปัญหาของตนเองว่า ทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นทาสบัตรเครดิต จนเกิดเป็นแอพฯ ที่กำลังได้รับความสนใจของสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้รับรางวัลชนะเลิศและเป็นตัวแทนในโครงการ dtac Accelerate 2014 เพื่อเข้าร่วมโครงการ Black Box  ที่ซิลิคอน แวลลีย์ สหรัฐอเมริกา

สุพิชญา สูรพันธุ์ CEO บริษัท Neversitup จำกัด, ศิราธร ธรรมประทีป CMO บริษัท Neversitup จำกัด และพงศ์ชัย ตั้งบวรวีรกุล CTO บริษัท  Neversitup จำกัด

สุพิชญา สูรพันธุ์ CEO บริษัท Neversitup จำกัด, ศิราธร ธรรมประทีป CMO บริษัท Neversitup จำกัด และพงศ์ชัย ตั้งบวรวีรกุล CTO บริษัท Neversitup จำกัด

คู่แข่งของ Piggipo คือเว็บไซต์ Mint.com ที่มีให้บริการลักษณะคล้ายกันโดยเชื่อมต่อกับทุกธนาคารในสหรัฐอเมริกา และมีผู้ใช้งานประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งเปิดเฉพาะบนเว็บไซต์เท่านั้น

จากบริหารเงินในชีวิต
สุพิชญา สูรพันธุ์ CEO บริษัท Neversitup จำกัด กล่าวว่า Piggipo เริ่มต้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ระหว่างเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ  ตอนนั้นมีบัตรเครดิตใช้แล้ว และนิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็นประจำ ทำให้ควบคุมการใช้จ่ายยาก เพราะร้านไหนไม่รับบัตรก็จะหยิบเงินสดจ่ายควบคู่กันไป เมื่อสิ้นเดือนทำให้พบว่า ต้องนำเงินเดือนอีกเดือน มาจ่ายหนี้บัตรเครดิตเกือบหมด ถ้าเดือนไหนมีค่าใช้จ่ายไม่คาดคิดเข้ามาจะทำให้กลายเป็นหนี้บัตรเครดิตทันที ดังนั้น จึงอยากแก้ปัญหาลดความเสี่ยงในการเป็นหนี้บัตรเครดิตของตน

ศิราธร ธรรมประทีป CMO บริษัท Neversitup จำกัด กล่าวต่อว่า เมื่อได้ปรึกษากันจึงตกลงว่า ควรสร้างแอพฯ เพราะถ้ายังใช้วิธีแบบเดิมคือ การจดหรือบันทึกลงโปรแกรม Excel คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ หากลืมลงสมุดจดกลับบ้านก็ลืม และสุดท้ายก็ไม่สามารถควบคุมได้จริง แต่ถ้าเป็นแอพฯ สามารถบันทึกได้ทันที เพราะพกติดตัวตลอดเวลา ซึ่งเมื่อไปสำรวจพบว่าใน App Store และ Play Store มีเพียงแอพฯ บริหารการเงินรูปแบบบันทึกรายรับ-จ่ายที่แบบใช้เงินสดเท่านั้น แต่ยังไม่มีเฉพาะรายจ่ายด้วยบัตรเครดิต เพราะรูปแบบการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตมีรายละเอียดซับซ้อนกว่าจ่ายเงินสด เช่น วันตัดรอบบิล วันกำหนดชำระเงิน มี CashBack สะสมคะแนน แลกแต้ม

จัดการปัญหานักช้อปผ่านบัตร
สุพิชญา กล่าวต่อว่า จากผลสำรวจพบว่า คนที่มีบัตรเครดิตส่วนใหญ่เจอปัญหาเหล่านี้เช่นกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีบัตรเครดิตเปิดให้บริการทั้งหมด 20 ล้านใบ มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตประมาณ 10 ล้านคน แสดงว่าโดยเฉลี่ย คนจะมีบัตรเครดิตประมาณ 2 ใบ และมีคนเป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวน 4 ล้านคน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการบริหารจัดการบัตรเครดิตที่ยากขึ้น เพราะไม่สามารถควบคุมเงินได้ ยิ่งมีบัตรเยอะยิ่งมีอิสระในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามด้วย  เมื่อได้ทำการศึกษาข้อมูลและสรุปปัญหาที่เจอ จึงเริ่มเขียนแผนในการออกแบบฟีเจอร์ของแอพฯ โดยชวนเพื่อนรุ่นพี่มาเป็นฝ่ายออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่น

