ถ้าใครที่คลุกคลีกับอินเทอร์เน็ตมากๆ และใช้มานานพอ น่าจะรู้จัก Qik บริการถ่ายทอดสดในยุคแรกๆ ราวปี 2010 ที่ทำให้เห็นภาพว่า เราสามารถถ่ายทอดสดให้คนทั้งโลกดูได้ผ่านเครือข่ายที่โยงใยไปทั่วโลก แต่ตอนนั้นยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เพราะความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่ได้เร็วแรง จนถูก Skype ซื้อและห่างหายจากตลาดไป กลับมาในปี 2015 มีสองบริการที่เกิดมาใกล้ๆ กัน และทำหน้าที่คล้ายๆ กัน น่าติดตามว่า จะสามารถทำให้เทรนด์การถ่ายทอดสดผ่านสมาร์ทโฟนบนอินเทอร์เน็ตเป็นที่นิยมได้หรือไม่อย่าง Meerkat และ Periscope
Meerkat-Periscope คู่กัดแต่กำเนิด
Meerkat และ Periscope นั้นเริ่มให้บริการใกล้กันมากคือ เดือนมีนาคม 2015 โดย Meerkat นั้นเริ่มให้บริการก่อนในช่วงต้นเดือนโดยเปิดตัวในงาน South by Southwest Interactive Festival ต่อมาสื่อและดาราต่างๆ ก็เริ่มนำ Meerkat ไปใช้เพื่อถ่ายทอดกิจกรรมต่างๆ จนชื่อแอพฯ กลายเป็นที่ติดหู
จากนั้นไม่นาน ทวิตเตอร์ก็เปิดตัว Periscope ที่บริษัททุ่มเงินกว่า 100 ล้านเหรียญ ไปซื้อมาตั้งแต่ต้นปี ในวันที่ 26 มีนาคม 2015 แต่เมื่อมาหลังกระแส Meerkat ที่กำลังบูมได้ที่ มีผู้ใช้งานกว่า 200,000 รายแล้ว จึงใช้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของเครือข่าย ตัด Meerkat ไม่ให้เชื่อมต่อกับ Twitter ได้ ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถรับข้อมูลการถ่ายทอดสดของเพื่อนผ่านทวิตเตอร์ได้ ซึ่ง Meerkat ก็แก้เกมโดยเพิ่มความสามารถในการค้นหาการถ่ายทอดสดที่น่าสนใจลงไปได้ตัวแอพฯ แต่ก็เหมือนเกมเตะตัดขาของทวิตเตอร์จะได้ผล เมื่อผู้ใช้ Periscope เพิ่มขึ้นจนสามารถแซง Meerkat ไปได้ และก็เปิดให้ Meerkat กลับมาใช้เครือข่ายทวิตเตอร์ได้เหมือนเดิม
ปัจจุบันจากข้อมูลของ Topsy ที่วิเคราะห์การแชร์ทวีต พบว่า Periscope มีคนแชร์ลงทวิตเตอร์มากกว่า Meerkat อยู่ 3 เท่าตัว ก็ถือว่าทวิตเตอร์เลือกกลยุทธ์ที่เด็ดขาดมาจัดการได้ดีทีเดียว
![]() |
ฉบับที่ 197 เดือนพฤษภาคมกระเป๋าเงิน Virtual เชื่อมเศรษฐกิจดิจิตอล |
Meerkat-Periscope ทำงานอย่างไร
วิธีการใช้งานทั้ง Meerkat และ Periscope นั้นคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างกันที่หน้าตาของตัวแอพฯ เท่านั้นเองที่ Meerkat จะเน้นสีเหลืองสดใส ออกแบบกราฟิกดูเป็นวัยรุ่น ในขณะที่ Periscope ที่ใช้สีฟ้าเป็นสีหลัก และออกแบบดูเป็นทางการมากกว่า
เมื่อเริ่มต้น ทั้ง 2 แอพฯ จะให้ผู้ใช้สมัครบัญชีโดยผูกกับบัญชีทวิตเตอร์ พร้อมพ่วงกระบวนการค้นหาเพื่อนในทวิตเตอร์ที่ใช้ Meerkat และ Periscope และแนะนำสมาชิกที่น่าติดตามเข้าไปด้วย ซึ่งเมื่อเซ็ตอัพจะเสร็จก็สามารถใช้ทั้ง 2 แอพฯ ถ่ายทอดสดได้เลย
เมื่อกดเริ่มถ่ายทอดสด ทั้งสองแอพฯ จะให้ผู้ใช้ตั้งชื่อหัวข้อในการแพร่ภาพ จากนั้นก็ส่งสัญญาณออกไปหาคนทั่วโลกได้ โดยจะมีการโพสต์ลิงก์สำหรับเข้าชมการถ่ายทอดครั้งนี้ในทวิตเตอร์ที่ผู้ติดตามทวิตเตอร์ก็สามารถกดเข้ามาชมได้ทั้งผ่านสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์