พงศ์ชัย ตั้งบวรวีรกุล CTO บริษัท  Neversitup จำกัด กล่าวว่า เมื่อได้รับโจทย์จึงได้ศึกษาและพัฒนาระบบขึ้นมาช่วยแก้ไขปัญหาการใช้เงินเกินความเหมาะสมของผู้มีบัตรเครดิต ตอนนี้มีทีมงานที่ช่วยพัฒนาระบบ 2-3 คน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “น่าใช้และใช้ง่าย” ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับนักพัฒนาและดีไซเนอร์ เพราะรายละเอียดฟังก์ชั่น หรือฟีเจอร์ของบัตรเครดิตแต่ละบัตรมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน  ระบบหลังบ้านจะต้องสามารถคำนวณดอกเบี้ย วันตัดรอบบิล เงื่อนไข หรือความสามารถของแต่ละบัตร เช่น Cash Back  รวมถึงการสรุปยอดบิลประจำเดือน ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องใช้งานได้ง่าย

สุพิชญา กล่าวต่อว่า ตอนนี้ Piggipo พัฒนามาถึงเวอร์ชั่นที่ 3 แล้ว ตลอดเวลาพัฒนารวม 1 ปีครึ่ง มีฟีดแบ็คกลับมาเยอะ ซึ่งได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุงพัฒนาแอพฯ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องการรองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ การเชื่อมต่อกับดีไวซ์ได้มากกว่าหนึ่งดีไวซ์ โดยใช้เพียงหนึ่ง Username และ Password ในทุกดีไวซ์ ด้วยการนำเทคโนโลยีคลาวด์มาช่วยแก้ปัญหาในการจัดเก็บข้อมูล

นอกจากนี้ ผู้ใช้สามารถบันทึกข้อมูลแม้ไม่มีอินเทอร์เน็ตในแบบออฟไลน์ เนื่องจากเดินทางต่างประเทศไม่ได้เปิดใช้โมบายล์อินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ปัญหานี้จึงถูกนำมาพัฒนาระบบให้สามารถบันทึกรายการแบบออฟไลน์ การดูกราฟการใช้จ่ายบนหน้าจอเดสก์ทอปได้ด้วย รวมถึงการปรับ UI ให้รองรับการใช้งานง่ายขึ้น เพราะผู้ใช้บางคนไม่ทราบว่า สามารถสไลด์ดูข้อมูลได้ในบางฟังก์ชั่น อีกทั้งดีไซน์ได้ปรับให้ Interactive กับการใช้งาน และเพิ่มสีสันมากขึ้น โดยมีการเพิ่มธีมรูปแมว ไอคอนรูปหมูและแมวนั้นจะปรับอารมณ์ตามพฤติกรรมการใช้จ่ายบัตรเครดิตด้วย

e203

ฉบับที่ 203 เดือนพฤศจิกายน

FinTech อนาคตโลกการเงิน

โครงการ Accelerate เปลี่ยนชีวิต
สุพิชญา กล่าวว่า หลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการ dtac Accelerate 2014 ทำให้ได้รับการคัดเลือกไปเข้าร่วมโครงการชื่อว่า Black Box ที่ซิลิคอน แวลลีย์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นโครงการนำสตาร์ทอัพนอกประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาเรียนรู้การใช้ชีวิตของเหล่าสตาร์ทอัพในซิลิคอน แวลลีย์ โดย 2-3 วันแรก จะมีการสอนในเรื่องของ Think Big เพราะสตาร์ทอัพที่ซิลิคอน แวลลีย์ จะไม่คิดโปรดักส์ให้เฉพาะคนในสหรัฐอเมริกาใช้เท่านั้น โปรดักส์ที่สร้างขึ้นจะต้องตอบโจทย์คนทั่วโลก และกลายเป็นอันดับหนึ่งในโลกให้ได้ นี่คือ สิ่งที่ถูกปลูกฝังในโครงการนี้

หากเปรียบกับคนไทย ที่ตอนนี้ยังคิดแค่ว่าจะทำโปรดักส์อย่างไรให้ตอบโจทย์คนไทย และได้รับความนิยมก่อนอันดับแรก และค่อยขยายบริการออกไปตลาดประเทศอื่นๆ แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ต้องเปลี่ยนความคิด ในการมองภาพการพัฒนาโปรดักส์ให้สามารถตอบโจทย์คนทั่วโลกได้มากขึ้น นี่คือ โจทย์ที่ต้องกลับมาทำการบ้านกับ Piggipo ต่อไป

“วันนำเสนอผลงานให้กับนายทุนฟัง มีข้อเสนอแนะกลับมาว่า โปรดักส์ที่เราทำสามารถมีโอกาสเติบโตได้ในระดับโลก เนื่องจากตอนนี้เขามองว่าคู่แข่งของ Piggipo คือเว็บไซต์ Mint.com ที่มีให้บริการลักษณะคล้ายกันโดยเชื่อมต่อกับทุกธนาคารในสหรัฐอเมริกา และมีผู้ใช้งานประมาณ 20 ล้านคน ซึ่ง Mint.com เปิดให้บริการเป็นเวลานานแล้วและเฉพาะบนเว็บไซต์เท่านั้น แต่ด้วยยุคนี้เป็นยุคโมบายล์เฟิร์ส ทำไมไม่คิดว่า Piggipo สามารถทำได้ดีกว่า เพราะเปิดให้บริการบนโมบายล์”

นอกจากนี้ การเข้าโครงการ Balck Box ทำให้มีพลังในการทำงานเพิ่มมากขึ้น และรู้ว่าความผิดพลาดคือ การเรียนรู้ โดยนายทุนที่นั่นจะให้เครดิตกับสตาร์ทอัพที่เคยล้มเหลว มากกว่าสตาร์ทอัพที่เพิ่มเริ่มทำโปรดักส์ครั้งแรก เพราะนายทุนจะรู้ว่าสตาร์ทอัพคนนี้ต้อง Never give up ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเมืองไทยเวลาทำธุรกิจล้มเหลว คนจะมองว่าทำธุรกิจเจ๊งไม่ประสบความสำเร็จ แต่ที่โน่นจะไม่ใช่ เพราะเขามองความล้มเหลวเป็นการเรียนรู้ ซึ่งทำให้สตาร์ทอัพที่นั่นกล้าที่จะลองทำโปรดักส์ใหม่ๆ และกล้าที่จะล้มเหลวไปพร้อมๆ กัน

cover1-2

การถูกเลือกจากธนาคารที่ใหญ่ระดับอาเซียน ทำให้ทีมงานรู้สึกภาคภูมิใจมาก เพราะถือเป็นโอกาสสำคัญในการก้าวไปสู่การให้บริการระดับอาเซียนได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะ Maybank มีธนาคารสาขากระจายทั่วภูมิภาคอาเซียน

พาร์ตเนอร์กับแบงก์ต่างชาติ
สุพิชญา กล่าวว่า Piggipo ได้รับโอกาสจากธนาคาร Maybank ให้เป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ซึ่ง Maybank ถือเป็นธนาคารอันดับหนึ่งของประเทศมาเลเซีย กำลังมองหาสตาร์ทอัพที่จะทำงานร่วมกันด้าน FinTech โดย Maybank ค่อนข้างให้ความสำคัญมากกับวงการ FinTech ซึ่งได้เข้าไปคัดเลือก 20 ทีมในโครงการ Startup Boot Camp FinTech ที่จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ ไปทำการ Pitching ต่อที่ประเทศมาเลเซีย

โดยก่อนหน้านี้ ได้จัดเป็นประจำที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ด้วยเห็นว่าเทรนด์ด้าน FinTech ในแถบอาเซียนกำลังเติบโต จึงได้ตัดสินใจมาเปิดโครงการในแถบอาเซียน โดยเลือกประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางในการจัดงาน ซึ่ง Piggipo เข้าค่ายกับโครงการนี้เป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน มีทีมเข้าร่วมงานประมาณ 20 ทีม โดยมีผู้บริหารของ Maybank ได้เข้าร่วมงาน และมีการคัดเลือกทีมที่สนใจประมาณ 3-4 ทีม และ Piggipo เป็นหนึ่งในทีมที่ถูกคัดเลือก ซึ่งเป็นทีมคนไทยเพียงทีมเดียว