ระหว่างการถ่ายทอดสด ทั้ง 2 แอพฯ จะเปิดโอกาสให้ผู้ชมตอบโต้กับผู้ถ่ายทอดได้ ทั้งการกดไลค์ รีทวีต หรือเขียนข้อความตอบโต้เข้าไปสดๆ ผู้ถ่ายทอดก็จะเห็นข้อความจากหน้าจอโทรศัพท์ตอนนั้นเลย จึงสามารถตอบกลับผ่านการถ่ายทอดสดได้ทันที ซึ่งจากการทดลองใช้ทั้ง 2 แอพฯ จะมีระยะดีเลย์หลังจากถ่ายทอดภาพออกไปแล้ว กว่าจะถึงผู้รับก็ราวๆ 10 วินาทีเห็นจะได้ และหลังจากการถ่ายทอดสดแล้ว Periscope จะมีตัวเลือกให้บันทึกการถ่ายทอดสดครั้งนี้ไว้ดูภายหลังได้ ส่วน Meerkat ต้องดูระหว่างการถ่ายทอดสดอย่างเดียว
สำหรับผู้ใช้ทั้ง 2 บริการในไทย อาจจะมีปัญหามากกว่าฝรั่งหน่อย เพราะว่าเรากับเซิร์ฟเวอร์ค่อนข้างอยู่ห่างไกลกัน ทำให้การโหลด การสตรีมสัญญาณภาพสดๆ อาจจะมีปัญหาโหลดไม่ขึ้น โหลดช้าบ้าง แต่นี้ก็เป็นเพียงช่วงเดือนแรกที่เปิดให้บริการ ซึ่งอนาคตน่าจะมีการปรับปรุงเครือข่ายให้รองรับผู้ใช้ทั่วโลกได้มากขึ้น
ดาราก็ได้ช่องทางใหม่ในการสื่อสารกับกลุ่มแฟนๆ โดยตรง ซึ่งพิเศษกว่าช่องทางอื่นๆ คือ จะถ่ายทอดสดที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องรออยู่หน้าคอมพิวเตอร์เหมือนช่องทางเดิมๆ และสามารถตอบโต้กับ Feedback ของแฟนๆ ได้โดยตรง ส่วนคนทีวีก็ชอบช่องทางใหม่นี้
เสียงตอบรับถึง 2 บริการนี้
แน่นอนว่า บริการถ่ายทอดสดที่ใช้ง่ายมากอย่าง Meerkat และ Periscope นั้นช่วยผู้ใช้สามารถถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ง่ายมาก แทนที่จะต้องใช้ทีมถ่ายทอดสด ต้องใช้ช่างภาพ ต้องใช้ช่างเทคนิคหลายคนเหมือนเมื่อก่อน แต่ตอนนี้แค่ 1 คนกับสมาร์ทโฟนพร้อมอินเทอร์เน็ต 1 เครื่อง ก็สามารถถ่ายทอดอะไรก็ได้ออกไปให้ชาวโลกดูได้แล้ว ซึ่งความตั้งใจเริ่มแรกของผู้สร้างบริการนี้คือ ต้องการสร้างเครื่องมือที่สามารถถ่ายทอดเหตุการณ์จริง อย่างการประท้วง หรือภัยพิบัติออกมาสู่สายตาชาวโลกได้
เสียงตอบรับระลอกแรกมาจากกลุ่มดาราและคนที่ทำงานโทรทัศน์ ที่คุ้นเคยกับการทำงานถ่ายทอดสดอยู่แล้ว ก็ตอบรับเทคโนโลยีนี้อย่างรวดเร็ว ดาราก็ได้ช่องทางใหม่ในการสื่อสารกับกลุ่มแฟนๆ โดยตรง ซึ่งพิเศษกว่าช่องทางอื่นๆ คือ จะถ่ายทอดสดที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องรออยู่หน้าคอมพิวเตอร์เหมือนช่องทางเดิมๆ และสามารถตอบโต้กับ Feedback ของแฟนๆ ได้โดยตรง ส่วนคนทีวีก็ชอบช่องทางใหม่นี้ เพราะสามารถสื่อสารสิ่งที่อยู่นอกจอทีวีออกไปได้ เช่น เบื้องหลังรายการ กระบวนการทำงานต่างๆ
แต่แน่นอนว่า คนที่ไม่ชอบเทคโนโลยีใหม่นี้ก็มี อย่าง NHL ที่แบนการใช้งานทั้ง 2 แอพฯ จากการแข่งขันโดยเด็ดขาด เพราะไปขัดกับผลกระโยชน์ในการถ่ายทอดสดกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง หรือมีการใช้เทคโนโลยีนี้ในการสตรีม ซีรีส์ Game of Thrones ซีซันล่าสุดที่เพิ่งออกอากาศ ก็ทำให้บริษัท และหน่วยงานต่างๆ ตั้งคำถามกับ Meerkat และ Periscope ไม่น้อยว่าจะมีมาตรการในการดูแลการถ่ายทอดสดที่ทันท่วงทีอย่างไร นี่ยังไม่นับรวมการถ่ายทอดสดเรื่องทางเพศ ที่น่าจะมีเกิดขึ้นอยู่แล้วในระบบตอนนี้
คนที่ไม่ชอบเทคโนโลยีใหม่นี้ก็มี อย่าง NHL ที่แบนการใช้งานทั้ง 2 แอพฯ จากการแข่งขันโดยเด็ดขาด เพราะไปขัดกับผลกระโยชน์ในการถ่ายทอดสดกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง
เมื่ออินเทอร์เน็ตมีความเร็วสูงพอ 3G/4G ครอบคลุมพื้นที่ได้เป็นจำนวนมาก อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เข้ากับวิถีชีวิตได้อย่างไร (แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ Meerkat และ Periscope ยังไม่เกิดขึ้นบน Android นะครับ แอพฯ ยังให้ดาวน์โหลดสำหรับ iOS เท่านั้น)