ศิราธร กล่าวต่อว่า การถูกเลือกจากธนาคารที่ใหญ่ระดับอาเซียน ทำให้ทีมงานรู้สึกภาคภูมิใจมาก เพราะถือเป็นโอกาสสำคัญในการก้าวไปสู่การให้บริการระดับอาเซียนได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะ Maybank มีธนาคารสาขากระจายทั่วภูมิภาคอาเซียน แต่ปัญหาหนึ่งที่จะต้องรีบปรับแก้อันดับแรกคือ การเปลี่ยนชื่อแอพพลิเคชั่น เพราะหากใช้คำว่า Piggipo ทางผู้บริหาร Maybank กลัวว่าจะไม่ได้รับการตอบรับจากลูกค้า เนื่องจากชื่อความหมายเกี่ยวโยงกับหมู รวมถึงโลโก้แอพฯ ด้วย ซึ่งทีมงานได้เพิ่มธีมรูปแมวเข้าไป ทำให้สามารถปรับใช้งานได้ทันที

ตอนนี้ยังติดเรื่องชื่อว่าจะเปลี่ยนเป็นอะไร เพราะถ้าเปลี่ยนครั้งนี้ อาจจะนำเป็นชื่อในการประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลกในอนาคต เช่นเดียวกับ GrabTaxi  ของสตาร์ทอัพมาเลเซีย ที่ใช้เป็นชื่อกลางในการใช้บริการทั่วโลก แต่ในประเทศใช้ชื่อว่า My Taxi

สุพิชญา กล่าวว่า ผู้บริหาร Maybank ชื่นชอบแอพฯ มาก พร้อมบอกเหตุผลในการเลือกว่า เพราะมองว่าเป็นแอพฯ ที่สามารถนำมาต่อยอดทางการบริหารจัดการบัตรเครดิตได้หลายอย่าง เนื่องจากทีมงานมีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยรวมแล้ว ดังนั้น จึงมั่นใจว่าจะสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้บัตรเครดิตได้อย่างครบครันแน่นอน ทาง Maybank ได้นำแอพฯ Piggipo ไปให้พนักงานและกลุ่มลูกค้าส่วนหนึ่งทดลองใช้งานในเวอร์ชั่น Beta ด้วย ซึ่งได้รับฟีดแบ็คกลับมาค่อนข้างเยอะ

การเป็นพาร์ตเนอร์กับ Maybank ถือเป็นจุดแรกในการขยายตลาดออกนอกประเทศ โดยเริ่มจากประเทศมาเลเซีย และถ้าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อนาคตจะขยายไปสาขาในต่างประเทศด้วย เช่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ขณะนี้ประเทศมาเลเซีย มีประชากรประมาณ 25 ล้านคน แต่ยอดการใช้บัตรเครดิตเท่ากับประเทศไทย จึงมองว่า เป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มในตลาดต่างประเทศ

เส้นทางสู่แอพฯ การเงินระดับโลก
ศิราธร กล่าวต่อว่า จากโครงการ Startup Boot Camp Fintech ทีม Piggipo ได้เข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย แต่ด้วยเงื่อนไขที่ต้องไปเข้าค่ายร่วมกัน 3 เดือน จึงสละสิทธิ์เนื่องจากต้องการใช้เวลาในการโฟกัสตลาดในเมืองไทยก่อน ทำให้เห็นว่า ตอนนี้กระแส FinTech ในเอเชียมาแรงมาก มีทีมเข้าร่วมงานค่อนข้างเยอะและแต่ละทีมเก่งๆ ทั้งนั้น ถึงแม้ว่าสละไปแล้ว แต่ทีมงานของโครงการได้เชิญเราไปร่วมในวัน Demo Day คัดเลือก 10 ทีมเข้ารอบสุดท้ายด้วย ซึ่งทีมที่เข้ารอบไม่มีแอพฯ เหมือน Piggipo เลย

สุพิชญา กล่าวว่า อีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้มองว่า Piggipo สามารถก้าวสู่แอพฯ ระดับโลกได้จากการเข้าในโครงการ Black Box เนื่องจากตอนนำเสนอผลงาน ทีมเราเข้าตานักลงทุนที่นั่น และถูกชวนให้เข้าร่วมโครงการ Black Box Accelerate  ถือเป็นโครงการใหญ่ที่ซิลิคอน แวลลีย์  และชวนไประดมทุนพร้อมกับเปิดตลาดที่สหรัฐอเมริกาในปีหน้าด้วย ซึ่งตอนนี้ทางทีมกำลังปรึกษาเพื่อตัดสินใจในการตอบรับคำชวนดีหรือไม่

“ตอนนี้เป้าหมายของการทำงานแอพฯ นี้ คือ เราอยากพัฒนาให้สามารถเพิ่มบัตรเครดิตได้อัตโนมัติ และเชื่อมโยงข้อมูลบัตรเครดิตทุกธนาคาร ซึ่งไม่มีแอพฯ ไหนในโลกทำได้ ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นแอพ-พลิเคชั่นทางด้านดิจิทัลการ์ด ที่มีทั้งบัตรเครดิต เดบิต รวมถึง Virtual Card ไว้ในแอพฯ เดียว”

ปลายปีหน้า น่าจะเริ่มมีคู่แข่งที่พัฒนาแอพฯ เหมือน Piggipo เข้ามาบ้าง เพราะเทรนด์ของ FinTech เริ่มเข้ามาในเมืองไทยค่อนข้างเยอะ ธนาคารไทยและมาเลเซีย หรือในภูมิภาคนี้ ต่างมีแผนจะเปิด API เพื่อทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ ทำให้ดึงความสนใจมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

สุพิชญา มองว่า ปัจจัยความสำเร็จของตลาดนี้ คือ 1. Winner Take All คือการเข้ามาในตลาดได้เร็วและการทำให้ผู้ใช้งานกับเราได้ในระยะยาว เนื่องจากแอพฯ ทางการเงิน เมื่อผู้ใช้เชื่อมั่นแล้วจะไม่คิดเปลี่ยนแปลงง่าย เพราะทั้งข้อมูลและความเชื่อใจจะไม่เปลี่ยนบ่อยๆ 2. การที่เป็นแอพฯ วิเคราะห์เรื่องการบริหารทางการเงินบนบัตรเครดิต สามารถแสดงผลให้วางแผนการใช้จ่ายได้ชาญฉลาดมากขึ้น ซึ่งต้องทำให้เสร็จก่อนคู่แข่งเข้ามา เพื่อทำให้ผู้ใช้ผูกพันและเชื่อมั่นในความสามารถของแอพฯ และไม่คิดเปลี่ยนใจไปใช้ของคนอื่น สุดท้าย 3. การเป็นพาร์ตเนอร์กับแบงก์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะทำให้ช่วยเรื่องของความน่าเชื่อถือแอพฯ ความเชื่อมั่น และการป้องกันคู่แข่งไม่สามารถร่วมมือกับพาร์ตเนอร์รายใหญ่กว่านี้ได้แล้ว

“สิ่งที่มองในอนาคตคือ การสร้างคาแร็กเตอร์ให้กับตัวการ์ตูนบนแอพฯ ให้คนใช้รู้สึกว่า เป็นผู้ช่วยดูแลด้านการเงินส่วนตัว ไม่ใช่แค่เป็นธีม หรือเข้ามาดูกราฟวงกลม กราฟแท่งในการแสดงผลวิเคราะห์ แต่จะดีกว่า ถ้าเป็นเลขาส่วนตัวด้านการเงินที่จะช่วยเราได้ นี่คือเหตุผลว่า ทำไมสร้างตัวคาแร็กเตอร์และจะนำคาแร็กเตอร์รวมเข้ากับการวิเคราะห์ผล แทนที่จะเข้ามาดูแค่กราฟ แต่สามารถโต้ตอบกับคาแร็กเตอร์แทน”

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ธนาคารต่างๆในไทยจะให้บริการล็อกอินแก่เว็บซื้อขายออนไลน์ต่างๆได้แล้ว

อีกไม่นาน ธนาคารต่างๆในไทยอาจพากันมาให้บริการ “ยืนยันบุคคล” เช่นเมื่อเราไปซื้อสินค้าออนไลน์ ก็ล็อกอินด้วยแอคเคาท์กับธนาคารหนึ่งๆได้ เพราะล่าสุดแบงค์ชาติได้ขยายขอบเขตให้ธนาคารพาณิชย์ทำหน้าที่ยืนยันตัวตนของลูกค้าได้